posttoday

ทีมเศรษฐกิจรายงานประยุทธ์ 2แบงก์สหรัฐล้ม กระทบในวงจำกัด

13 มีนาคม 2566

ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกรัฐบาลเผย หน่วยงานเศรษฐกิจรายงานนายกฯไม่มีธนาคารหรือสถาบันการเงินของไทยลงทุนหรือมีธุรกรรมเกี่ยวข้องกับธนาคารสหรัฐ 2 แห่ง ที่ประกาศปิดตัว เชื่อผลกระทบอยู่ในวงจำกัดไม่ลามไทย

 
กรณีธนาคาร 2 แห่งในสหรัฐฯ คือซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank : SVB) และ ซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) ปิดตัวลงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งส่งผลกระทบจนทำให้เกิดความผันผวนในตลาดเงิน ตลาดทุนทั่วโลก 

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการด่วนโดยได้มอบหมายให้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวใกล้ชิด พร้อมประเมินว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหรือไม่  

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจได้รายงานให้นายกฯ รับทราบว่า ไม่มีธนาคารหรือสถาบันการเงินของไทยมีการลงทุนหรือมีธุรกรรมเกี่ยวข้องกับธนาคารที่มีปัญหาทั้ง 2 แห่ง 

พร้อมกันนี้ยังได้ประเมินว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินในสหรัฐฯ น่าจะอยู่ในวงที่จำกัด เนื่องจากทั้ง 2 แห่งมีการทำธุรกิจที่มีความเฉพาะ ไม่ได้มีการบริการแบบกว้างขวางเหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ขณะเดียวกันทางการสหรัฐฯ ได้เข้าการเข้าดำเนินการ ทั้งนี้เพื่อช่วยดูแลปัญหาที่รวดเร็วมากขึ้น

สำหรับฐานะของสถาบันการเงินไทยในปัจจุบันนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กำกับด้วยมาตรฐานที่เข้มงวด ผ่านมาตรการการกำกับระบบสถาบันการเงินของไทย ที่มีการปรับปรุงให้ดูแลความเสี่ยงอย่างรอบด้าน รัดกุม มาตั้งแต่หลังวิกฤตปี 2540 

ดังนั้นจึงทำให้ในรอบ 20 กว่าปีที่ผ่านมา แม้มีวิกฤตการเงินโลกหลายครั้ง รวมถึงวิกฤตโควิด19 แต่สถาบันการเงินของไทยทั้งธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐยังสามารถสนับสนุนเศรษฐกิจไทยได้ด้วยฐานะที่แข็งแกร่ง

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก ธปท. ระบุว่า ณ สิ้นปี 2565 ธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งระบบ มีเครื่องชี้ฐานะทางการเงินในระดับสูง ดังนี้

  • เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) อยู่ที่ 19.4% 
  • สภาพคล่อง (Liquidity Coverage ratio : LCR) สูงถึง 197.3%  
  • หนี้ด้อยคุณภาพ(NPL) ในระดับต่ำที่ 2.73% 
  • ขณะที่เงินสำรองต่อหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL Coverage ratio) สูงถึง 171.9% 
  • การให้สินเชื่อ และรับเงินฝากในภาพรวมมีการกระจายตัว ไม่กระจุกตัวในลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีระบบการดูแลผู้ฝากเงินที่เข็มแข็งด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ที่ปัจจุบันกองทุนคุ้มครองเงินฝากมีจำนวน 1.34 แสนล้านบาท คุ้มครองเงินฝาก 1 ล้านบาทต่อราย ซึ่งกองทุน ณ ปัจจุบันสามารถครอบคลุมผู้ฝากกว่าร้อยละ 98% ซึ่งเป็นผู้ฝากส่วนใหญ่ของประเทศ