ตรวจเงินแผ่นดินควรมีกรรมการแบบไหน?
การตรวจเงินแผ่นดินเป็นมากกว่าการสอบบัญชี พันธกิจของ สตง.เองครอบคลุมการประเมินผล วิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ ฯลฯ บุคคลที่จะเป็น คตง.ต้องมีคุณสมบัติ “เหมาะสม” และมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์
การตรวจเงินแผ่นดินเป็นมากกว่าการสอบบัญชี พันธกิจของ สตง.เองครอบคลุมการประเมินผล วิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ ฯลฯ บุคคลที่จะเป็น คตง.ต้องมีคุณสมบัติ “เหมาะสม” และมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์
ขณะนี้กำลังมีการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินเกี่ยวกับการกำหนดคุณสมบัติของ คตง. เพื่อรองรับรัฐธรรมนูญปี 2550 (ลดจาก 10 คนใน รธน. 2540) ทั้งนี้ การกำหนดคุณสมบัติและวิธีการเลือกบุคคลควรจะเป็น “หลักประกันความเป็นอิสระ” ในการปฏิบัติหน้าที่
แต่ร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์ที่แล้วยังมีจุดอ่อนและขาดองค์ประกอบที่จะช่วยตอบโจทย์เรื่องหลักประกันและความเหมาะสมได้อย่างแท้จริง
การกำหนดคุณสมบัติมี 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นเรื่องของสัดส่วนของบุคคลที่มีความชำนาญหรือประสบการณ์ตามสาขาวิชาการต่างๆ อีกส่วนคือ คุณสมบัติในเชิงประสบการณ์ทำงานหรือที่มา
ร่างหลักแบ่งความชำนาญเชิงวิชาการเป็น 4 ด้าน คือ (1) ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน 2 คน (2) การบัญชี ตรวจสอบภายใน และการเงินการคลัง ด้านละ 1 คน (3) นิติศาสตร์ 1 คน (4) เศรษฐศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือด้านอื่นที่เป็นประโยชน์แก่งานการตรวจเงินแผ่นดิน 1 คน
จะเห็นว่ากลุ่ม (1) และ (2) ซึ่งเป็นหรือมีแนวโน้มที่จะเป็นนักบัญชี มีสัดส่วนสูงมากถึง 5 ใน 7
ปัจจุบันมีการใช้เงินแผ่นดินในกิจกรรมที่ซึ่งสลับซับซ้อนและมีผลกระทบกว้างขวาง หรือมีความเป็นเทคนิคสูง อาทิ นโยบายจำนำข้าว การสร้างรถไฟใต้ดิน รถไฟความเร็วสูง หรือการให้สัมปทานปิโตรเลียม เป็นต้น
การประเมินผลหรือความคุ้มค่าของโครงการต่างๆ จะมีประสิทธิภาพขนาดไหน ขึ้นอยู่กับการกำหนดนโยบายและมาตรฐานการตรวจสอบที่เหมาะสมของ คตง. จึงสมควรให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ด้านละ 1 คน โดยลดคนจากกลุ่ม (1)(2) ลงกลุ่มละ 1 ทั้งนี้สัดส่วนของนักบัญชียังคงเหลืออยู่ในเกณฑ์สูง คือ 3 ใน 7
บทบาทของ คตง.เป็นเสมือนบอร์ดระดับสูงขององค์กร คนเป็นบอร์ดทุกคนไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์อย่างคนภายในองค์กรนั้นๆ แต่บอร์ดควรจะมีความรู้ความชำนาญที่ช่วยให้เข้าใจภารกิจหรือเป้าหมายที่ถูกตรวจได้อย่างดี ไม่ว่าเชิงลึกหรือเชิงรอบ
นอกจากเพิ่มความเหมาะสมความควรแก่งานแล้ว การเพิ่มสัดส่วนของสาขาวิชาด้านอื่นๆ ยังเพิ่มความหลากหลาย ซึ่งจะช่วยสร้างความเป็นอิสระเป็นกลาง ประโยชน์ที่ได้จากการเพิ่มสัดส่วนอื่นๆ จะคุ้มค่ากับการสูญเสียหากจะมีจากการลดสัดส่วนนักตรวจนักบัญชี
คุณสมบัติเชิงประสบการณ์ทำงานหรือที่มา ร่าง พ.ร.บ.กำหนดให้กรรมการต้องเป็นหรือเคยเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างข้าราชการ อาจารย์ ผู้สอบบัญชี หรือคนจากภาคธุรกิจ
ในส่วนของข้าราชการ ร่างเดิมให้เฉพาะผู้ที่เป็น/เคยเป็น อธิบดี หรือ ขรก.ซึ่งดำรงตำแหน่งบริหารที่มีอำนาจบริหารเทียบเท่าอธิบดี แต่ กมธ.ได้เปิดกว้างเป็นระดับ 10 หรือเทียบเท่าในระบบใหม่ คุณสมบัติที่เข้มข้นอย่างในร่างเดิมจะช่วยให้ คตง.ที่มาจากราชการมีคุณภาพมากขึ้น
การแก้ไขนี้จะเปิดทางให้ผู้มีอำนาจเตรียมคนที่สั่งการได้ มาเข้าสู่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญได้ง่ายดายขึ้น
ในส่วนของภาคธุกิจ มีนักบริหารระดับสูงที่ไม่ได้อยู่ในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ซึ่งเป็นข้อกำหนดของร่างฯ ปัจจุบัน แต่อาจเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ทำงานที่เป็นประโยชน์ เช่น คนไทยในบริษัทข้ามชาติที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงเพราะต้องแข่งขันข้ามชาติ และมักจะมีธรรมาภิบาลสูงกว่าไทย เพราะกฎหมายของเขาเข้มข้นและถูกปฏิบัติอย่างจริงจังมากกว่า จึงควรเปิดทางให้บุคคลเหล่านี้ เพื่อให้ คตง.ได้คนจากภาคธุรกิจที่ดีที่สุด
ในภาพรวม หากดูแนวโน้มของคณะกรรมการต่างๆ ในภาครัฐน่าจะเห็นการเปิดกว้างขึ้น จากที่เป็นข้าราชการล้วนๆ ในอดีต ขยายรับคนจากภาควิชาการและภาคธุรกิจ แนวโน้มในโลกยุคใหม่จึงเป็นการเปิดรับภาคประชาสังคมหรือภาคประชาชน ซึ่งได้มีบทบาทมากขึ้นในการตรวจสอบทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ ดังเช่นการต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมที่มาบตาพุด หรือเรื่องการปกป้องธรรมชาติกรณีเขื่อนแม่วงก์
ภาคประชาชนอาจถูกมองว่าสร้างความวุ่นวาย แต่ส่วนใหญ่ความวุ่นวายมีสาเหตุที่รัฐพึงรับฟัง และหากรัฐให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมมากขึ้นในหลายๆ ด้านตั้งแต่ต้นทาง ก็อาจจะทำให้ความวุ่นวายที่ปลายทางไม่เกิดขึ้นก็เป็นได้ จึงสมควรเปิดทางให้ภาคประชาชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ คตง. เพื่อใช้พลังสังคมส่วนนี้ให้เป็นประโยชน์ยิ่ง
ข้อเสนอนี้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ รธน. ม.87 (3)ที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ
จะเป็นการเพิ่มมุมมองที่มีนัยสำคัญของประชาชน ในฐานะผู้ได้รับประโยชน์และรับผลกระทบจากการใช้เงินแผ่นดิน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการกำหนดนโยบายและมาตรฐานการตรวจสอบการใช้เงินแผ่นดิน นอกจากนี้ ภาคประชาชนยังเป็นตัวถ่วงดุลที่สำคัญในยุคที่ประชาธิปไตยถูกเสียงข้างมากอ้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจรัฐที่อาจจะเกินขอบเขต
หากจะได้มีการปรับปรุงข้อกำหนดต่างๆ ข้างต้น เราก็จะได้ คตง.ที่มีความชำนาญในหลายด้านที่จำเป็นและเหมาะสมมีประสิทธิภาพสูง มีมุมมองที่หลากหลายครบถ้วน มีการถ่วงดุลในตัว และมีโอกาสที่จะสร้าง “หลักประกันความเป็นอิสระ”ในการทำหน้าที่ได้