เปิด หนังสือ "วิโรจน์" ร้องสรรพากร สอบตั๋วP/N "นายกฯอิ๊งค์"
เปิดฉบับเต็ม หนังสือ "วิโรจน์" ยื่นกรมสรรพากร ร้องสอบตั๋วP/N นายกฯอิ๊งค์ เลี่ยงภาษี เผย ไม่มีวันครบกำหนดชำระ - ไม่มีอัตราดอกเบี้ย
เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน เดินทางไปกรมสรรพากร ยื่นหนังสือเพื่อให้วินิจฉัยการใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน (ตั๋ว PN) ในการซื้อหุ้น
โดยหนังสือที่นำไปยื่นให้กับอธิบดีกรมสรรพากรนั้น มีเนื้อหา ระบุว่า ขอให้กรมสรรพากรดำเนินการขอความเห็นจากคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ตามมาตรา 13 สัตต (7) แห่งประมวลรัษฎากร
ให้วินิจฉัยธุรกรรมการซื้อหุ้นมูลค่า 4,434.5 ล้านบาท ของนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวและมีการเปิดเผยต่อสาธารณะว่า นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้ทำธุรกรรมซื้อหุ้นจากบุคคลในครอบครัว โดยใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note) ที่ไม่มีวันครบกำหนดชำระ และไม่มีอัตราดอกเบี้ย
ทำให้หุ้นดังกล่าวตกอยู่ในความครอบครองของนายกรัฐมนตรี โดยที่ผ่านมายังไม่มีการชำระเงินใด ๆ และไม่มีการระบุว่าจะมีการชำระเงินจริงกันเมื่อใด
การดำเนินการดังกล่าว ย่อมก่อให้เกิดข้อสงสัยจากสาธารณะอย่างมีนัยสำคัญว่าเป็นนิติกรรมอำพราง เพื่อเปลี่ยนแปลงลักษณะของการ “รับให้” ไปเป็นการ “ซื้อหุ้น” เพียงในทางรูปแบบ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการรับให้ตามมาตรา 42 (26) (27) และ (28) แห่งประมวลรัษฎากร
เป็นการกระทำที่หากประชาชนทั่วไปกระทำตาม อาจทำให้รัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีการรับให้ได้อีกเลย และจะเกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อระบบการจัดเก็บรายได้ของประเทศ
อย่างไรก็ตามจากคำชี้แจงของท่านอธิบดีกรมสรรพากรที่ระบุว่า ธุรกรรมดังกล่าวเป็นถูกต้องตามกฎหมาย โดยยึดถือว่าผู้ขายจะต้องเสียภาษีเมื่อได้รับการชำระเงินจริงในอนาคต
ซึ่งเป็นคำชี้แจงที่หมายถึงการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 40 (4) ช ของบุคคลในครอบครัวของนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ขายที่ได้รับการชำระเงิน โดยไม่ได้ตั้งข้อสงสัยที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงใด ๆ เลยว่า ธุรกรรมดังกล่าวเป็นการซื้อขายที่แท้จริง หรือ เป็นเพียงนิติกรรมอำพราง เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการรับให้ ตามที่สาธารณชนตั้งข้อสังเกต
ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาความน่าเชื่อถือของระบบภาษีของประเทศ และเพื่อป้องกันมิให้เกิดการเลือกปฏิบัติ หรือการใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายในการหลีกเลี่ยงภาษี กระผมจึงขอให้ท่านอธิบดี ดำเนินการตามมาตรา 13 สัตต (7) แห่งประมวลรัษฎากร
โดยเร่งรัดทำหนังสือสอบถามไปยังคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร เพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่า กรณีดังกล่าวเข้าข่ายเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่ พร้อมกับกำหนดแนวทางในการพิจารณาว่า เงื่อนไข และองค์ประกอบแห่งพฤติการณ์ใดบ้าง ที่เข้าข่ายเป็นนิติกรรมอำพราง การกระทำโดยความเท็จ
โดยฉ้อโกง หรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ทั้งนี้เพื่อให้การชำระภาษีการรับให้ ตามมาตรา 42 (26) (27) และ (28) เป็นมาตรฐานเดียวกันสำหรับประชาชนทุกคน
หากกรณีการซื้อหุ้นด้วยวิธีของนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่การทำนิติกรรมอำพราง และไม่ต้องชำระภาษีการรับให้ ประชาชนที่ใช้วิธีการเดียวกันกับนายกรัฐมนตรี จะได้มั่นใจว่าจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากกรมสรรพากร และไม่ต้องชำระภาษีการรับให้เช่นเดียวกัน
จึงเรียนมาเพื่อโปรดดำเนินการโดยเร่งด่วน และขอความกรุณาให้ท่านแจ้งความคืบหน้าให้กระผมรับทราบเป็นระยะ ๆ
หนังสือ นายวิโรจน์ ยื่นกรมสรรพากร
หนังสือ นายวิโรจน์ ยื่นกรมสรรพากร