posttoday

พบปลาหลดงวงช้างชนิดใหม่ในแม่น้ำโขง

24 พฤษภาคม 2554

พบ “ปลาหลดงวงช้าง” ชนิดใหม่ของโลกในแม่น้ำโขง ผู้เชี่ยวชาญห่วงปลาป่าพรุ 10 ชนิดถูกคุกคามจากระบบป่าพรุเปลี่ยน และถูกจับปลาสวยงามออกขาย ด้านไอยูซีเอ็น จัดสถานภาพปลาทั่วโลกพบอยู่ในบัญชีเสี่ยงสูญพันธุ์ 80 ชนิดอยู่ในไทยถึง 34 ชนิด

พบ “ปลาหลดงวงช้าง” ชนิดใหม่ของโลกในแม่น้ำโขง ผู้เชี่ยวชาญห่วงปลาป่าพรุ 10 ชนิดถูกคุกคามจากระบบป่าพรุเปลี่ยน และถูกจับปลาสวยงามออกขาย ด้านไอยูซีเอ็น จัดสถานภาพปลาทั่วโลกพบอยู่ในบัญชีเสี่ยงสูญพันธุ์ 80 ชนิดอยู่ในไทยถึง 34 ชนิด

จากการประชุมวิชาการเนื่องในปีสากลแห่งป่าไม้และวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีภาพ จัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)  ซึ่งเปิดเวทีนำ เสนอทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพในด้านป่าไม้ สัตว์ป่าขึ้น  

ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปลาน้ำจืด สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน  มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราช สีมา  เปิดเผยว่า  จากการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของของสายพันธุ์ปลาน้ำจืดที่พบในประเทศไทยนั้นมีมากถึง 700 ชนิด โดยเป็นจากปลาที่อาศัยในแหล่งต้นน้ำมากถึง 300 สายพันธุ์   โดยเฉพาะปลาถ้ำ ถือว่าเป็นอันดับ 4 ของโลกรองจากจีน เม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ผ่านมาสำรวจพบปลาถ้ำแล้ว 9 ชนิดจากถ้ำที่แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี พิษณุ โลก ขณะที่ปัจจุบันทางสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ไอยูซีเอ็น) เพิ่งมีการสำรวจสถานภาพของปลาทั่วโลกในปี 2554 พบว่า  80 ชนิดอยู่ในบัญชีเรดส์ลิส หรือสถานภาพน่าเป็นห่วง และในจำนวนนี้  34 จาก 55 ชนิด ซึ่งเป็นปลาที่อาศัยในระบบนิเวศน์ป่าชายเลน ป่าเขาของไทยรวมอยู่ด้วย เช่น ปลาทรงเครื่อง ปลาฉนาก ปลาเสือตอ ปลากระเบนราหู เป็นต้น

“ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ปลาที่อาศัยในป่าพรุของไทย ซึ่งมีราว 60 ชนิดนั้น พบว่าอย่างน้อย 10 ชนิดอยู่ในภาวะคุกคามอย่างมาก อาทิ ปลาก้างพระร่วง ปลากัดช้าง ปลากริมแรด ปลากะแม๊ะ ปลาปักเป้าท้องตาข่าย เป็นต้น เนื่องจากป่าพรุ ที่มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งถูกเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ และเกิดปัญหาไฟไหม้ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับปลาในป่าพรุหากมีการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์  นอกจากนี้ยังพบว่ายังมีการจับปลาจากป่าพรุ เช่น ปลาซิวข้างขวาน ที่มีสีสันสวยงาม และพบมากในป่าพรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส ถูกจับออกไปขายปีละหลายแสนตัวทั้งในตลาดไทย ตลาดญี่ปุ่นและยุโรปที่มักนิยมเลี้ยงเป็นฝูงในตู้พันธุ์ไม้น้ำ ดังนั้นถ้ายังปล่อยให้มีการจับกันมากๆ แบบนี้อนาคตก็จะหายไปจากธรรมชาติได้” ผู้เชียวชาญด้านปลาน้ำจืด ระบุ

ดร.ชวลิต  กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีข่าวดีว่า จากการสำรวจปลาในแม่น้ำโขง ยังได้พบปลาหลดชนิดใหม่ของโลกในสกุล  Macrognathus   ซึ่งตั้งชื่อว่าปลาหลดงวงช้าง  เพราะมีลักษณะของจมูก และจงอยปากยาวเหมือนงวงช้าง มีดวงเป็นลายจุดตามลำตัว 4 จุดเฉพาะบริเวณครีบหาง และมีความยาวมีลำตัว  20 ซม.เท่านั้น  ทั้งนี้จะพบได้เฉพาะบริเวณแก่งหินของแม่น้ำโขงตั้งแต่ปากเซ ของลาวจนมาถึงปากมูน ในเขตจ.อุบลราชธานี  โดยเฉพาะจะเจอมากในช่วงฤดูร้อนเท่านั้น  ทั้งนี้ยังอยู่ในระหว่างการตีพิมพ์ผลงานต่อไป อย่างไรก็ตาม  ก่อนหน้านี้ในปี 2553 ก็เพิ่งพบปลาอีด ซึ่งเป็นปลาชนิดใหม่ของโลกที่พบในเขตท้องนา และเขตพื้นที่ชุ่มน้ำของบึงโขงหลง หนองกุดทิง จ.หนองคาย มาแล้ว โดยปลาอีด เป็นปลาขนาดเล็กเพียง 2-3 ซม. มีความโดดเด่นตรงครีบของมันที่เหมือนกับกีตาร์แซฟเฟอร์ลิน เลยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lepidocephalichthys  zeppelini  อย่างไรก็ตาม ปลาชนิดนี้ยังพบได้ในแม่น้ำของเวียดนาม กัมพูชาด้วยแต่เป็นปลาที่อาศัยในแหล่งน้ำคุณภาพดีเท่านั้น

“ ในภาพรวมแม้ว่าประเทศไทย จะมีความหลากหลายทางชีวภาพของปลาสูงมากในระดับโลก แต่ก็มีปัจจัยเรื่องภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อปลาโดยตรงก็คือการทำลายป่า  เพราะเป็นระบบนิเวศน์ที่เชื่อมต่อกัน จากต้นน้ำไปจนถึงทะเล ขณะที่โครงการพัฒนาเขื่อนกั้นแม่น้ำสายหลักที่ขาดความรอบคอบในการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ก็ส่งผลให้ปลาในแม่น้ำหลายชนิดสูญพันธุ์ไปจากโครงการเหล่านี้ แม้แต่การสร้างฝายแม้ว  ซึ่งมีกรณีศึกษาชัดเจนจากการสร้างฝายกั้นลำธาร ในดอยอินทนนท์เมื่อปี 2552 ที่ส่งผลให้ปลาค้างคาวอินทนนท์ ที่เคยสำรวจพบมาก่อน มีฝายมาปิดกั้นไม่สามารถเดินทางข้ามฝายแม้วไปอีกฝั่งได้  จนกระทั่งต้องมีการรื้อฝายออกไป  นอกจากนี้ยังมีภัยจากปลาต่างถิ่น  ปลาเลี้ยงเข้ามาทดแทน โดยเฉพาะปลานิล ปลาซักเกอร์ ที่แพร่ระบาดในแม่น้ำเกือบทุกสายอีกด้วย  ” ผู้เชี่ยวชาญด้านปลาน้ำจืด ระบุ

 

พบปลาหลดงวงช้างชนิดใหม่ในแม่น้ำโขง ปลาอีดชนิดใหม่