แนะรัฐบาลแก้ปัญหาขยะล้นเมือง
นักวิชาการ เสนอรัฐ ให้ดึงชุมชนเข้ามาร่วมแก้ปัญหาขยะล้นเมืองของประเทศ
นักวิชาการ เสนอรัฐ ให้ดึงชุมชนเข้ามาร่วมแก้ปัญหาขยะล้นเมืองของประเทศ
เมื่อวันที่ 16 พ.ค. คณะอนุกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชุมชนเมือง ในคณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีพล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ สนช. พร้อมด้วยขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผอ.ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม วช. และกฤษณ์ธวัช นพนาคีพงศ์ รองเลขาธิการ คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ วช. ร่วมกันแถลงข่าวเพื่อเป็นข้อเสนอไปยังรัฐบาลในเรื่องแนวทางการจัดการขยะที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ขวัญฤดี ชี้ให้เห็นว่า ขณะนี้สถานการณ์ขยะของประเทศกำลังล้นเมือง เพราะทั้งประเทศมีปริมาณขยะต่อวันมากถึง 73,000ตันและยิ่งนับวันปริมาณขยะก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการที่รัฐไปเร่งสร้างโรงไฟฟ้าขยะนั้นตนขอถามว่าจะสามารถแก้ไขได้รวดเร็วหรือไม่ เพราะตนมองว่าถ้าต้องการสร้างโรงไฟฟ้าขยะก็สามารถทำได้แต่ไม่ควรรีบและยังไม่จำเป็น แต่ควรหันมาคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ชุมชนร่วมกันกำจัดขยะ ซึ่งขอเสนอว่าควรให้แต่ละชุมชนเข้าใจถึงการจัดการกับขยะโดยให้ช่วยกันแยกเป็นก้อนเชื้อเพลิงขยะขึ้นมาเพื่อส่งไปที่โรงปูนซีเมนต์ หรือโรงงานอุตสากรรมที่รองรับเพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งวิธีนี้ยังจะช่วยลดปัญหาขยะของประเทศได้รวดเร็ว รวมถึงยังลดมูลค่าการนำเข้าถ่านหินต่างประเทศได้อีกทางหนึ่งและจะทำให้สิ่งแวดล้อมแต่ละชุมชนดีขึ้นด้วย
ดังนั้นรัฐควรจะต้องลงไปให้ความรู้ ทำความเข้าใจเพื่อให้แต่ละท้องถิ่นตระหนักถึงเรื่องการนำขยะไปแปรรูปแทนเพื่อแก้ไขปัญหาขยะของประเทศในขณะนี้ เพราะการที่รัฐจะไปเร่งสร้างโรงไฟฟ้าขยะในตอนนี้ชาวบ้านก็ยังมีการต่อต้านอยู่จึงทำให้การแก้ปัญหาขยะยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นรัฐควรส่งเสริมให้ชาวบ้านร่วมกันจัดการเรื่องปัญหาขยะให้ถูกวิธี และนำไปเป็นเชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรมก่อนเพื่อแก้ปัญหาเรื่องขยะ และถ้าอนาคตจะทำเรื่องโรงไฟฟ้าขยะก็สามารถทำได้
พล.อ.นิพัทธ์ มองว่า การจัดการขยะถือว่าเป็นปัญหาระดับชาติเพราะที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญและได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ แต่เรื่องการจัดการขยะของประเทศถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายว่าจะเริ่มอย่างไรซึ่งเรื่องนี้มองว่าควรจะต้องทำให้ทุกคนมาช่วยกันออกแบบการดำเนินการใช้ชัดเจนแล้วนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาใช้ ซึ่งเรื่องเชื้อเพลิงขยะ (RDF) นี้ถือเป็นทางและทางออกที่ดีในการจัดการกับปัญหาขยะของประเทศได้ ซึ่งการดำเนินการเบื้องต้นรัฐควรให้ลงไปให้ความรู้ ความเข้าใจ ตระหนักกับสังคม ในเรื่องเชื้อเพลิงขยะนี้เพื่อให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการกำจัดขยะของประเทศ