สยามอัศจรรย์
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ทำโครงการบูรณะซ่อมแซมอาคารอนุรักษ์อายุ 100 ปี
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ทำโครงการบูรณะซ่อมแซมอาคารอนุรักษ์อายุ 100 ปี
โดย..สมาน สุดโต
รอบพระบรมมหาราชวัง ท่าเตียน ท่าช้าง หน้าพระลาน สามกลุ่มอาคาร โบราณสถานงามสง่า คู่วังเวียง เคียงวิถี นาครา ร้อยอดีต ทรงคุณค่า ของแผ่นดิน เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ให้อยู่ในสภาพสวยงาม มั่นคงถาวรปลอดภัยสำหรับผู้อยู่อาศัย สบายนัยนานักท่องเที่ยว ขณะนี้อาคารอนุรักษ์หน้าพระลาน บูรณะซ่อมแซมเรียบร้อยพร้อมจะเปิดบริการประมาณเดือน มิ.ย. รวมทั้ง มิ่งหลี ร้านอาหารชื่อดังคู่กับมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่จะมาพร้อมกับอาหารฝรั่งสไตล์ไหหลำ สตูลิ้นวัว สลัดเนื้อสัน ยำๆ หมี่กรอบ พร้อมให้บริการท่านศิลปิน และประชาชนทั่วไปในบรรยากาศเดิมๆ แต่สิ่งแวดล้อมใหม่
ส่วนหมู่อาคารท่าช้างและท่าเตียน ที่อยู่ในโครงการอนุรักษ์ และซ่อมแซมเช่นกัน แต่คงใช้เวลาเป็นปีกว่าจะสรุปได้ เพราะต้องคุยและตกลงกับผู้อยู่อาศัยก่อน
wwอาคารอายุ 100 ปี
ตึกแถวหน้าพระลาน ตึกแถวท่าช้างและตึกแถวท่าเตียน คือกลุ่มอาคารโบราณสถานที่ตั้งอยู่โดยรอบพระบรมมหาราชวัง มีความโดดเด่นด้วยเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมและอายุสมัยนานนับ 100 ปี ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกแถวเหล่านี้ขึ้นในปี พ.ศ. 2452 เพื่อใช้เป็นอาคารพาณิชย์ อีกทั้งยังเป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบพระบรมมหาราชวังให้เป็นระเบียบและสวยงาม
นอกจากนี้ กลุ่มอาคารโบราณสถานทั้ง 3 กลุ่ม สื่อให้เห็นถึงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของการวางระบบผังเมืองของสยามประเทศในยุคแรกที่เปลี่ยนจากการค้าขายริมน้ำมาเป็นการค้าขายบนบกในตึกแถวที่กระจายตัวไปตามเส้นทางถนน ซึ่งอีกนัยหนึ่งยังเป็นการแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองทางการค้าขายแบบเสรีของสยามอันเป็นผลมาจากสนธิสัญญาเบาว์ริง รวมถึงการเจริญเติบโตของระบบทุนนิยมในขณะนั้นๆ
รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของกลุ่มอาคารกลุ่มนี้คือ สถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก ซึ่งเป็นที่นิยมในทวีปยุโรปช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 จึงถือได้ว่าเป็นกลุ่มอาคารพาณิชย์ในยุคแรกของสยามที่ได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตกอีกด้วย
สำนักงานทรัพย์สินฯ จัดพิธีทำบุญอาคารอนุรักษ์หน้าพระลาน
เมื่อเช้าวันที่ 4 พ.ค. 2554 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จัดพิธีทำบุญอาคารอนุรักษ์และพิธีคฤหมงคลหลังจากอาคารอนุรักษ์ตำบลถนนหน้าพระลานตอนวังกรมพระสมเด็จ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ต้นราชสกุล มาลากุล) ได้ดำเนินงานซ่อมแซมอาคารอนุรักษ์เรียบร้อยแล้ว
ดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ ที่ปรึกษาด้านงานอนุรักษ์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นประธาน ในพิธีทำบุญอาคารอนุรักษ์และพิธีคฤหมงคล อาคารอนุรักษ์ตำบลถนนหน้าพระลานตอนวังกรมพระสมเด็จ โดยมีกลุ่มผู้เช่า หน่วยงานราชการร่วมพิธี กล่าวว่า “สำนักงานทรัพย์สินฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่การบูรณะอาคารอนุรักษ์ตำบลถนนหน้าพระลานตอนวังกรมพระสมเด็จได้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ด้วยสำนักงานทรัพย์สินฯ ตระหนักถึงความสำคัญของโบราณสถานที่จะต้องสงวนรักษาและปรับปรุงสภาพอาคารอนุรักษ์นี้เพื่อไม่ให้มีสภาพทรุดโทรม แต่คงคุณค่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติอยู่เสมอ และส่งเสริมให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศให้เดินทางมาเยี่ยมชม ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เช่าอาคารที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและการพาณิชย์ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้นซึ่งที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นไปตามนโยบายการพัฒนาอย่างพอเพียงของสำนักงานทรัพย์สินฯ ในปัจจุบัน”
การบูรณะตึกแถวถนนหน้าพระลานมีสาเหตุจากการใช้สอยอาคารมานานกว่าศตวรรษทำให้วัสดุเสื่อมสภาพ ระบบสาธารณูปโภคภายในอาคาร ทั้งระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้า การบำบัดน้ำเสียล้วนล้าสมัยอันอาจเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้อาคาร ทั้งในด้านสุขอนามัยและอัคคีภัย อีกทั้งบริเวณด้านหลังอาคารมีการดัดแปลงต่อเติมรบกวนกำแพงวังถนนหน้าพระลานวังกลาง (ที่ทำการกรมศิลปากร) ซึ่งเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2543
เนื่องจากองค์ประกอบที่แสดงถึงลักษณะสถาปัตยกรรมที่สำคัญยังอยู่ในสภาพดี อาทิ มุขยื่นที่คูหาหัวมุมและช่วงกลาง มีหน้าบันโค้งกลม ที่ปลายหน้าบันทั้งสองข้างเป็นปูนปั้นรูปผอบ บริเวณทับหลังตกแต่งด้วยลวดลายพวงดอกไม้ เสาระเบียงชั้นบนเป็นแบบไอออนิก เสาชั้นล่างเป็นแบบดอริก เป็นต้น ในการบูรณะได้รักษาสภาพเดิมไว้ทั้งหมดและซ่อมแซมส่วนที่ขาดหายให้กลับคืนอย่างที่เคยเป็น ไม่มีการต่อเติมส่วนประกอบใดๆ ในส่วนด้านหน้าอาคาร ส่วนด้านหลังอาคารที่มีการต่อเติมหลายครั้ง ได้ซ่อมแซมและเสริมโครงสร้างให้แข็งแรงพร้อมปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคในอาคารให้ทันสมัยเพื่อให้สามารถใช้สอยอาคารในระยะยาวได้ โครงการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารอนุรักษ์หน้าพระลานริเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2551 และได้ดำเนินงานซ่อมแซมขึ้นในช่วงเดือน ก.ค. 2553 และแล้วเสร็จในปี 2554 รวมระยะเวลาการบูรณะ 8 เดือน
wwประวัติความเป็นมาตึกแถวหน้าพระลาน
อาคารตึกแถวหน้าพระลาน ตั้งอยู่ริมถนนหน้าพระลาน ตัดถนนหน้าพระธาตุตรงข้ามกับประตูวิเศษไชยศรี ในสมัยรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังนี้เป็นที่ประทับของพระเจ้าอภัยทัต ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดให้รวมวังหน้าพระลานเข้ากับวังกลางเพื่อใช้เป็นที่ประทับของเจ้าฟ้ากรมขุนบำราบปรปักษ์ ในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 ได้มีการรื้อกำแพงวังด้านทิศใต้ (ริมถนนหน้าพระลาน) ออก แล้วสร้างเป็นตึกแถวราวปี พ.ศ. 2452 และโรงเรียนช่างสิบหมู่ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นที่ทำการของกรมศิลปากรมาจนถึงปัจจุบันนี้
ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ขนาด 29 ห้อง แบบสถาปัตยกรรมของอาคารเป็นรูปตัว E หลังคามุงกระเบื้องว่าว ด้านหน้าอาคารของคูหากลางและคูหาปลายทั้ง 2 ด้าน มีกระบังหน้าลักษณะเป็น Pediment ลายปูนปั้นรูปดอกบัวขนาบข้างด้วยแจกันหัวเสาประดับลายเฟื่อง ส่วน Pediment ของคูหาปลาย ลวดลายเป็นชายผ้าหรือชายริบบิ้นขนาบข้างด้วยแจกันปูนปั้น
wwตึกแถวท่าช้างวังหลวง
อาคารที่อยู่ในโครงการอนุรักษ์ ที่อยู่รอบพระบรมมหาราชวังได้แก่อาคารตึกแถวท่าช้าง ตั้งอยู่ถนนหน้าพระลานตัดถนนมหาราช ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมพื้นที่ในบริเวณนี้เป็นท่าที่ช้างฝ่ายพระราชวังหลวงนำช้างลงอาบน้ำ ต่อมารัชกาลที่ 5 ได้มีพระบรมราชโองการให้รื้อกำแพงพระนครลงเพื่อตัดถนนมหาราช ส่วนพื้นที่ริมกำแพงพระนครได้โปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระปิยะมาวดี ต่อมาท่านได้ย้ายไปประทับ ณ วังสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พื้นที่เป็นที่ทำการของกรมการทหารเรือและโรงพยาบาลที่ทำการแพทย์ พร้อมทั้งให้รื้ออาคารเรือนแถวไม้ริมถนนมหาราชออก ก่อสร้างเป็นอาคารตึกแถวแทน
ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ขนาด 33 ห้อง ลักษณะของอาคารมีรูปแบบคลาสสิกคล้ายกับตึกแถวหน้าพระลาน เพียงแต่วางผังอาคารตามแถวถนนที่เป็นรูปวงโค้ง เพื่อให้มีความกลมกลืนกับประตูสุนทรทิศาของพระบรมมหาราชวัง
wwตึกแถวท่าเตียน
อาคารตึกแถวท่าเตียนเป็นอีกหมู่อาคารโบราณที่ต้องบูรณะซ่อมแซม อาคารนี้ตั้งอยู่ริมถนนมหาราช ตรงข้ามวัดพระเชตุพนฯ จรดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึง 3 ได้ใช้เป็นที่ประทับของเจ้านายหลายพระองค์ต่อมาในรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารพาณิชย์และตลาดขึ้น
ลักษณะของอาคารด้านหน้าติดริมถนนมหาราชและซอยท่าโรงโม่ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น จำนวน 55 คูหา รูปตัว U ลักษณะทางสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่คล้ายคลึงกัน แตกต่างเฉพาะมุขกลาง 3 ด้าน ชั้นล่างของมุขทุกด้านมีลักษณะเป็นช่องโพรงเชื่อมทางเข้าตลาดท่าเตียน ส่วนหน้าบันจะมีลักษณะเรียบ และมีความสอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอย ส่วนด้านหลังอาคารก่อสร้างอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียวจำนวน 55 คูหา หันหน้าอาคารเข้าภายในตลาดและริมแม่น้ำเจ้าพระยา
นโยบายของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในด้านการอนุรักษ์
สำนักงานทรัพย์สินฯ ให้ความสำคัญกับภารกิจด้านการอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง โดยกำหนดนโยบายและแนวทางให้มีการดูแลรักษาและพัฒนาพื้นที่อันทรงคุณค่าอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่และเอกลักษณ์ของพื้นที่ ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์และสังคมโดยรอบ สอดรับกับนโยบายและทิศทางการพัฒนาในทุกระดับชั้น ควบคู่ไปกับการสร้างกลไกที่กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคม พร้อมทั้งปลูกสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรม