เปิดสาเหตุ 'อิ๊งค์' ถอยร่างกม.คอมเพล็กซ์ พรรคร่วมขู่งดออกเสียง
"นายกฯอิ๊งค์" ถอยร่าง พ.ร.บ.คอมเพล็กซ์ หลังพรรคร่วมฯ "งดออกเสียง" ขู่คว่ำกลางสภาฯ สะเทือนสเถียรภาพรัฐบาล ซ้ำแรงกดดัน สว.สีน้ำเงิน จี้ทำประชามติ หากฝืนต่อส่อผิดอาญา
ภายหลังที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคกล้าธรรม นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชาติ ร่วมกันแถลงข่าวเลื่อนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.พ.ร.บ.การประกอบสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
รายงานข่าวระบุว่า สาเหตุสำคัญเนื่องจากท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคการเมือง จะลงมติ "งดออกเสียง" หากมีการนำวาระดังกล่าวเข้าสู่การประชุมของสภาในวาระแรก
ขณะที่ท่าทีของ สว.สายสีน้ำเงิน ที่ออกมาแถลงข่าวเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 8เมษายน 2568 เรียกร้องให้ รัฐบาลดำเนินการออกเสียงประชามติต่อร่าง พ.ร.บ.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ตามที่กฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติกำหนดให้ต้องทำคือ การดำเนินการสิ่งที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง และประโยชน์โดยรวมของประเทศ
ทั้งนี้หากไม่ทำอาจเข้าข่ายทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ มาตรา 172 รวมถึง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. ) มาตรา 123/1 หากพบการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือเอื้อประโยชน์แก่บุคคลใดมิชอบ รวมถึงเหตุผลทางจริยธรรม
ท่าทีดังกล่าวของ สว.สายสีน้ำเงิน เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค ทำให้นายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคเพื่อไทยตัดสินใจถอยในท้ายที่สุด
ก่อนแถลงข่าวเลื่อนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.พ.ร.บ.การประกอบสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ของนายกฯแพทองธาร
มีกระแสข่าวว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กำชับพรรคร่วมรัฐบาลให้ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 9 เมษายน 2568
ต่อมา นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ออกมาปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าวและตั้งคำถามถึงหลักฐาน และยืนยันว่าไม่มีใครมาพูดเช่นนี้
ขณะท่าทีของบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลขู่งดออกเสียง ระหว่างการประชุมครม.ประจำสัปดาห์ที่ทำเนียบรัฐบาล ประกอบด้วย
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ หลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับกระแสข่าวการขู่ปรับออกจากคณะรัฐมนตรี โดยกล่าวเพียงว่าจะมีการประชุมพรรคก่อน และยิ้มเจื่อน ๆ ก่อนจะเดินหนี
ส่วนนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่าไม่มีการสั่งให้ลงมติ และข่าวที่ออกมาเป็นข่าวเท็จ โดยจะมีการประชุม สส. พรรคในวันที่ 9 เมษายน เพื่อหารือและกำหนดท่าที
ขณะที่พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นนโยบายของรัฐบาล และ สส. มีอิสระในการพิจารณา ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องศาสนา และสามารถทำความเข้าใจกับฐานเสียงที่เป็นมุสลิมได้
ส่วนนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว และจะรอดูท่าทีของวิปรัฐบาล โดยยืนยันว่าจะยึดมติของพรรคร่วมรัฐบาล