กลุ่ม24มิถุนาฯค้านศาลรธน.ถกสถานภาพส.ส.พิธา-ก้าวไกลล้มล้างการปกครอง
กลุ่ม24มิถุนาฯคัดค้านศาลรัฐธรรมนูญถกปมสมาชิกภาพส.ส.พิธา และยุบก้าวไกลข้อหาล้มล้างการปกครอง สมยศ อัดกกต.มีพฤติกรรมเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย
ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อเวลา 11.00น. กลุ่ม 24 มิถุนาเพื่อประชาธิปไตย นำโดย นายสมยศ พฤษกษาเกษมสุข นางสาว ธนพร วิจันทร์ หรือ ไหม เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนเเละคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.)เพื่อคัดค้านกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัย สมาชิกภาพ สส.ของพิธา สิ้นสุดลง ตามมาตรา 82 และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องแก้ไขมาตรา112 ของพรรคก้าวไกลเป็นการล้มล้างการปกครอง ซึ่งจะมีการพิจารณาในวันพรุ่งนี้ (19ก.ค.2566)และตรงกับวันที่รัฐสภากำหนดลงมติโหวตนายกรอบ2 ซึ่งผู้สนับสนุนมองว่า จะนำมาซึ่งการยุบพรรคก้าวไกล เเละบุคคลในองค์กรอิสระ และ สว.ส่วนหนึ่ง มีพฤติกรรมล้มล้าง การปกครองประชาธิปไตย อันจะมีผลต่อการยุบพรรคก้าวไกลในที่สุด
นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กล่าวว่า ปกติแล้วหลังการเลือกตั้งในหลายประเทศทั่วโลก ภายใน 1 สัปดาห์ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แต่ประเทศไทยผ่านมา 2 เดือนยังคงไม่จบสิ้น ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะวินิจฉัยปมการถือหุ้นสื่อของนายพิธา ที่ กกต.เร่งรัดการยื่นเรื่องตรวจสอบอย่างผิดปกติก่อนวันเลือกนายกรัฐมนตรี จึงเป็นข้อสงสัยว่าเหตุใด กกต.มีพฤติกรรมเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย ใช้ปมการถือหุ้นสื่อมากลั่นแกล้งนายพิธา ที่มาของ กกต.ก็มาจาก สว.และ สว.ก็มาจาก คสช.ที่ก่อรัฐประหารเข้ามา จึงเรียกว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการล้มล้างประชาธิปไตย ที่สมรู้ร่วมคิดกับคณะรัฐประหาร
ด้าน นายกฤษพล ศิริกิตติกุล หรือ โจเซฟ ตัวแทนกลุ่ม ครช.กล่าวว่า เหตุที่ต้องมาวันนี้ เพราะไม่มั่นใจในความเป็นกลางของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะปมการถือหุ้นสื่อไอทีวี ของนายพิธา ที่คนทั้งประเทศทราบกันว่าปิดกิจการไปแล้ว รวมถึงปมการแก้ไขกฎหมายอาญา ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ จึงตั้งข้อสังเกตว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรอิสระจริงหรือไม่ เพราะเคยวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคอนาคตใหม่ รวมถึงให้นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งเพียงเพราะออกรายการทำอาหาร
นายกฤษพล กล่าวอีกว่า ขณะที่การวินิจฉัยการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สามารถอยู่อาศัยในบ้านหลวงหรือบ้านพักในค่ายทหาร ร.1 รอ.ได้กลับไม่ถือว่าผิด แม้จะเกษียณอายุราชการไปแล้ว มองว่าการทำหน้าที่เช่นนี้ เป็นการจุดฉนวนความขัดแย้งในหมู่ประชาชนไทย หากองค์กรอิสระไม่ดำรงสถานะเป็นกลาง จะเป็นการผลักผู้คนจำนวนมากให้ลงท้องถนน และในฐานะที่ตนเองเป็นผู้ต้องหาคดี ม.112 ยังต้องการเรียกร้องให้คืนสิทธิผู้ต้องขังคดีเดียวกันอีกอย่างน้อย 19 คน ที่ยังรอความหวังอยู่ในเรือนจำ
ตัวแทนกลุ่ม ครช.กล่าวด้วยว่า ทางกลุ่มมีความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไข ม.112 ไม่ว่าจะมีพรรคการเมืองใดจะนำเสนอ ต่างมีมุมมองว่ากฎหมายนี้มีปัญหาในการกำหนดขอบเขตที่ไม่ชัดเจนแน่นอน และ เจ้าหน้าที่รัฐบังคับใช้โดยไม่ตรงตามหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งเรื่องการดำเนินคดี การประกันตัว และมีคำสั่งต่างๆ เมื่อกฎหมายมีปัญหาเช่นนี้แล้ว จึงน่าจะกระทบต่อตัวสถาบันเอง เพราะกฎหมายนี้ยังกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง จึงเห็นว่าการเสนอให้แก้ไข ไม่เป็นการล้มล้างการปกครอง เพราะสอดรับกับหลักการทางสิทธิเสรีภาพ และยังรักษาสถานะของสถาบันได้อย่างสมบูรณ์ ขอให้ทบทวน เเละ พิจารณณา ประเด็นการบังคับใช้กฏหมาย ส่งสารให้เคารพหลักการของระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เเละประชาชนมีอำนาจสูงสุดต่อไป