ปมหุ้น พีระพันธ์ ส่อพ้นรัฐมนตรี ลามถึงเสถียรภาพรัฐบาล “แพทองธาร"

27 เมษายน 2568

ปมพีระพันธ์ ถือหุ้นในบริษัทเอกชน ส่อขัดรัฐธรรมนูญ เสี่ยงพ้นตำแหน่ง-กระทบรวมไทยสร้างชาติ ดร.ณัฐวุฒิ ชี้ผิดสำเร็จตั้งแต่สมัครสส.สะเทือนรัฐบาลแพทองธาร

“ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม” นักกฎหมายมหาชน ชี้ชัด ปม “พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ถูกยื่นสอบกรณีถือหุ้นในบริษัทเอกชน เสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ลุกลามโยงถึงความชอบธรรมในการตั้งคณะรัฐมนตรีรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” และอนาคตพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) 

ปมถือหุ้นไม่สิ้นสุด แม้ทำสัญญาบริหารจัดการ

ประเด็นเริ่มจาก นายสนธิญา สวัสดี ยื่นร้อง ป.ป.ช. ตรวจสอบนายพีระพันธ์ฯ ว่าแม้ทำสัญญาโอนสิทธิบริหารหุ้นให้นิติบุคคลจัดการ แต่ยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์หุ้นจริง ยังถือหุ้นอยู่ตามข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และยังมีสถานะเป็นกรรมการบริษัท มีอำนาจลงนามและบริหารกิจการอยู่จริง ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 วรรคสาม ที่ห้ามรัฐมนตรียุ่งเกี่ยวกับบริษัทเอกชน


ดร.ณัฐวุฒิ อธิบายว่า แม้จะโอนสิทธิในการบริหารหุ้น แต่หากไม่โอนกรรมสิทธิ์จริง หรือยังมีสถานะกรรมการ ย่อมขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 ที่ห้ามไม่ให้รัฐมนตรีมีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับการดำเนินธุรกิจเอกชน

การถือหุ้นในธุรกิจสื่อ ส่อขาดคุณสมบัติร้ายแรง
นายพีระพันธ์ฯ ถือหุ้นใน 4 บริษัท ได้แก่
 • บริษัท รพีโสภาค จำกัด
 • บริษัท โสภา คอลเล็คชั่นส์ จำกัด
 • บริษัท วีพี แอโร่เทค จำกัด
 • บริษัท พี แอนด์ เอส แลนด์ แอนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด

ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชน อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) และมาตรา 160(6) ที่ระบุชัดเจนว่า ห้ามรัฐมนตรี หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนโดยเด็ดขาด
ข้อนี้ถือเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่วันยื่นสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ แม้จะลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว ก็ไม่ลบล้างความผิด และ กกต.สามารถดำเนินการสอบสวนเอาผิดย้อนหลังได้

เส้นทางการเมืองโยงถึงรัฐบาลเศรษฐา-แพทองธาร

ข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า พีระพันธ์ฯ ได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงานในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567

 ช่วงดำรงตำแหน่งในรัฐบาลเศรษฐาฯ ยังมีสถานะเป็นกรรมการบริษัททั้ง 4 แห่งอย่างต่อเนื่อง และเพิ่งทยอยลาออกในรัฐบาลแพทองธาร ชี้ให้เห็นว่าขณะรับตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรก ยังขัดคุณสมบัติอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ยังพบความเชื่อมโยงกับที่ปรึกษารัฐมนตรีพลังงาน “พล.ท.เจียรนัย วงศ์สอาด” ซึ่งปรากฏชื่อเป็นกรรมการร่วมในบริษัทบางแห่งที่พีระพันธ์ฯ ถือหุ้นอยู่ ตอกย้ำข้อสงสัยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและการบริหารจัดการที่อาจขัดต่อกฎหมาย

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง กระทบความเสี่ยงทางการเมือง 
 • รัฐธรรมนูญมาตรา 160(6), 98(3), 186, 187
 • พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 126, 127
 • พ.ร.บ.การจัดการหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543


หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องและวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติ อาจทำให้นายพีระพันธ์ฯ ต้องพ้นจากตำแหน่งในทันที และกระทบถึงความชอบธรรมของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะที่เป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ขัดหลักจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ไม่เพียงเท่านั้น พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อาจเผชิญผลกระทบหนัก หากขาดแกนนำหลักในการขับเคลื่อนทางการเมืองในระยะต่อไป.

Thailand Web Stat