posttoday

อ.ไข่ มาลีฮวนน่า ยื่นเพื่อไทยดันร่างกม.ตั้งสภาศิลปินคุ้มครองคนบันเทิง

09 มีนาคม 2566

“ไข่ มาลีฮวนน่า” นำสมาพันธ์คนบันเทิง ยื่นเพื่อไทยเสนอร่างกม.ตั้งสภาศิลปินคุ้มครองคนบันเทิง ขาดรายได้ช่วงโควิด-19 “ชลน่าน-ณัฐวุฒิ” มั่นใจนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟท์พาวเวอร์ แก้ปัญหาได้ในภาพรวม

นายคฑาวุธ ทองไทย หรือ อ.ไข่ มาลีฮวนน่า ศิลปินชื่อดัง และประธานสมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิงอาชีพแห่งประเทศไทย เข้ายื่นเรื่องต่อพรรคเพื่อไทย เสนอให้ผลักดัน พ.ร.บ.สภาศิลปะ ศิลปินและวัฒนธรรมแห่งชาติ เพื่อคุ้มครองสิทธิให้ศิลปินวิชาชีพและบุคลากรวงการบันเทิง โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย รับเรื่อง 

นายคฑาวุธ กล่าวว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา ศิลปินและกลุ่มคนในวงการบันเทิงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทำให้ขาดงานและรายได้เป็นเวลา จึงได้มีแนวคิดผลักดันเป็นกฎหมาย หรือมาตรการ เพื่อรองรับและคุ้มครองสิทธิ โดยร่างกฎหมายเป็นร่างเบื้องต้น โดยนำของนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ มาปรับแก้ และยื่นเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบรรจุเป็นระเบียบวาระ แต่ยังไม่มีพรรคการเมืองใดนำมาประกาศเป็นนโยบาย จึงนำเรื่องมาเสนอต่อพรรคเพื่อไทย 
 

ด้าน นพ.ชลน่าน เผยว่า ได้มีการร้องเรียนจากเครือข่ายศิลปินและคนบันเทิงตั้งแต่วาระเริ่มแรก เพราะมีสื่อมวลชนทำสกู๊ปเรื่อง ความเดือดร้อนของศิลปินในช่วงโรคระบาดไปเผยแพร่ในช่วงเริ่มต้นของวิกฤตโควิด จึงเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิด มีการแลกเปลี่ยนว่าควรมีมาตรการมารองรับให้คนในวงการบันเทิง เช่นตัวบทกฎหมาย

สำหรับ พ.ร.บ.สภาศิลปินฯ นั้น ประธานสภาฯ ให้ความเห็นว่า มีความเกี่ยวเนื่องกับหมวดที่ 5 เรื่องหน้าที่ของรัฐ สามารถให้ภาคประชาชนเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ เพื่อนำเสนอกฎหมายได้ พรรคเพื่อไทยเอง ได้นำเสนอนโยบายในภาพกว้าง คือ One Family One Soft Power 1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ สร้างงานที่มีทักษะสูง 20 ล้านครัวเรือน หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล จะมีการผลักดันนโยบายนี้ไปสู่การปฏิบัติเพื่อส่งเสริมอาชีพบันเทิงและคุ้มครองสิทธิ ด้วยการตราเป็นกฎหมาย พร้อมให้ความมั่นใจว่าพรรคพร้อมที่จะผลักดันเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา

ด้าน นายณัฐวุฒิ ให้กำลังใจพี่น้องคนบันเทิงและศิลปินโดยวิชาชีพเชื่อว่า จิตวิญญาณของศิลปินจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและอีกหลายภาคส่วน เพื่อให้เกิดเป็นบทบัญญัติกฎหมายของตัวเอง รวมถึงสภาวิชาชีพที่จะดูแลกันและกัน เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์และสถานะของคนทำงานศิลปะให้อยู่คู่สังคมไทยต่อไป