พลังคนรุ่นใหม่: พลังการเปลี่ยนแปลง
‘ทุกสิ่งที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน คือผลพวงจากการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ที่สั่งสมมาจากอดีต อนาคต ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะฝากไม้ต่อไว้กับ คนรุ่นต่อไป จึงกล่าวได้ว่า พลังสร้างสรรค์ของเยาวชน คือศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงปัจจุบันไปสู่อนาคต’
‘ทุกสิ่งที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน คือผลพวงจากการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ที่สั่งสมมาจากอดีต อนาคต ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะฝากไม้ต่อไว้กับ คนรุ่นต่อไป จึงกล่าวได้ว่า พลังสร้างสรรค์ของเยาวชน คือศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงปัจจุบันไปสู่อนาคต’
โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน
คือแนวคิดที่สรุปโดยย่อจาก ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ประธานคณะทำงานกองเลขานุการ จัดงานพลังเยาวชน พลังสังคม ครั้งที่ 2
เป้าหมายของการจัดงานนี้ คือการ “เปิดพื้นที่ทางสังคม” ให้กับเยาวชนและเป็นไปตามแนวคิด ที่ว่า“พลังคนรุ่นใหม่: พลังการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย” ที่เปิดโอกาสเรียนรู้ ปฏิบัติ หรือสร้างสรรค์ตามสิ่งที่ถนัด ให้พลังด้านบวก มีพื้นที่ในการแสดงออก โดยเปิดโอกาส ให้หลากองค์กร ได้เข้ามีส่วนร่วม เป็นผู้ประคับประคอง ให้สร้างสิ่งที่คิดออกมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นระบบ
“ ที่จริงแล้ว เยาวชนที่ทำงานสร้างสรรค์ นั้นมีมาก และมากกว่าที่ไม่สร้างสรรค์ แต่ก็ต้องยอมรับว่าพวกเขา ไม่ค่อยจะมีพื้นที่ในการบอกเล่าเรื่องของตัวเอง ผลก็คือเรื่องราวของเยาวชนที่หลงผิด แม้จะมีจำนวนน้อยก็ถูกสังคมรับรู้มากกว่า โครงการของเราจึงอาสาเข้ามาสานงานนี้อีกแรง”ปิยาภรณ์เล่าก่อนจะบอกอีกว่า “การจัดงานครั้งนี้จะรวบรวมเยาวชนมาจากทุกที่เพื่อ ถ่ายทอดต่อไปยังเด็กคนอื่นๆ ตามแต่ว่าพวกเขาจะสนใจอะไร เราจะทำหน้าที่เชื่อมเยาวชนต้นแบบกับคนอื่นๆ เข้าด้วยกัน ก่อจะขยายวงออกไป”
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช รองประธานมูลนิธิสยามกัมมาจล หนึ่งในองค์กรเครือข่ายของงานนี้ กล่าวว่า “โลกอนาคต มีลักษณะเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และพลิกผัน คนไทยในอนาคตจึงต้องมีพลังหลากหลายด้าน จำเป็นต้องมีขบวนการส่งเสริมให้เยาวชนเป็นผู้สร้าง ผู้อาสา ลงมือทำงานหรือทำกิจกรรมที่ถนัด และมีคุณค่าเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและต่อชุมชนหรือสังคมที่สังกัด
“พลังคนรุ่นใหม่ คือพลังของการสร้างสรรค์ เอาชนะกระแสของการเสพ คนรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้จากการลงมือทำ ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นเป็นปฐม ใช้การลงมือทำนั้นเองเพื่อการเรียนรู้ของตนเอง โดยลงมือทำเป็นกลุ่มเป็นทีม ก็จะเกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึก ที่เรียกว่า 21st Century Learning เกิด 21st Century Skills สำหรับการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ที่จะเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงพลิกผัน” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว
องค์กรภาคี18 องค์กร ที่ร่วมจัดนี้ เชื่อว่า เยาวชนแสดงพลังสร้างสรรค์ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ให้สังคมได้เห็นศักยภาพ ความสามารถ โดยจะมีเยาวชนกว่า 800 คนมานำเสนอผลงานการทำดีในรูปแบบต่าง ๆ ใน 6 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1)จิตอาสา 2) ไอซีที 3) สิ่งแวดล้อม 4) ท้องถิ่น 5) ปฏิรูปการเรียนรู้ และ 6) ปิดเทอมสร้างสรรค์ จึงเป็นอีกครั้งที่เป็นนิมิตหมายสำคัญที่พวกเขาจะมาแสดงให้เห็นพลังของเยาวชน และการแบ่งปันเพื่อเปลี่ยนแปลง สร้างสังคมดีที่น่าอยู่ต่อไปในระยะยาว
เกม “UNAWAKENING” สานความฝันอัน “มืดมิด” ด้วยจิตที่ “สว่าง” แนวคิดที่จะสร้างสรรค์เกมนี้ เกิดจากเมื่อ นักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ชอบเล่นเกมคอมพิวเตอร์เป็นชีวิตจิตใจกลุ่มหนึ่ง เล็งเห็นว่า ปัจจุบันแทบไม่มีเกมไหนที่จะช่วยให้ “กลุ่มเด็กผู้พิการทางสายตา” ผ่อนคลายความเครียด หรือออกมารองรับคนกลุ่มนี้เลย ทั้งๆ ที่ศักยภาพของเกม น่าจะช่วยสร้างกระบวนการวิเคราะห์ และการตัดสินใจต่อเหตุการณ์ต่างๆ ได้อีกแรงหนึ่งให้กับพวกเขา
“เราคิดว่าน่าจะดีหากผู้พิการทางสายตาจะได้เล่นเกมบ้าง เกมน่าจะเป็นตัวเชื่อมผู้พิการให้สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้เหมือนกัน จึงอยากสร้างเกมเพื่อผู้พิการทางสายตา” ตั้ม กำชัย โลเกศกระวี หัวหน้าทีมผู้สร้างเกมบอกเล่าที่มาที่ไปของเกมนี้
จากแรงบันดาลใจ กลายเป็นผลงานที่มีค่า ตั้มรวมตัวกับเพื่อนสนิทอีก 2 คน “ทีม” ภาคิน แจ้งกระจ่าง และ “เอิร์ท” วาริท ทวีกาญจน์ คิดค้นเกมนี้ขึ้น โดยใช้ Nintendo wiimote ควบคุมการเล่นเกมซึ่งไม่เหมือนกับเกมอื่นๆ เพราะเกมนี้เน้นให้ผู้พิการทางสายตาได้ใช้ความคิด และไหวพริบในการแก้ปริศนาภารกิจต่างๆ โดยใช้ประสาทสัมผัสทางเสียงแยกศัตรูที่อยู่ในเกมและกำจัดศัตรู นอกจากผู้พิการทางสายตาจะรู้สึกสนุกสนานแล้ว ยังรู้สึกเป็นมิตรกับคอมพิวเตอร์ และมีทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์ได้ดีขึ้น
ตั้มซึ่งมีประสบการณ์ในการแข่งขันทำเกมมาหลายเวทีทำหน้าที่เป็น “ตัวหลัก” ในการทำงาน ซึ่งลักษณะการทำงานจะเป็นแบบเพื่อนช่วยเพื่อน แต่ละคนต่างเป็นที่ปรึกษาให้กันและกัน ช่วยเสนอแนะ และแก้ไขปัญหาร่วมกัน เมื่อได้รูปแบบเกมที่แน่นอนแล้ว ทุกคนจึงช่วยกันสร้าง Engine เขียน Coding Game ก่อนใส่เสียงพากย์ และตกแต่งเกมในขั้นตอนสุดท้าย พวกเขาบอกว่า นี่ยังเป็นต้นแบบ ที่ต้องพัฒนาต่อๆ ไป และเป็นงานที่พวกเขา ทุ่มเทอย่างไม่รู้เหนื่อย
ณดล จูทะสมพากร ที่หลายคนรู้จักเขาเป็นอย่างดีแล้วผ่านคลิป Youtube มือกีตาร์วัย เพียง 8 ขวบผู้คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 การแข่งขันกีตาร์คลาสสิค ระดับนานาชาติที่รัสเซียเมื่อปี 2553
นิ้วเล็กๆ แต่เปี่ยมพลังสร้างสรรค์เกิดจาก ใจรักและใฝ่ฝึกฝนเรียนรู้ กระบวนการหล่อหลอมและพรสวรรค์ หล่อหลอมให้เด็กคนนี้ เริ่มเล่นเปียโนด้วยการจดจำวิธีการเล่นของคุณแม่ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ และข้ามขั้นมาจับคอร์ดกีตาร์คลาสสิค
ณัฐวดี งามสม นักศึกษาชั้นปี 2 ภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง เกิดและเติบโตที่ตำบลบ้านสา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง เข้ามาร่วม "งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น" โครงการวิจัยแนวทางการพัฒนากลุ่มสภาเด็กและเยาวชน ตำบลบ้านสาอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ระบุว่า โครงการวิจัยได้ ส่งผลให้ มองสถานการณ์อย่างรอบด้านมากขึ้น เกิดระบบความคิดแบบใหม่ รวมทั้งคิดเป็นระบบมากขึ้น " ก้าวต่อมาคือ "โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำห้วยหก"
การทำงานครั้งนี้เกิดขึ้นจากกลุ่มเยาวชนในหมู่บ้านที่ถือเป็นตัวแทนของโรงเรียนแจ้ห่มวิทยา อ.แจ้ห่ม ทำโครงการกันแล้วส่งเข้าร่วมประกวดแข่งขันระดับภาคเหนือ ในโครงการพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของมูลนิธิโคคา-โคล่า โดยได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภาคเหนือ และรองชนะเลิศอับดับ1 ระดับประเทศ ปี2551
“จุดที่เรามองเรื่องทรัพยากรน้ำ เพราะมันเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก อยู่ในชุมชนของเรา แต่ที่ผ่านมาพวกเราเองเด็กๆ และผู้ใหญ่ในชุมชนก็อาจจะละเลยไม่สนใจกัน จนเมื่อมาถึงวันหนึ่งเราก็มามองไปข้างหน้า แล้วลองคิดกันว่าถ้าน้ำมันหมดไปเราจะทำอย่างไงกันนี่ ครอบครัวพวกเราก็ทำอาชีพเกษตร ต้องใช้น้ำเป็นหลัก เราจะทำอย่างไงกัน คิดกันมาตลอด จนมามีโอกาสอยากทำโครงการกันเองขึ้นมา เราก็เลยทำเรื่องอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำขึ้น สิ่งที่ที่ซึมซับที่ละน้อย คือการมีความรักความหวงแหนบ้านเกิดของตัวเอง จากที่ไม่เคยนึกถึงถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง พอเข้ามาทำงานผ่านการเรียนรู้กันมา ทำให้รู้สึกว่าชุมชนเรามีของดีอยู่ โดยเฉพาะเรื่องทรัพยากร เราต้องช่วยกันดูแลอนุรักษ์ถิ่นฐานบ้านเกิดของเราไว้ ทำเพื่อบ้านเกิดของเรา" ณัฐวดีกล่าว
นี่คือส่วนย่อยๆ ของหลากเยาวชนที่รอให้ ทุกคน ร่วมสัมผัส พลังแห่งการให้ ที่ยิ่งใหญ่ของเยาวชนจากทั่วประเทศ ในงานมหกรรม “พลังเยาวชน พลังสังคม” ครั้งที่ 2 “แบ่งปัน...เพื่อเปลี่ยนแปลง” ระหว่างวันที่ 6-8 พ.ค.นี้ ที่ หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ หรือ สวนโมกข์กรุงเทพ (ติดสวนรถไฟ จตุจักร)