มาร์คตั้งเป้าเงินเดือนขรก.เท่าเอกชน
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ได้ให้ความเห็นชอบ การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้เท่ากับเงินเดือนของเอกชน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เสนอ
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ได้ให้ความเห็นชอบ การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้เท่ากับเงินเดือนของเอกชน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เสนอ
ทั้งนี้ ก.พ.ได้เสนอเหตุผลว่า จากสภาพปัญหาปัจจุบัน การดึงดูดและรักษาคนเก่งคนดีในราชการลดน้อยถอยลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของภาคราชการต่ำกว่าภาคเอกชน การขาดความยืดหยุ่น และความหลากหลายของอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ ประกอบกับการเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนและขีดความสามารถในการสรรหาของสถานประกอบการขนาดใหญ่
ตามเป้าหมายของ ก.พ. ที่เสนอ ครม. ระบุว่า ให้ปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของภาคราชการให้ใกล้เคียงกับภาคเอกชนภายใน 5 ปี และนำระบบเงินเดือนแรกบรรจุที่ยืดหยุ่น หลากหลาย มาใช้กับข้าราชการพลเรือนสามัญภายในปีงบประมาณ 2554
แนวทางดำเนินการมีดังนี้ 1.เพิ่มความถี่ในการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ โดยระยะแรกที่อัตราเงินเดือนแรกบรรจุของภาคราชการยังต่ำกว่าภาคเอกชนมาก ให้สำนักงาน ก.พ. จัดทำข้อเสนอเพื่อปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุทุกปี และเมื่ออัตราเงินเดือนแรกบรรจุใกล้เคียงกันแล้วให้สำนักงาน ก.พ. ศึกษาเปรียบเทียบอัตราเงินเดือนแรกบรรจุระหว่างภาคราชการกับภาคเอกชน และหากเห็นสมควรปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ ก็ให้เสนอ ก.พ. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ทั้งนี้ให้สำนักงาน ก.พ. ประสานกับสำนักงบประมาณเพื่อจัดทำคำขอตั้งงบประมาณเพื่อการนี้ด้วย
2.ในชั้นต้นให้ปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุขั้นต่ำให้สูงขึ้น โดยลดช่องว่างระหว่างอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของภาคเอกชนและภาคราชการในแต่ละระดับวุฒิการศึกษาลงครึ่งหนึ่งของความแตกต่างเดิม (โดยเทียบกับข้อมูลการสำรวจของบริษัท ศูนย์กฎหมายธุรกิจอินเตอร์เนชั่นแนล รายงานผลการสำรวจค่าจ้าง เงินเดือน และสวัสดิการปี 2551 และแนวโน้มปี 2552)
3.กำหนดอัตราเงินเดือนแรกบรรจุเป็นช่วง โดยให้อัตราเงินเดือนแรกบรรจุขั้นต่ำและขั้นสูงมีช่วงกว้างไม่เกิน 10% ตามแนวทางข้อ 2
4.มอบอำนาจให้ส่วนราชการพิจารณาสั่งให้ผู้ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการได้รับเงินเดือนในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าอัตราเงินเดือนแรกบรรจุขั้นต่ำและไม่สูงกว่าอัตราเงินเดือนแรกบรรจุขั้นสูงตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ. กำหนด
5.ให้สำนักงาน ก.พ. ตรวจสอบและรายงาน ก.พ. ในกรณีที่ส่วนราชการกำหนดอัตราเงินเดือนแรกบรรจุไม่สอดคล้องกับแนวทางหลักเกณฑ์วิธีการที่ ก.พ. กำหนด เพื่อ ก.พ. จะได้พิจารณาสั่งระงับการให้อำนาจส่วนราชการพิจารณาสั่งให้ข้าราชการได้รับเงินเดือนสูงกว่าอัตราเงินเดือนแรกบรรจุขั้นต่ำ
6.ให้สำนักงาน ก.พ. นำเสนอ ก.พ. พิจารณาดังนี้ 1) ผลสำรวจอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของภาคราชการกับภาคเอกชนเป็นรายปี ในกรณีที่สำนักงาน ก.พ. เห็นควรให้ปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุก็ให้เสนอ ก.พ.พิจารณา 2) ผลการศึกษาการนำระบบเงินเดือนแรกบรรจุแบบช่วงมาใช้ในราชการ
ทั้งนี้ การปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อฐานเงินเดือนข้าราชการที่ได้รับเงินเดือนแรกบรรจุเดิมอาจเกิดความลักลั่น ดังนั้น ก.พ. จึงเสนอของบอีก 200 ล้านบาท เพื่อจ่ายชดเชยให้กับข้าราชการในตำแหน่งระดับแรกบรรจุ (เดิม) ด้วย โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2553