posttoday

Fintech กับความเสี่ยงสถาบันการเงินไทย

17 พฤศจิกายน 2558

โดย...ดร.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น

โดย...ดร.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น

สวัสดีครับ ทุกวันนี้ท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านน่าจะเคยได้ยินคำว่า Fintech ผ่านเข้าหูมากขึ้นเรื่อยๆ และอาจเกิดคำถามว่ามันคืออะไร และจะกระทบกับตัวท่านหรือสถาบันการเงินต่างๆ อย่างไร ในวันนี้ผมจะพา
ทุกท่านไปรู้จักกับ Fintech กันครับ

Fintech หรือ Financial Technology คือธุรกิจที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาผสานเป็นส่วนหนึ่งในบริการทางการเงิน ตัวอย่างธุรกิจที่ท่านผู้อ่านน่าจะคุ้นเคยกันบ้างก็เช่น TrueMoney Uber หรือ PayPal ซึ่งถือเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของ Fintech เท่านั้น

การผสาน Digital Technology กับบริการทางการเงินได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ทำให้ระบบการเงินโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง จึงเป็นที่มาของกระแสความสนใจใน Fintech ผ่านงานวิเคราะห์และวิจัยขององค์กรทางการเงินระดับโลกมากมาย

Accenture หรือบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินระดับโลก ได้ชี้ให้เห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเงินลงทุนใน Fintech โดยศูนย์กลางหลักของการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ที่ New York และ London

อย่างไรก็ตาม ประเทศในแถบ AsiaPacific ก็มีการเติบโตมากเช่นกัน โดยเงินลงทุนใน Fintech เพิ่มขึ้นจาก 880 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2557 มาเป็น 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2558 โดยส่วนใหญ่ลงทุนในประเทศจีน อินเดียและออสเตรเลีย

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Fintech เติบโตอย่างรวดเร็วขนาดนี้คือ ความพร้อมในระบบโครงสร้างโทรคมนาคมและสมาร์ทโฟนที่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึง จึงทำให้มีการเสนอบริการทางการเงินผ่านช่องทางที่เรียกว่า Mobile Banking ที่ง่ายและต้นทุนต่ำ ดังเช่น M-Pesa ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในประเทศแถบแอฟริกา ซึ่งทำให้คนแอฟริกาเข้าถึงบริการทางการเงินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผมขอสรุปจำแนกบริการทางการเงินที่ Fintech ได้นำเสนอตามประเภทบริการที่ท่านได้รับจากธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน เพื่อให้ท่านเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น

บริการด้านการชำระเงิน ปกติเมื่อท่านชำระสินค้าด้วยบัตรเครดิตคำสั่งจ่ายเงินจะถูกส่งผ่านจากธนาคารที่ออกบัตรเครดิตของท่านไปยังระบบชำระเงิน เช่น Visa หรือ Mastercard เพื่อส่งคำสั่งต่อไปยังธนาคารผู้รับเงินของผู้ขายสินค้า แต่ Fintech เช่นบริษัท PayPal ได้เชื่อมโยงระบบการชำระเงินข้างต้นเข้าด้วยกัน โดยผู้ซื้อ-ผู้ขายสามารถชำระเงินผ่านบัญชีของ PayPal ได้โดยตรง

นอกจากนี้ บริษัทอย่าง Square ในสหรัฐ และ iZettle ในสวีเดน ได้เพิ่มความสะดวกในการชำระเงินโดยขายอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกับสมาร์ทโฟนในการอ่านข้อมูลบัตรเครดิตเพื่อการชำระเงิน ซึ่งเป็นบริการที่ลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการขนาดเล็กอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้นยังมี Fintech เช่น TransferWise และ WorldRemit เป็นต้น ที่เสนอบริการการโอนเงินครอบคลุมระหว่างประเทศในรูปแบบ Peer-to-Peer Matching ของเงินต่างสกุลกันระหว่างผู้โอนและผู้รับโอน ทำให้มีค่าธรรมเนียมต่ำกว่าและระยะเวลาการโอนสั้นกว่าของธนาคารในปัจจุบัน

บริการด้านการรับฝากและกู้เงิน ซึ่งถือเป็นธุรกิจหลักของธนาคารในปัจจุบันที่ท่านคุ้นเคยและทราบกันดีว่า ทุกวันนี้ท่านโดนธนาคารกินส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างเงินฝากและเงินกู้เป็นกำไรให้แก่ธนาคารปีละหลายแสนล้านบาท ก็กำลังจะถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดด้วย Fintech ที่นำเสนอรูปแบบการกู้เงินในลักษณะจับคู่ระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ หรือ Peer-to-Peer Lending โดยมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการคิดค้นระบบ Automated Credit Scoring โดยการนำข้อมูลจำนวนมากมาประมวลผลเพื่อหาความเสี่ยงของผู้กู้แต่ละราย

ทำให้ผู้ที่ต้องการฝากเงินหรือลงทุนสามารถเลือกระดับผลตอบแทนที่ตนเองต้องการภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เช่น Lending Club ในสหรัฐ และ Funding Circle กับ Zopa ในอังกฤษ

อีกทั้งยังมี Fintech ได้แก่ Kickstarter ที่นำเสนออีกรูปแบบการกู้เงินที่เรียกว่า Crowdfunding โดยผู้ที่ต้องการเงินกู้จะนำเสนอโครงการลงทุนผ่านระบบออนไลน์ให้แก่ผู้ปล่อยกู้ เพื่อให้สามารถเลือกร่วมทุน ในโครงการลงทุนที่ตนเองสนใจได้ ผมมองว่า การระดมทุนรูปแบบนี้จะเป็นอีกช่องทางที่ช่วยในการระดมทุนแก่ SME และผู้ประกอบการรุ่นใหม่

บริการด้านการบริหารเงินลงทุน หลายๆ ท่านอาจลงทุนผ่านกองทุนรวมประเภทต่างๆ ซึ่งในบางครั้งการจัดสรรสัดส่วนการลงทุนอาจไม่ตรงตามความต้องการของท่าน แต่ในปัจจุบันได้มีบริษัท Fintech ที่คิดค้นระบบ Automated Portfolio Allocation และ Robo-Advisor ที่ใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผลสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมกับความต้องการและเงื่อนไขต่างๆ ของนักลงทุนแต่ละท่าน เช่น Betterment และ Wealthfront ในสหรัฐที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการสูงถึง 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี

นอกจากบริการในด้านต่างๆ ที่กล่าวข้างต้นแล้วนั้น ยังมี Fintech ที่คิดค้น Cryptocurrency หรือที่หลายๆ ท่านอาจจะเคยได้ยินคำว่า Bitcoin ซึ่งมีระบบ Block chain เข้ามารองรับการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินดังกล่าว โดยผมคิดว่าระบบ Blockchain จะเปลี่ยนระบบการเงินโลกไปเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง

ในปัจจุบันธนาคารและธนาคารกลางเป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่รับรองความถูกต้องของธุรกรรมทางการเงินในระบบ ส่งผลให้เป็นระบบรวมศูนย์ หรือ Centralized System แต่ระบบ Blockchain จะเป็นระบบที่กระจายอำนาจการยืนยันความถูกต้องของธุรกรรมให้แก่ผู้ที่อยู่ในโครงข่าย (Ledger) โดยเมื่อมีธุรกรรมเกิดขึ้นจะถูกตรวจสอบยืนยันและเปิดเผยข้อมูลแก่ผู้ที่อยู่ในระบบทุกคน ในขณะที่ตัวตนของผู้ทำธุรกรรมจะถูกอำพรางไว้เพื่อความปลอดภัย

ด้วยเหตุที่ Blockchain เป็นระบบ Decentralized System จึงมีต้นทุนที่ต่ำและมีความโปร่งใสในการยืนยันธุรกรรมมากกว่าระบบปัจจุบัน ถึงขนาดที่ธนาคารกลางอังกฤษ กล่าวว่า Blockchain จะเป็นระบบยืนยันธุรกรรมทางการเงินที่จะมาทดแทนระบบเดิมได้ในอนาคต

ธนาคารระดับโลกหลายแห่งมีโครงการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบ Blockchain ของตนเอง เช่น UBS ที่มีการก่อตั้งแล็บวิจัยในการศึกษาความเป็นไปได้ของ Blockchain และ Santander ที่มีการจัดการแข่งขันให้Fintech เสนอแนวทางพัฒนา Blockchain หรือเมื่อไม่นานมานี้ Barclays ก็ได้เซ็นสัญญาร่วมมือเพิ่มเติมกับสองบริษัทด้าน Blockchain

เนื่องจากในปัจจุบันธนาคารมีข้อจำกัดด้านการแข่งขันกับ Fintech จากกฎเกณฑ์ ที่เข้มงวดของธนาคารกลางและแรงกดดันด้านการบริหารต้นทุน ส่งผลให้ธนาคารระดับโลกเลือกที่จะร่วมทุนกับบริษัทด้าน Fintech ผ่านการจัดตั้ง Venture Capital เช่น Citi Ventures หรือ Santender InnoVentures เป็นต้น การอ้าแขนต้อนรับ Fintech นี้ ถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการรักษาธุรกิจของตน

จากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของธุรกิจ Fintech จึงเป็นสิ่งที่ธนาคารไทยในปัจจุบันควรให้ความสนใจและหาทางรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพราะผู้บริโภคจะเป็นศูนย์กลางที่สามารถเลือกใช้บริการทาง
การเงินในแต่ละประเภทจาก Fintech ผ่าน Application ในมือถือของตนได้โดยตรง

หากธนาคารไทยไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยี หรือควบรวมผสานบริการจาก Fintech มาไว้กับตนเองอาจจะทำให้ส่วนแบ่งในตลาดของตนหมดลงในที่สุด