ปมหุ้นพีระพันธุ์จุดชนวนการเมือง จับตารวมไทยสร้างชาติส่อแตก
ปมถือหุ้น พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค กำลังถูกตั้งคำถามจากสังคมถึงมาตรฐานทางกฎหมายและจริยธรรมของนักการเมือง รวมไทยสร้างชาติส่อแตกภายใน
การถือหุ้นของนายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำลังเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง
นอกจากกระทบต่อตัวนายพีระพันธ์แล้วยังลุกลามไปยังเสถียรภาพของรัฐบาล"แพทองธาร 1"
อนาคตของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) รวมถึงมาตรฐานทางกฎหมายและจริยธรรมของนักการเมือง
กรณี นายสนธิญา สวัสดี ยื่นร้อง ป.ป.ช. ตรวจสอบนายพีระพันธ์ฯ ว่าแม้ทำสัญญาโอนสิทธิบริหารหุ้น
ให้นิติบุคคลจัดการแต่ยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์หุ้นจริง ยังถือหุ้นอยู่ตามข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
และยังมีสถานะเป็นกรรมการบริษัท มีอำนาจลงนามและบริหารกิจการอยู่จริง
ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 วรรคสาม ที่ห้ามรัฐมนตรียุ่งเกี่ยวกับบริษัทเอกชน
ดังนั้น หาก ป.ป.ช.มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญและมีมติวินิจฉัยในทางที่เป็นผลร้าย
นายพีระพันธ์ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีตั้งแต่แรก
จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความชอบธรรมของรัฐบาล "เศรษฐา 1"ต่อเนื่องถึง"แพทองธาร 1"
ในการตัดสินใจและการบริหารราชการที่ผ่านมา
ยิ่งไปกว่านั้น ประเด็นที่ว่า2นายกรัฐมนตรีทราบถึงข้อสงสัยเรื่องการถือหุ้นหรือไม่
จะนำไปสู่คำถามถึงความใส่ใจในการตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรี
และอาจถูกมองว่าละเลยต่อหลักเกณฑ์ทางกฎหมายและจริยธรรม
การมีรัฐมนตรีที่อาจขาดคุณสมบัติร่วมลงมติในคณะรัฐมนตรี
ยิ่งทำให้การตัดสินใจในประเด็นสำคัญถูกตั้งคำถาม
ถึงความสมบูรณ์โดยชอบด้วยกฎหมายของการบริหารราชการแผ่นดิน
นอกจากนี้ นายพีระพันธ์ถือเป็นแกนนำหลักของ พรรครวมไทยสร้างชาติ
หากต้องพ้นจากตำแหน่ง จะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์
การเจรจาต่อรองทางการเมือง และความเชื่อมั่นของสมาชิกพรรคและประชาชน
ที่หย่อนบัตรลงคะแนนเลือกพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน36ที่นั่ง
ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของพรรคจะถูกตั้งคำถาม
การสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งแทนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งภายใน
และส่งผลต่อความเป็นเอกภาพของพรรค
ยิ่งไปกว่านั้น ความอ่อนแอของ รทสช.
จะส่งผลต่ออำนาจต่อรองและบทบาทในการร่วมรัฐบาล
ท่ามกลางกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีหลังสิ้นศึกซักฟอกนายกฯแพทองธาร
กรณีนี้ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
กับการดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะประเด็นการถือหุ้นในบริษัทเอกชนและธุรกิจสื่อ
สังคมจะตั้งคำถามถึงมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งสาธารณะ
องค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ จะถูกจับตาในเรื่องความรวดเร็ว โปร่งใส
และความเป็นธรรมในการพิจารณาคดี ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม
การตีความกฎหมาย มาตรา 187 วรรคสามของรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.การจัดการหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543
ในประเด็น"การยุ่งเกี่ยวกับบริษัทเอกชน" และการตีความมาตรา 98(3) และมาตรา 160(6)ในประเด็น "การถือหุ้น"
จะเป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าการกระทำของนายพีระพันธ์
เข้าข่ายการฝ่าฝืนหรือไม่ และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญได้
ปมการถือหุ้นของนายพีระพันธ์จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรครวมไทยสร้างชาติ
หากไม่สามารถบริหารจัดการความขัดแย้งได้อย่างระมัดระวัง
อาจส่งผลกระทบต่อเพื่อรักษาเสถียรภาพและความเป็นเอกภาพระยะยาวทั้งภายในพรรคและการร่วมรัฐบาล.