“สนธิรัตน์” ชี้ ต้องการเป็นความหวังของทุกคนเปรียบเป็นขั้วที่ 3 ทางการเมือง
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ หัวหน้าทีมนโยบายการเมือง เครือข่ายและทีมเศรษฐกิจ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดใจกับรายการ “คุยกับผมหน่อย โดยโพสต์ทูเดย์” ดำเนินรายการโดย ธรรศพงศ์ หิรัณย์ธนาคุณ ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหารโพสต์ทูเดย์
เหตุผลยุติพรรค สอท.
“วันที่เราตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) เราต้องการเป็นความหวังของทุกคนเปรียบเหมือนเป็นขั้วที่สามทางการเมือง ที่จะเป็นทางออกของประเทศไทย นั่นคือจุดเริ่มต้นการตั้งพรรค ต้องยอมรับว่าเดิมที่เราตั้งพรรค อยู่บนกติกาที่คาดว่าจะเป็นบัตรใบเดียว ซึ่งหลายพรรคตั้งขึ้นมาใหม่ก่อนหน้าเรา ก็ล้วนอยู่บนสมมติฐานตัวนี้ว่า การเลือกตั้งเป็นบัตรใบเดียว
เราต้องการเป็นทางออก ทางเลือกขั้วที่สาม เป็นพรรคที่พี่น้องประชาชนฝากความหวังไว้ได้ แต่เมื่อกติกาการเลือกตั้งเปลี่ยนไป ต้องยอมรับว่า มันเป็นความไม่ง่ายในกรณีบัตร 2 ใบ” สนธิรัตน์ เล่าถึงเหตุผลการยุติพรรคสร้างอนาคตไทย
พร้อมเปรีบบเทียบว่า เหมือนเรากำลังจะเล่นฟุตบอลแล้วกติกามันเปลี่ยนเราก็ต้องเปลี่ยนตัวผู้เล่น เปลี่ยนแทคติก เปลี่ยนวิธีการเล่น เราก็ปรับตัว การที่จะมาพรรคพลังประชารัฐ อุดมการณ์ไม่ได้เปลี่ยน
เมื่อพรรคพลังประชารัฐประกาศตัวมาคือ “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ไอ้ตัวนี้ คือ ตัวหนึ่งที่เป็นหลักการที่สอดรับกับหลักการเดิมของสร้างอนาคตไทย เพราะสร้างอนาคตไทยต้องการที่จะเป็นตัวที่จะไม่อยู่ในความขัดแย้ง
ถ้าจำได้ตั้งแต่พวกเราเปิดพรรคเราประกาศว่า ไม่ใช่ซ้ายไม่ใช่ขวา แต่เราจะเป็นพรรคที่ไม่เพิ่มความขัดแย้งให้กับบ้านเมืองดังนั้น เมื่อพรรคพลังประชารัฐ ได้เป็นพรรคที่ประกาศตัวชัดเจนว่า จะก้าวข้ามความขัดแย้ง จะนำประเทศไทยเดินหน้าอุดมการณ์เราไม่ได้เปลี่ยน เป็นอุดมการณ์เดียวกันเพียงแต่ว่าสอดรับกับกติกามากขึ้น
ไม่มีเจตนาทิ้งใคร
สนธิรัตน์ ยังเปิดใจถึงข้อครหาทิ้งพรรคสร้างอนาคตไทยว่า เราพยายามรวมพรรคมาหลายเดือน ไม่ใช่ว่าเพิ่งจะเกิดขึ้น การรวมพรรคสาเหตุหลักก็ย้อนกลับที่ผมเล่าว่าเมื่อกติกามันเปลี่ยน พรรคขนาดเล็กอยู่ยากบนกติกาบัตร 2 ใบ แต่การรวมพรรคยากมากๆ มันไม่ใช่เรื่องความโลเล เราก็อยากเห็นการรวมพรรคมันสมูทและจบ
แต่เวลาลงลึกในการรวมพรรคมันเหมือนต่างคนต่างมีบ้านคนละหลัง และมีสมาชิกในบ้านมีนโยบาย มีจุดขายมีอุดมการณ์ทางการเมือง เวลาจะเอาบ้านสองบ้านนี้มารวมกัน เป็นบ้านหลังเดียวมันดูเหมือนจะรวมกันได้ แต่บางทีในบางรายละเอียดก็ไม่สามารถที่จะลงกันได้ มีจุดยืนบางมุมที่มันรวมกันไม่ได้
แต่เมื่อไม่ได้ โดยที่เวลาที่เหลืออยู่นี้ เราก็อาจจะต้องเปลี่ยนเป้าหมายที่จะต้องเดินหน้าที่จะทำหน้าที่เรา เมื่อมันมีอุปสรรค เราจะไปสู่เป้าหมายได้ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการ เปลี่ยนรูปแบบ ดังนั้น เรียนว่าเราไม่ได้มีความโลเล การเข้าสู่พรรคพลังประชารัฐ ก็ยังมีเป้าหมายเดิม คือ ไปสู่การที่เรามีโอกาสที่จะทำการเมืองตามที่เราตั้งใจ
“เรื่องการทิ้งกัน มันเหมือนอย่างนี้ เวลาเราอยู่ด้วยกันในบ้านหลังนี้ เราก็ตกลงอยู่กันแบบนี้ แต่เมื่อเราย้ายไปอยู่บ้านหลังใหม่ สิ่งที่เราคุยกันในบ้านหลังนี้ คนทุกคนอาจจะมีห้องคนละห้องอยู่ได้ พอไปบ้านหลังใหม่ ห้องลดน้อยลงไป หรือ สภาพการนอนมันเปลี่ยนแปลงไป เราก็จะต้องเปลี่ยนสภาพไป ทีนี้บางคนที่อาจจะไม่พร้อม ก็เป็นส่วนหนึ่งที่อาจจะอยู่หรือไปด้วยกันไม่ได้ เราพยายามส่งทุกคน ใครที่ไปได้ ไปลงตัวกันได้ พื้นที่ไม่ทับซ้อนปัญหาไม่มีก็ทยอยกันเข้าไป
ท่านที่ไปไม่ได้ด้วยเหตุผลคือ ไม่อยากไป อย่างนี้เราก็พยายามที่จะดูว่าท่านจะเดินไปยังไงต่อ ผมคิดว่าเราแก้ปัญหาไปกว่า90% ปัญหาทั้งหมดที่เรามีอยู่ ผมใช้เวลามากกับการแก้ปัญหาสมาชิกของเรา
บรรดาว่าที่ผู้สมัครของเรา มีคนที่สมหวังบ้าง ไม่สมหวังบ้าง เพราะมันเกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องที่เราจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด คงไม่ได้มีเจตนาจะทิ้งใคร หรือ ไม่ทิ้งใคร แม้ตัวเราเองก็ต้องปรับตัว ทั้งผู้บริหารของพรรคทั้งหมด ก็ต้องปรับตัวเพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลง
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงกระทบทุกคน แต่ถ้าเรายึดอุดมการณ์และเป้าหมายเป็นตัวตั้ง เราก็ต้องปรับตัวตามสถานการณ์ต่อไปอันนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเราก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดครับในสิ่งเหล่านี้”
พปชร.ไม่เหมือนเดิม
สนธิรัตน์ กล่าวด้วยว่า พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) วันนี้ไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐในอดีต แต่เป็นพรรคพลังประชารัฐที่กำลังเป็นการระดมผู้คนเข้าไป อย่างเช่นที่ ท่าน พล.อ.ประวิตร ประกาศระดมผู้คนเข้ามาในการแก้ปัญหาชาติบ้านเมืองเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง อันนี้ก็เป็นการย้อนศรกับการเมืองไทยที่เรากำลังแตกเป็นพรรคต่างๆ ดึงตัวกันไปดึงตัวกันมาอย่างนี้
“เราเล่นการเมืองโดยไม่ได้เน้นทุนอยู่แล้ว ถ้าเราเล่นการเมืองโดยเน้นที่ทุน คงไม่ได้สร้างพรรคสร้างอนาคตไทย สร้างอนาคตไทยไม่มีภาพของการเป็นนายทุนที่ฟู่ฟ่า เพราะเราเป็นพรรคที่เกิดมาบนอุดมการณ์ เกิดมาเพื่อต้องการทำพรรคดีๆเกิดมาเพื่อต้องการสร้างนักการเมืองน้ำดี
ดังนั้น เรื่องทุนไม่ใช่ปัญหาของพรรคสร้างอนาคตไทย หลายคนบอกว่า ทุนหมด ถ้าเราทำการโดยที่ทุนเป็นตัวตั้ง นั่นก็แปลว่าเรากำลังเดินเอาการเมืองไปสู่อำนาจทุนนิยม และก็ไปสู่การที่ใช้ทุนเป็นตัวตั้งในการทำงานการเมือง ซึ่งไม่ใช่แนวทางการทำงานของพวกเราอยู่แล้ว”
บทบาทใน พปชร.
ส่วนบทบาทในพรรคพลังประชารัฐ สนธิรัตน์ อธิบายว่า ผมได้รับมอบหมายบทบาทแรกคือ ทีมเศรษฐกิจ ซึ่งอันนี้เป็นภาพลักษณ์ของทั้งผมและท่านอุตตม อยู่แล้ว เราก็ไปเป็นทีมเศรษฐกิจของพรรค พปชร. คำว่าทีมเศรษฐกิฐ เราไปช่วยกันทำ มีท่านมิ่งขวัญ มีอาจารย์นฤมล อยู่ จริงๆ มี ท่านวราเทพ ก็อยู่ในพรรคขณะนี้ มีท่านอุตตม มีทางผมเข้าไปสมทบ เรากำลังไปเตรียมเป็นทีมเศรษฐกิจของพรรค เราทำงานเป็นทีม
คำว่าเศรษฐกิจก็เช่นกัน มันไม่มีคำว่าคนใดคนหนึ่งเป็นกูรูเศรษฐกิจทุกเรื่อง อย่างผมก็มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของพลังงานผมมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของกระทรวงพาณิชย์ ที่เคยเป็นรัฐมนตรีมา เราเชี่ยวชาญในเรื่องของงานอุตสาหกรรมที่สัมพันธ์กันบางส่วนของภาคเกษตร นี่คือกรอบงานที่ผมจะลงลึกกับทางพรรค
ถ้าเราเอาแต่ละท่านที่มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญนั้นมาประกอบกัน พรรคพลังประชารัฐจะเป็นพรรคที่มีทีมเศรษฐกิจที่แข็งแรงมาก จะเริ่มมีคนพูดว่าพรรคนี้ทีมเศรษฐกิจถือว่าเป็นทีมที่น่ากลัวทีมหนึ่ง ในบรรดาพรรคการเมืองทุกพรรคการเมืองทุกพรรค
พรรคพลังประชารัฐถือเป็นพรรคขนาดใหญ่ ถือเป็นพรรคที่ต้องเรียกว่าเป็นพรรคระดับ TOP 5 ของวงการการเมือง เมื่อเขาไปแล้ว ผมได้รับมอบหมายเพิ่มเติมนอกจากเศรษฐกิจ คือ จะดูเรื่องของนโยบายการเมืองต่างๆ ในเรื่องของเครือข่ายการเมือง และส่วนหนึ่งผมก็ได้รับมอบมาดูพื้นที่ของการเลือกตั้ง เช่น ผมรับผิดชอบพื้นที่ภาคตะวันตกของพรรค อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งพรรคจะส่งผู้สมัครครบทั้ง 400 เขต
เป้าหมายของเรา แน่นอนคงจะต้องพยายามที่จะมีจำนวนเสียงให้มากที่สุดตามศักยภาพของพรรค ผมคิดว่าพรรคพลังประชารัฐน่าจะเป็นพรรคที่มีเสียงในระดับที่มากพอ จนเป็นตัวแปลทางการเมืองสำคัญหลังเลือกตั้ง
ยังไม่พูดถึงเก้าอี้รมต.
เมื่อถามว่าการกลับเข้า พปชร. มีการให้สัญญาเก้าอี้รัฐมนตรีหรือไม่ สนธิรัตน์ ตอบว่า ไม่มีการคุยกัน คิดว่ามันอยู่ที่พรรคประสบความสำเร็จเท่าไหร่ก่อน เวลาไปพูดถึงตำแหน่งต่างๆ เร็วเกินไปที่จะพูด ถ้าพรรคไม่ประสบความสำเร็จ มันก็ไม่ได้มีความหมายอะไรในการทำงาน ที่เราจะไปคุยถึงสิ่งเหล่านั้น
“ผมเชื่อว่าท่านหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค จะดูเป้าหมายการทำงานเป็นตัวตั้ง แล้วก็เดินหน้าให้พรรคประสบความสำเร็จที่สุดในการเลือกตั้ง หลังเลือกตั้งก็คงทำหน้าที่ถ้าได้รับบทบาทใด ถ้าเป็นฝ่ายค้านก็น่าจะเป็นฝ่ายค้านที่ดี ถ้าจะไปเป็นรัฐบาล จะเป็นรัฐบาลที่ดีทำยังไง อันนี้ขึ้นอยู่กับหัวหน้าพรรค คณะกรรมการบริหารพรรคที่จะต้องดูกันต่อไป” สนธิรัตน์ระบุ
ติดตามรายการ “คุยกับผมหน่อย โดยโพสต์ทูเดย์” ดำเนินรายการโดย ธรรศพงศ์ หิรัณย์ธนาคุณ ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหารโพสต์ทูเดย์ ได้ทุกวันพุธ เวลา 19.30 น. ทาง Facebook และ YouTube : Posttoday