posttoday

ศาลปกครองกลางนัดพิพากษาคดีเพิกถอนโฉนดที่ดิน"เขากระโดง"30มี.ค.66

22 มีนาคม 2566

ศาลปกครองกลาง พิจารณาคดีเพิกถอนโฉนดที่ดิน "เขากระโดง" ตุลาการชี้2ประเด็น "กรมที่ดิน" ละเลยหน้าที่-ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า ในการตรวจสอบเอกสารสิทธิออกทับที่ดิน แต่การรถไฟฯยังไม่เกิดความเสียหายทางละเมิด ส่วนปมเสียโอกาสได้ค่าเช่าเป็นเรื่องคาดการณ์ในอนาคต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 เมื่อเวลา 10.00 น. ศาลปกครองกลาง ได้นั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 ระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้ฟ้องคดี) กับ กรมที่ดิน ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ในคดีพิพาท เกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง (คดีที่ดินเขากระโดง) 

ในการนั่งพิจารณาคดีของศาลฯ ทั้ง รฟท. (ผู้ฟ้องคดี) และกรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ได้ส่งคำแถลงเป็นหนังสือต่อศาลฯ และไม่ประสงค์แถลงเป็นวาจา ขณะที่ตุลาการผู้แถลงคดี ได้แสดงความเห็น ในคดีที่ดินเขากระโดงต่อองค์คณะฯ ใน 2 ประเด็น สรุปความได้ว่า

ประเด็นแรก กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน ละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร กรณีไม่แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์บริเวณแยกเขากระโดงที่เป็นการเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินของ รฟท. หรือไม่

ทั้งนี้ ตุลาการผู้แถลงคดี เห็นว่า กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดิน ละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า เนื่องจากมีคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ภาค 3 ปรากฎแจ้งชัดว่า ที่ดินบริเวณแยกเขาโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ เป็นที่ดินของ รฟท. และแม้ว่า คำพิพากษาของศาลฯ ดังกล่าว จะมีผลผูกพันเฉพาะคู่ความ แต่เนื่องที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง เป็นที่ดินของ รฟท. กรมที่ดิน ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องที่ดินของรัฐ จึงต้องตรวจสอบว่า มีการออกเอกสารสิทธิทับที่ดินของ รฟท.หรือไม่

ประเด็นที่สอง กรมที่ดินต้องชดใช้ค่าเสียหายในทางละเมิดให้แก่ รฟท. หรือไม่ 

ตุลาการผู้แถลงคดี เห็นว่า แม้ว่าตุลาการผู้แถลงคดีจะเห็นว่า กรมที่ดิน ละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า กรณีไม่ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามมาตรา 61 วรรคสอง แต่เนื่องจากปัจจุบัน รฟท. ยังไม่ได้เข้าไปใช้ประโยชน์ ในที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง ดังนั้น รฟท. จึงยังไม่ได้รับความเสียหายในทางละเมิด ส่วนกรณีที่ รฟท.อ้างว่า จะได้รับค่าเช่าจากให้เช่าที่ดิน บริเวณแยกเขากระโดงนั้น เป็นเพียงการคาดการณ์ ในอนาคตเท่านั้น

ตุลาการผู้แถลงคดี จึงมีความเห็นว่า กรมที่ดิน โดยอธิบดีกรมที่ดิน จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับตั้งแต่คดีถึงที่สุด ส่วนคำขออื่นให้ยก

ทั้งนี้ หลังจากตุลาการฯ ได้แถลงความเห็นเสร็จสิ้นแล้ว ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ ในวันที่ 30 มี.ค. 66 เวลา 10.00 น.

 

รายงานระบุว่า สำหรับ มาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน บัญญัติว่า “เมื่อความปรากฏว่าได้ออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือได้จดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ ให้แก่ผู้ใดโดยคลาดเคลื่อน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดี มอบหมายซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิบดี หรือผู้ตรวจราชการกรมที่ดิน มีอำนาจหน้าที่สั่งเพิกถอนหรือแก้ไขได้

ก่อนที่จะดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีหรือ ผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายตามวรรคหนึ่ง ตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีอำนาจเรียกโฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารที่ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เอกสารที่ได้จดแจ้งรายการทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ หรือเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบ เพื่อให้โอกาสคัดค้าน ถ้าไม่คัดค้านภายในกำหนดสามสิบวัน (30) นับแต่วันที่ได้รับแจ้งให้ถือว่าไม่มีการคัดค้าน

คณะกรรมการสอบสวนการออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกโดย คลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างน้อยต้องมีเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง และตัวแทนคณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นที่ ที่ดินนั้นตั้งอยู่เป็นกรรมการ

การสอบสวนตามวรรคสอง ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ และส่งให้อธิบดี หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ตามวรรคหนึ่งภายในกำหนดหกสิบ (60) วันนับแต่วันที่ได้มีคําสั่งให้ทําการสอบสวน ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวน ไม่สามารถดําเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในกําหนดเวลาดังกล่าว ให้คณะกรรมการสอบสวน รายงานเหตุที่ทําให้การสอบสวนไม่แล้วเสร็จต่ออธิบดี หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ตามวรรคหนึ่ง เพื่อขอขยาย ระยะเวลาการสอบสวน โดยให้อธิบดี หรือผู้ซึ่งอธิบดี มอบหมายตามวรรคหนึ่ง สั่งขยายระยะเวลาดําเนินการได้ตามความจําเป็นแต่ไม่เกินหกสิบ (60) วัน

ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายตามวรรคหนึ่ง พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสิบห้า (15) วัน นับแต่ได้รับรายงานการสอบสวน จากคณะกรรมการสอบสวนตามวรรคสี่ เมื่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายตามวรรคหนึ่ง พิจารณาประการใดแล้วก็ให้ดําเนินการไปตามนั้น…”

สำหรับคดีนี้ เมื่อเดือน ธ.ค. 64 รฟท. ได้ยื่นฟ้องกรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และอธิบดีกรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ต่อศาลปกครองกลาง กรณีไม่ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ที่ออกทับที่ดินรถไฟฯ "เขากระโดง" โดย รฟท.บรรยายฟ้องว่า เดิมที รฟท. ได้ถูกประชาชน ที่อาศัยครอบครองที่ดินบริเวณเขากระโดง ฟ้องร้อง เนื่องจาก รฟท. ได้ยื่นคัดค้านการออกเอกสารสิทธิ์ ที่ดินบริเวณพื้นที่ทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์

ต่อมาคดีถึงที่สุดในชั้นศาลฎีกา โดยศาลฎีกามีคำวินิจฉัย ในคดีหมายเลขแดงที่ 842-876/2560 และคดีหมายเลขแดงที่ 8027/2561 ในทำนองเดียวกันว่า ที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375+650 และเส้นทางรถไฟ ที่เข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดง และบ้านตะโก ซึ่งเป็นแหล่งวัสดุสำหรับการก่อสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมาอุบลราชธานี

และเป็นที่ดินตามแผนที่ แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดิน สายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375+650 นั้น เป็นที่ดินของ รฟท. ซึ่งหวงห้ามมิให้ประชาชน เข้ายึดถือหรือครอบครอง รวมทั้งห้ามโต้แย้งสิทธิใด ๆ ดังนั้น รฟท.จึงเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง ต.เขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เนื้อที่รวม 5,083 ไร่ 80 ตารางวา

ต่อมา รฟท. ได้เข้าไปสำรวจที่ดิน บริเวณแยกเขากระโดง และพบว่า ที่ดินบริเวณส่วนกิโลเมตรที่ 4+540 ถึงกิโลเมตรที่ 8+000 มีชาวบ้านเข้ามาปลูกที่อยู่อาศัย และบางส่วนได้จัดทำเป็นสนามฟุตบอล และสนามแข่งรถ รวมทั้งมีหน่วยงานของรัฐ ได้มีการขอเอกสารสิทธิ์ เช่น โฉนดที่ดิน โดยปัจจุบัน กรมที่ดิน มีการออกเอกสารสิทธิ์ให้กับประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ในที่ดินของ รฟท. บริเวณแยกเขากระโดงเต็มพื้นที่เป็นจำนวน 4,150 ไร่ 47 ตารางวา จากที่ดินทั้งหมด 5,083 ไร่ 80 ตารางวา

ทั้งนี้ รฟท. เข้าไปตรวจสอบเอกสารทางทะเบียน พร้อมคัดถ่ายจากสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ แต่ปรากฏว่า รฟท. สามารถคัดถ่ายเอกสารสิทธิ์มาได้เบื้องต้น 497 แปลง เท่านั้น จากเอกสารสิทธิ์ที่เป็นโฉนดที่ดินทั้งหมดที่มีประมาณ 850 แปลง ซึ่งส่วนที่เหลือทั้งหมดยังอยู่ในความครอบครองของสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์

ต่อมาวันที่ 23 มิ.ย. 64 รฟท. ได้มีหนังสือถึงกรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน โดยขอให้กรมที่ดินดำเนินการตรวจสอบที่ดินบริเวณพื้นที่ทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ เนื่องจากพบว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนที่ดินของ รฟท. และศาลยุติธรรมเองได้มีการวินิจฉัยรับรองว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของ รฟท. ทั้งหมด

นอกจากนี้ รฟท. ยังขอให้ กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน ดำเนินการสอบสวนและเพิกถอนหรือแก้ไขคำสั่งหรือหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดิน ตามนัยมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินโดยเร็ว และอย่างช้าจะต้องดำเนินการเพิกถอนหรือแก้ไขคำสั่งหรือหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินแล้วเสร็จไม่เกิน 90 วันนับแต่วันที่ รฟท. ได้รับหนังสือ

อย่างไรก็ตาม หลังจากอธิบดีกรมที่ดิน ได้รับหนังสือของ รฟท. เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 64 แล้ว อธิบดีกรมที่ดิน ไม่ได้มีการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ เพื่อให้ รฟท. เข้าไปแสดงพยานหลักฐานว่า เป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณเขากระโดง แต่อย่างใด แต่กลับมีคำสั่งให้ รฟท. นำส่ง 'แผนที่กรรมสิทธิ์' และ 'นำครอบแผนที่ในระวางที่ดิน' ซึ่งเป็นคำสั่งที่ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมาย เนื่องจาก อธิบดีกรมที่ดิน ไม่มีอำนาจในการออกคำสั่งดังกล่าว ตามนัยประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 วรรคสอง

อีกทั้งเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 64 รฟท.ได้ชี้แจงและมีหนังสือเร่งรัดไปยังอธิบดีกรมที่ดิน พร้อมนำส่งเอกสารหลักฐานเพื่อแสดงถึงกรรมสิทธิ์ของ รฟท. โดยชัดแจ้ง และเพียงพอที่จะให้อธิบดีกรมที่ดินได้ทราบข้อเท็จจริง เพื่อให้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับหนังสือเร่งรัดฯ แต่ปรากฏว่า เมื่อครบกำหนด กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดิน กลับเพิกเฉยเช่นเดิม และยังมีหนังสือปฏิเสธที่จะดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟฯ ตามที่ รฟท.ขอให้ดำเนินการอีก

จากพฤติการณ์ที่กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน ได้ทำการออกหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินทับที่ดินบริเวณแยกเขากระโดงของ รฟท. ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอำเภอเมืองและมีความเจริญโดยรอบ ทำให้ รฟท.ไม่สามารถเข้าครอบครองหรือนำออกให้เช่าหาประโยชน์ได้แต่อย่างใด ทั้งๆที่กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดินก็ทราบข้อเท็จจริงมาโดยตลอด ทำให้ รฟท. ขาดประโยชน์หรือเข้าครอบครองเพื่อหาประโยชน์ ซึ่งเกิดความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อมในเชิงกรรมสิทธิ์และเชิงพาณิชย์ เป็นเงินได้ปีละ 707,638,320 ล้านบาท (4,150 ไร่ 47 ตารางวา (1,660,187.50 ตาราง) x 2.75% ของราคาประเมิน 15,500 บาท/ตารางวา)


ดังนั้น รฟท.จึงมีความประสงค์ขอให้ศาลพิพากษาบังคับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ดังต่อไปนี้ 

1.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน) ตามหนังสือเลขที่ มท 0516.2/3025 ลงวันที่ 13 ส.ค.2564 เรื่องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย

2.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน) ตามหนังสือเลขที่ มท 0516.2/3539 ลงวันที่ 27 ก.ย.2564 เรื่องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย

3.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน) ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อทำการสอบข้อเท็จจริงในการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีพื้นที่ บริเวณทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ โดยมิชอบ ตามหนังสือเลขที่ รฟ.1/1911/2564 เรื่องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับลงวันที่ 23 มิ.ย.2564 ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

4.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน) ร่วมกันเพิกถอนคำสั่งออกเอกสารสิทธิ์ที่ออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี พื้นที่บริเวณทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกเอกสารโดยมิชอบ ซึ่งเป็นการคลาดเคลื่อน ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดในพื้นที่ของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว และขับไล่ผู้ครอบครองและถือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของ ผู้ฟ้องคดีทั้งหมด

5.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี เป็นเงินค่าเสียหาย 707,638,320 บาท กับชดใช้ค่าเสียหายอีกเดือนละ 58,969,860 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะมีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์