'ชูวิทย์'ร้องลบชื่อ'ษิทรา'พ้นอาชีพทนายความ
“ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” ร้องสภาทนายความ สอบมรรยาท “ทนายษิทรา” ขอลบชื่อ-เพิกถอนใบอนุญาต ชี้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวโจมตี ทำผิดข้อบังคับ
เมื่อวันที่ 10 เม.ย.66 ที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อสภาทนายความ พร้อมยื่นหนังสือให้สอบมรรยาทนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้มเนื่องจากมีพฤติกรรมหลายอย่างที่เข้าข่ายผิดต่อมรรยาททนายความ โดยมีนายวัชระ สุคนธ์ กรรมการมรรยาททนายความและนายสมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายเป็นผู้รับเรื่อง
นายชูวิทย์ กล่าวถึง กรณีที่ทนายตั้มตั้งโต๊ะแถลงข่าวโจมตี ซึ่งไม่ได้รู้จักกัน ไม่ได้เป็นคู่ความ จึงไม่รู้ว่าอีกฝ่ายมีวัตถุประสงค์ใด ไม่เข้าใจว่ากล่าวหาโจมตี ประจานตัวเองและลูกชาย อีกทั้งใช้สื่อออนไลน์กล่าวโจมตีมาตลอด วันนี้จึงนำหนังสือมาร้องเรียนต่อนายกสภาทนายความ ให้ตรวจสอบว่า ทนายษิทราฝ่าฝืนข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยเรื่องมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 หมวด 4 หรือไม่ และขอให้ลบชื่อออกเพิกถอน ใบประกอบวิชาชีพ เพื่อเป็นตัวอย่าง บนพื้นฐานจริยธรรมและศีลธรรมอันดี
นายชูวิทย์ กล่าวว่า จากกรณีที่ปัจจุบันมีทนายความหลายคนที่ให้ข้อมูลทางโซเชียล แต่ไม่ครบถ้วน จึงต้องการปราบแก๊งทนายโซเชียล มองว่าเป็นอันตรายต่อประชาชน มองว่าเป็นการโฆษณา เรียกราคา ซึ่งอาชีพทนายความควรพิสูจน์ฝีมือว่าความไม่ใช่การพูดผ่านโซเชียลให้ประชาชนหลงเชื่อ ถูกหลอก ด้วยข้อมูลไม่ครบถ้วนหรือข้อมูลผิดๆ
ด้านนายสมพร เปิดเผยว่า หลายครั้งหลายคราวที่ทนายตั้มแถลงข่าวออกสื่อ ส่วนตัวก็เห็นว่าไม่สมควร เข้าข่ายผิดมรรยาททนายความ ซึ่งต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาต่อไป ขณะที่ทนายความคนอื่นก็ต้องวางตัวให้เหมาะสมเช่นกัน สำหรับการพิจารณาลงโทษทนายความที่ทำผิดมรรยาททนายความ มี 4 ระดับ คือว่ากล่าวตักเตือน , ภาคทัณฑ์ , พักใบอนุญาต ไม่เกิน 3 ปี และโทษหนักสุดคือลบชื่อออกจากการเป็นทนายความ ส่วนการว่ากล่าวตักเตือน และภาคทัณฑ์ นั้นยังสามารถว่าความได้ แต่ความผิดที่ถูกพักใบอนุญาตและลบชื่อออกจะเป็นทนายความนั้น ห้ามว่าความโดยเด็ดขาด
นายวัชระ กล่าว่า จะนำหลักฐานไปตรวจสอบโดยจะตั้งเป็นรูปแบบคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งที่ผ่านมาทนายษิทราเคยถูกร้องเรียนการทำหน้าที่ของทนายมากกว่า 12 เรื่อง บางเรื่องอยู่ระหว่างตรวจสอบและบางเรื่องคณะกรรมการยกคำร้องไป
สำหรับทนายความถูกลบชื่อออกจากการเป็นทนายความ ทนายความผู้ถูกร้องยังมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ไปยังรัฐมนตรีว่าการยุติธรรม เพื่ออุทธรณ์คำสั่งของสภาทนายความ หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมยังมีความเห็นเหมือนเช่นเดียวกับสภาทนายความ ก็ยังสามารถฟ้องศาลปกครอง เพื่อพิจารณาต่อไป และหากครบกำหนด 5 ปี ที่ถูกลบชื่อออกจากการไปทนายความ สามารถยื่นเรื่องขอเป็นทนายความกับสภาทนายความได้ แต่คณะกรรมการจะพิจารณาว่าสมควรจะให้กลับมาเป็นทนายความได้อีกหรือไม่อย่างไร
อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถมาร้องที่สภาทนายความได้ หากพบทนายความที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายผิดมรรยาททนายความ สภาทนายความพร้อมจะดำเนินการตรวจสอบทันที