ออมสินหลังแอ่นสนองนโยบายรัฐบาลคสช.
ผลจากการที่ธนาคารออมสินเป็นธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) ขนาดใหญ่ ด้วยขนาดสินทรัพย์ที่สูงกว่า 2.29 ล้านล้านบาท
โดย...กนกวรรณ บุญประเสริฐ
ผลจากการที่ธนาคารออมสินเป็นธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) ขนาดใหญ่ ด้วยขนาดสินทรัพย์ที่สูงกว่า 2.29 ล้านล้านบาท มีสินเชื่อคงค้างกว่า 1.78 ล้านล้านบาท เงินฝากคงค้างสูงกว่า 1.96 ล้านล้านบาท แต่มียอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลเพียง 3 หมื่นล้านบาท หรือต่ำที่สุดในระบบแบงก์รัฐคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.66 % ของยอดสินเชื่อคงค้าง
ธนาคารออมสินมีสภาพคล่องเกือบ 2 แสนล้านบาท เป็นที่ล่อใจให้กระทรวงการคลังและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะถือว่าเป็นแบงก์รัฐแห่งเดียวที่มีเงินสภาพคล่องมากพอที่จะนำมาใช้คืนความสุขให้เศรษฐกิจไทย สามารถควักเอามาช่วยหน่วยงานและโครงการตามนโยบายรัฐที่จะทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ประเดิมงานแรกหลัง คสช.เข้ามาบริหารประเทศ คือการขอดึงสภาพคล่อง 7 หมื่นล้านบาท จากธนาคารออมสิน เข้าประมูลปล่อยกู้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปจ่ายให้เกษตรกรที่ค้างจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าว
มาล่าสุด คณะกรรมการธนาคารออมสินกำลังหนักใจเรื่องที่กระทรวงการคลัง ขอให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้บริษัท การบินไทย ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ เป็นเงิน 7,000 ล้านบาท โดยที่กระทรวงการคลังจะไม่ค้ำประกันเงินกู้ให้
เรื่องนี้สร้างความหนักใจให้บอร์ดทั้งชุด เพราะหากพิจารณาตามหลักเกณฑ์ การบินไทยคงไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินความเสี่ยง เนื่องจากผลดำเนินงานในปี 2556 ก็ขาดทุนมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังอยู่ระหว่างการทำแผนฟื้นฟูกิจการ คาดว่าผลดำเนินงานจะตีกลับมาเป็นบวกได้อย่างน้อยก็ปี 2559
ทางออกในการช่วยกู้สถานการณ์การบินไทยขณะนี้คือ ธนาคารออมสินยื่นหมูยื่นแมวขอให้คลังทำสัญญาว่ากู้เงินมาใช้หนี้คืนออมสินในต้นปี 2558 เพื่อแลกกับการปล่อยกู้เงินฉุกเฉินระยะสั้น 4 เดือน คาดว่าจะอนุมัติเงินในเดือน ก.ย.นี้
นอกจากนี้ ออมสินยังถูกขอให้อุ้มสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่มีปัญหาทุจริตกันกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท โดยทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาหารือกับกระทรวงการคลัง ขอให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง 5,000 ล้านบาท จากเดิมที่มีการเสนอขอกู้จาก ธ.ก.ส.ด้วย แต่สุดท้ายหวยมาออกที่ออมสิน ด้วยเหตุผลที่ว่าสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์
เรื่องนี้เป็นปัญหาหนักอกของออมสินเพราะหนี้เสียที่เกิดจากการทุจริต คาดว่าจะติดตามทวงเอาเงินคืนได้ยาก อย่างกรณีที่กลุ่มผู้ฝากเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯ รวมตัวฟ้องร้องวัดพระธรรมกาย ให้นำเงินที่อดีตผู้บริหารเอาไปบริจาควัดถึง 800 ล้านบาทมาคืน แม้จะมีการนัดไกล่เกลี่ยเรื่องคืนเงินแต่โอกาสจะได้เงินก้อนนี้คือคงยาก ส่วนกระบวนการติดตามทวงหนี้อดีตผู้บริหารที่ปล่อยกู้พวกพ้องกันเอง คงใช้เวลานานกว่าจะได้เงินคืนมา
ทำให้การปล่อยกู้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯ จัดเป็นอีกโครงการที่มีความเสี่ยง เนื่องจากแผนฟื้นฟูที่ทำไปไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องแหล่งที่มาของรายได้ที่จะเอามาใช้คืนออมสินในอนาคตได้ว่าจะเอารายได้มาจากไหน
ขณะที่โครงการที่ได้ไฟเขียวจาก คสช.แล้วอีกโครงการหนึ่ง คือ การปล่อยกู้ให้กับโรงงานที่ใช้ยางเป็นวัตถุดิบ มีวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวสวนยาง โดยให้ออมสินเน้นปล่อยกู้ผู้ประกอบการโรงงานถุงมือยาง ล้อรถ หรือสินค้าที่เกี่ยวกับยางแปรรูป ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ คาดว่าจะเริ่มปล่อยกู้ได้ในช่วงเดือน ก.ย.นี้
อีกภารกิจที่ต้องจับตาคือการถูกสั่งให้ควบรวมกิจการกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เพื่อสกัดจุดอ่อนการแก้หนี้เสียที่เกิดจากการปล่อยให้นักการเมือง การปล่อยกู้แบบขาดหลักประกัน ประกอบกับการขาดผู้บริหารที่มีความสามารถ ทำให้แผนฟื้นฟูที่ทำรอบแรกสอบไม่ผ่าน ล่าสุดมีการประเมินว่าเอสเอ็มอีแบงก์มีหนี้เสียเกิน 50% ของสินเชื่อคงค้าง ซึ่งผลจากการไม่เร่งปล่อยสินเชื่อใหม่ ทำให้ภาพรวมสินเชื่อหดเหลือเพียง 8.7 หมื่นล้านบาท จากที่เคยอยู่ที่ระดับ 9.6 หมื่นล้านบาทเมื่อสิ้นปีก่อน มีเงินฝากอยู่ราว 7 หมื่นล้านบาท และผลจากข่าวควบรวมยิ่งทำให้เอสเอ็มอีแบงก์หาเงินฝากยากมากขึ้น ส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือบีไอเอส อยู่ที่ระดับ 7% มีพนักงาน 1,637 คน สาขา 95 แห่ง มีฐานลูกค้าราว 8 หมื่นราย และยังรอเงินเพิ่มทุนจากคลังอีก 2,000 ล้านบาท
ส่งผลให้มีการนำแนวคิดเรื่องการควบรวมเอสเอ็มอีแบงก์เอามาปัดฝุ่นใหม่ โดยมีเส้นตายคือให้คณะกรรมการชุดใหม่ที่ส่ง สาลินี วังตาล เข้ามาเป็นประธานเพื่อขับเคลื่อนการทำงานของเอสเอ็มอีแบงก์ใหม่ และหากยังแก้ไม่ได้คาดว่ากระทรวงการคลังต้องใช้ยาแรงในการจัดการปัญหานี้
นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังอยู่ในข่ายเข้าพยุงฐานะทางการเงินให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ ในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เกือบ 40% เนื่องจากไอแบงก์มีปัญหาหนี้เสียสูงเกือบ 34 หมื่นล้านบาท และเคยผ่านการทำแผนฟื้นฟูรอบแรกมาแล้ว ไอแบงก์กำลังรอเงินเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นอีกเกือบ 4,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินที่ออมสินต้องใส่อีกราว 2,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี เมื่อดูถึงภารกิจอุ้มเพื่อชาติของธนาคารออมสินที่ต้องช่วยอัดเงินเข้าระบบเพื่อพยุงระบบสหกรณ์ ภาคเกษตร ธุรกิจการบิน และสถาบันการเงิน นับตั้งแต่มี คสช. คาดว่ามีวงเงินเฉียดแสนล้านบาทเข้าไปแล้วภายในเวลาไม่ถึง 4 เดือน ล้วนแต่เป็นโครงการที่มีความเสี่ยงสูงแบบที่แบงก์อื่นไม่กล้าปล่อยกู้ ทำให้ธนาคารออมสินต้องลุกขึ้นมาทำเรื่องขอแยกบัญชีสินเชื่อตามนโยบายรัฐ (พีเอสเอ) เพื่อขอเงินชดเชยกรณีที่โครงการถูกรัฐบาลสั่งให้ปล่อยกู้แล้วเกิดความเสียหายบ้าง
ส่วนเรื่องควบรวมกิจการกับเอสเอ็มอีแบงก์ หากไม่ต้องการให้สถานะของออมสินได้รับผลกระทบไปด้วย จะต้องแยกหนี้เสียออกไปก่อน แล้วจึงเอาแต่หนี้ดีเข้ามาควบรวม รวมถึงการลดพนักงานในส่วนที่มีการทำงานหรือสาขาที่ซ้ำซ้อนออกไป เพราะหากไม่เดินตามแผนนี้ คาดว่าทางสหภาพและพนักงานออมสินคงต้องประท้วงใหญ่อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ การแก้ไขหนี้ครัวเรือนและการแก้ไขหนี้นอกระบบ ก็ล้วนแต่ต้องการให้ธนาคารออมสินต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย รวมทั้งการระดมเงินมาปล่อยกู้โครงการขนาดใหญ่ของรัฐ 2.6 ล้านล้านบาทด้วย
จากนี้ไปกระทรวงการคลังคงต้องคิดให้ถ้วนถี่เรื่องการใช้ธนาคารออมสินเข้าไปช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงาน องค์กร ที่อ่อนแอ เพราะหากใช้ธนาคารออมสินเป็นเครื่องมือมากไป จนฐานะทางการเงินของออมสินได้รับผลกระทบ คนที่จะเดือดร้อนคือรัฐบาลและกระทรวงการคลังเอง ที่จะขาดเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะธนาคารอาจไม่สามารถทำหน้าที่ตามภารกิจหลักของธนาคารออมสินคือการเป็นสถาบันการเงินเพื่อการออมสิน และการปล่อยสินเชื่อเพื่อคนฐานรากได้อย่างเต็มที่นักก็ได้