posttoday

ตั้งรัฐบาล66: "สุชาติ"จวก"ก้าวไกล"หยุดดราม่า หวั่นตั้งรัฐบาลล่าช้า

27 พฤษภาคม 2566

หัวจะปวด! 'สุชาติ ตันเจริญ' จวก 3 วาระ 'ก้าวไกล'ทำสังคมเข้าใจผิด ยันประธานสภาฯมีอำนาจหน้าที่ตามกรอบรัฐธรรมนูญ หวั่นดราม่าชิงเก้าอี้ทำตั้งรัฐบาลล่าช้า

นายสุชาติ ตันเจริญ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ในสภาฯชุดที่ผ่านมา กล่าวถึงกรณีที่ พรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์ถึง 3 วาระสำคัญซึ่งเป็นเหตุผลความจำเป็นที่ต้องเสนอบุคคลจากพรรคก้าวไกลในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลขึ้นดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร 

โดยพาดพิงการทำงานของสภาฯชุดที่ผ่านมาที่ทำให้ประชาชนเข้าใจว่า การทำหน้าที่ของประธานสภาฯมีส่วนทำให้ร่างกฎหมายจำนวนมากตกไป ตลอดจนการทำงานของสภาฯไม่มีประสิทธิภาพ และมีความไม่โปร่งใสนั้นว่า แถลงการณ์ของพรรคก้าวไกล และคำให้สัมภาษณ์ของแกนนำพรรคก้าวไกล ซึ่งก็เป็นอดีต ส.ส.ในสภาฯชุดที่ผ่านมา อาจทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดได้ว่า ประธานสภาฯ และนายกรัฐมนตรี สามารถใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับการตรากฎหมายยิ่งกว่าเจตจำนงของ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชนทั้งสภาฯ และอาจทำให้ผู้ได้รับข้อมูลเกิดความเข้าใจในทางที่เสียหายต่อผู้ที่ทำหน้าที่ประธานสภาฯ ชุดที่แล้ว 

นอกจากนั้น การอ้างว่าเป็นประเพณีที่พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ในสภาฯ จะได้รับตำแหน่งประธานสภาฯด้วย ก็ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงเสียทีเดียว เพราะหากย้อนดูประวัติศาสตร์ก็จะพบว่า มีหลายครั้งที่ประธานสภาฯ ก็ไม่ได้มาจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส.มากที่สุด

“ที่ผ่านมาทุกสมัย ประธานสภาฯจะมาจากการเลือกของเพื่อน ส.ส.ในสภาฯ ไม่ใช่พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นผู้เลือก และการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภาฯ จะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลางตามกรอบที่รัฐธรรมนูญ ตลอดจนข้อบังคับการประชุมสภาฯกำหนด จะไปใช้อำนาจหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคการเมืองพรรคใดไม่ได้ แม้จะเป็นพรรคการเมืองที่ตนสังกัดอยู่ก็ตาม” นายสุชาติ กล่าว

การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ต่างๆรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ถ้าเป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงินต้องให้นายกฯในฐานะฝ่ายบริหารรับรองเสียก่อน จึงจะเสนอได้ เพราะมีผลผูกพันกับการหารายได้ และการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน แต่ถ้าเป็นที่สงสัยว่าร่าง พ.ร.บ.ใดจะเกี่ยวกับการเงินหรือไม่ ก็เป็นการตัดสินใจร่วมกันของที่ประชุมประธานคณะกรรมาธิการในสภาฯทั้ง 35 คณะ ซึ่งมีจำนวนตามสัดส่วนของพรรคการเมืองในสภาฯ โดยประธานสภาฯ ไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยโดยพลการ การกล่าวว่า ประธานสภาฯ และนายกฯมีอำนาจในการใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับการตรากฎหมายยิ่งกว่าเจตจำนงของ ส.ส. จึงไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง

ประธานสภาฯไม่มีอำนาจเหนือรธน.

ส่วนการบรรจุการประชุมสภาฯ รวมถึงวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ต่างๆนั้น นายสุชาติ กล่าวว่า ประธานสภาฯไม่มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุมสภาฯ การจะบรรจุร่าง พ.ร.บ.ของพรรคที่ตนเองสังกัดก็ต้องบรรจุตามลำดับ ประธานสภาฯ ไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือกบรรจุตามอำเภอใจได้ และไม่มีสิทธิ์ที่จะเลื่อนร่าง พ.ร.บ.ที่บรรจุไปแล้วขึ้นมาพิจารณา ซึ่งเป็นเรื่องของที่ประชุมสภาฯต้องตกลงกัน นอกจากนั้นการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือตราร่าง พ.ร.บ.จะสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการลงมติของ ส.ส.ในสภาฯ ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ที่ใครจะไปควบคุมบังคับไม่ได้ แม้แต่พรรคการเมืองที่ ส.ส.ผู้นั้นสังกัด ดังนั้น ประธานสภาฯ ไม่ได้มีอำนาจ หรือบทบาทที่จะชี้นำที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ หรือทำให้ร่าง พ.ร.บ.ใดผ่าน หรือตกไป

“ประธานสภาฯ ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของ ส.ส. ที่จะชี้นำการลงมติของ ส.ส.ได้ เพราะ ส.ส.ทุกท่านล้วนเป็นผู้มีวุฒิภาวะ และมีเอกสิทธิ์ในการทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนราษฎรอย่างอิสระเท่าเทียมกันทุกคน ส่วนการบรรจุเรื่องต่างๆเข้าระเบียบวาระการประชุม ก็ต้องบรรจุไปเป็นตามลำดับก่อนหลัง และการกำหนดวันประชุม หรือการจะให้ใครเป็นผู้อภิปราย ก็ต้องเป็นไปตามลำดับ หรือตามที่วิป (คณะกรรมการประสานงาน) ซึ่งเป็นตัวแทนของแต่ละพรรคการเมืองร่วมกันกำหนด และต้องเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาฯด้วย” นายสุชาติ กล่าว

ยันสภาฯโปร่งใส

ขณะที่วาระของพรรคก้าวไกลที่ต้องการทำให้สภาฯมีความโปร่งใส เปิดเผย ตรวจสอบได้ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนว่า ในสภาฯชุดที่ผ่านมา การประชุมสภาฯ จะมีการถ่ายทอดสดการประชุมทุกครั้งทางสถานีวิทยุรัฐสภาคลื่น FM 87.5 เมกกะเฮิร์ต และถ่ายทอดทางโทรทัศน์รัฐสภา TPTV ช่อง 10 รวมทั้งผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆตลอด 4 ปีที่มีการประชุมสภาฯ ซึ่งก็ทราบว่ามีประชาชนสนใจติดตามเป็นจำนวนมาก

ส่วนการประชุมของคณะกรรมาธิการนั้น เนื่องจากเป็นการพิจารณามีรายละเอียด และมีหน่วยงานจำนวนมากมาให้ข้อมูล จะมีทั้งข้อมูลที่เปิดเผยได้ และเปิดเผยไม่ได้ เช่น ข้อมูลที่อาจกระทบกระเทือนถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้เป็นความลับเสมอไป เพราะข้อบังคับการประชุมสภาฯ กำหนดให้คณะกรรมาธิการที่ประชุมอยู่นั้น สามารถมีมติให้เปิดเผยการประชุมได้ ดังนั้นการประชุมคณะกรรมาธิการใดจะเป็นการลับ หรือเป็นการเปิดเผยจึงขึ้นอยู่กับมติของสมาชิกคณะกรรมาธิการนั้นเองว่าจะให้เปิดเผยหรือไม่ โดยคำนึงถึงความละเอียดอ่อนของข้อมูลที่พิจารณาเป็นสำคัญ

อีกทั้ง วาระของพรรคก้าวไกลในส่วนของการส่งเสริมการทำงานของสำนักงบประมาณรัฐสภา และการจัดตั้งสภาเยาวชนด้วยว่า ทั้ง 2 เรื่อง สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้มีการศึกษา และเตรียมการมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยได้ยกระดับหน่วยงานจัดทำงบประมาณขึ้นเป็นหน่วยงานระดับสำนักในปัจจุบัน และให้ความสำคัญและสนับสนุนงบประมาณ การฝึกอบรม และบุคลากรให้กับการทำงานของหน่วยงานนี้อย่างต่อเนื่อง ส่วนแนวคิดการจัดตั้งสภาเยาวชนนั้นก็มีการส่งเสริมการมีส่วนของเยาวชนตลอดมา แต่การเสนอให้ตั้งสภาเยาวชน และรัฐสภาต้องนำวาระที่สภาเยาวชนลงมติเห็นชอบ บรรจุเป็นวาระที่รัฐสภาต้องรับไปพิจารณาต่อโดยอัตโนมัตินั้น ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองใดจะกระทำได้โดยลำพัง แต่เป็นเรื่องที่จะต้องจัดทำเป็น พ.ร.บ. ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือและความเห็นชอบด้วยของสภาฯ และวุฒิสภา

"ประธานสภาฯ"เลือกโดย ส.ส.ในสภาฯ

เมื่อถามว่า ตามกระแสข่าวหากพรรคเพื่อไทยได้โควตาประธานสภาฯจริง นายสุชาติ เองก็อาจได้รับการเสนอชื่อให้ขึ้นดำรงตำแหน่งด้วย เรื่องนี้ นายสุชาติ กล่าวว่า อย่างที่เรียนข้างต้น การลงมติเลือกผู้ทำหน้าที่ประธานสภาฯไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่เป็นการลงมติร่วมกันของ ส.ส.ทั้งสภาฯ ทั้งรัฐบาล และฝ่ายค้าน จึงเป็นเรื่องที่ที่ประชุมสภาฯจะพิจารณาร่วมกัน ส่วนตัวไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่งใดๆ และไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นอุปสรรคที่อาจทำให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไป เพราะปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนรอไม่ได้ เช่นเดียวกับสภาฯที่ไม่ใช่เพียงฝ่ายนิติบัญญัติตราร่าง พ.ร.บ. แต่ยังเป็นพื้นที่ในการถกเถียงแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน หากได้เริ่มทำหน้าที่เร็วเท่าไรก็จะยิ่งเป็นประโยชน์กับประชาชน จึงอยากฝากไปถึงให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ให้เร่งพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง เพื่อให้สภาฯเดินหน้าการทำงานได้โดยเร็ว

“เข้าใจว่า ขณะนี้มีความพยายามในการแย่งชิงตำแหน่งประธานสภาฯกันระหว่างพรรคอันดับ 1 และอันดับ 2 ซึ่งเป็นเรื่องการเจรจาต่อรองกันทางการเมืองที่เจรจากันเป็นการภายใน และ พรรคก้าวไกล เองก็มีอดีต ส.ส.ร่วมทำหน้าที่ในสภาฯชุดที่แล้วหลายท่าน การกล่าวหาสภาฯในทางเสียหาย ก็เหมือนกับตำหนิการทำหน้าที่ของตัวเองด้วย จึงอยากให้ระมัดระวังการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสภาฯ หรืออำนาจหน้าที่ของประธานสภาฯ ส่วนตัวผมก็มีคนเชียร์ว่า จะเสนอชื่อเป็นประธานสภาฯ ในสภาฯชุดนี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับพรรคที่จะเสนอชื่อใคร และก็ต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมสภาฯด้วยว่า จะลงมติเลือกหรือไม่ แต่สาระสำคัญไม่ใช่อยู่ใครได้เป็นประธานสภาฯ เพราะความสำคัญอยู่ที่การที่สภาฯได้เริ่มทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมาได้เมื่อใดมากกว่า”นายสุชาติ กล่าว