จากคดีกำนันนกสู่'โอ๋สืบ6'ผู้เป็นยิ่งกว่าแมว9ชีวิต
เปิดประวัติ พล.ต.ท.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ผบช.ภาค7 กับเส้นทางชีวิตราชการยิ่งกว่าแมว9ชีวิต กรณี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ฝากข้อความถึง ถ้าผมเป็นผู้บังคับบัญชาไม่มีวันยอมให้กำนันนก-นครปฐมที่ก่อคดียิงตำรวจทางหลวงมอบตัวกันง่ายๆ...
กรณี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกอบจ.ปทุมธานี อดีตผบช.น. ออกมาวิจารณ์กรณีตำรวจ สภ.เมืองนครปฐมรับมอบตัวกำนันนก-นายประวีณ จันทร์คล้าย กำนันคนดังในจังหวัดนครปฐม อายุ 35 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดนครปฐมที่ จ.469/2566 ในข้อหาเป็นผู้ใช้ให้นายธนัญชัย หมั่นมาก หรือ หน่อง ท่าผา ยิง พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว สว.ส.ทล.1 กก.2 บก.ทล.เสียชีวิต และพยายามฆ่า พ.ต.ท.วศิน พันปี รอง ผกก.2 บก.ทล. โดยฝากถึงผู้บัญชาการภาค 7ว่า
"ท่านเก่งอยู่แล้ว ได้รับมอบตัวง่ายเหลือเกิน ฝากไว้แล้วกัน ฝากเพื่อนๆ ตำรวจด้วยแล้วกัน แต่ถ้าผมเป็นผู้บังคับบัญชาผมไม่รับมอบง่ายๆ หรอก พูดแค่นี้คงเข้าใจ"
พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ฝากข้อความนี้ถึงผู้บัญชาการภาค7 ซึ่งหมายความถึง พล.ต.ท.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 คนปัจจุบัน ซึ่งหากย้อนประวัติกลับไปเมื่อราว 17ปีก่อนในช่วงสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
พล.ต.ท.ธนายุตม์ หรือ พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ เทพจันดา ผกก.สส.บก.น. 6 หรือ โอ๋ สืบ6 ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สั่งการให้ชายฉกรรจ์2คน รุมทำร้ายนายอิทธิพล สรวิทย์สกุล วัย 60 ปีได้รับาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดเมื่อ21ส.ค.2549 เนื่องจากตะโกนขับไล่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะเดินทางไปที่บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์
มีผู้ร้องเรียนคดีนี้ไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยุคนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธานป.ป.ช.และมีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนฯ และลงมติเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2550ว่า พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ มีความผิดทั้งทางอาญาและวินัยร้ายแรง และเดือนเดียวกัน พล.ต.ท.เอก อังสนานนท์ ผบช.สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ ได้ลงนามในคำสั่งให้ "ไล่ออก" แต่ปรากฏว่าเดือนต.ค.50 ที่ประชุม กตร.กลับมีมติลดโทษจาก "ไล่ออก" เป็น "ปลดออก" แทน
ต่อมา พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ ได้ยื่นร้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่ให้เพิกถอนคำสั่งไล่ออกจากราชการ และปลดออกจากราชการ ในเดือนต.ค.ปี 51 ศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสังไล่ออกจากราชการและทุกเลาการบังคับโทษ ปลดออก พร้อมกับชี้ว่า กระบวนการไต่สวนของอนุฯ ป.ป.ช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แต่ที่น่าสนใจ คือก.ตร.ที่เป็นผู้ถูกฟ้องในศาลปกครอง กลับไม่ยอมทำอะไร ไม่ยอมยื่นอุทธรณ์ภายใน 30วัน ทำให้คดีถึงที่สุด แต่กรรมการป.ป.ช.ได้ใช้สิทธิยื่นเรื่องขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาเพื่อชี้ขาดคดีใหม่
17 ก.ค.52 ศาลปกครองสูงสุด พิจารณาแล้ว จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำขอพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ของป.ป.ช.ไว้พิจารณาและดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามรูปคดีโดยองค์คณะใหม่ของศาลปกครองชั้นต้น เพราะเห็นว่าศาลปกครองชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด เนื่องจากตัดโอกาสไม่ให้ ป.ป.ช.ชี้แจง
หลัง ก.ตร.ไม่อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครอง พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ก็ใช้ช่วงที่มีคำสั่งศาลปกครองเชียงใหม่ให้เพิกถอนคำสังไล่ออกจากราชการและทุเลาการบังคับโทษ ทำเรื่องขอกลับเข้ารับราชการตำรวจอีกครั้ง และต่อมา ก.ตร.ได้พิจารณากำหนดให้รับตำแหน่งรองผู้บังคับการประจำสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ โดยให้มีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่ 20 ก.พ.2550
ทว่าในคดีอาญา อัยการพิเศษกับกลุ่มผู้เสียหายที่ถูกทำร้าย ฟ้องพ.ต.อ.ฤทธิรงค์ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา7 ปรากฏว่า ทั้ง 3ศาล คือศาลอาญา ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา พิพากษาให้พ.ต.อ.ฤทธิรงค์มีความผิด ลงโทษ จำคุก 2 ปี ปรับหนึ่งหมื่นบาท โดยโทษจำคุกรอลงอาญา
เส้นทางราชการ พล.ต.ท.ธนายุตม์ หรือ พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ เจริญก้าวหน้าช่วงรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร และกลับมาได้ดีอีกครั้งในยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับการเลื่อนชั้นยศเป็นนายพลชั้นยศพล.ต.ต.ในตำแหน่ง ผู้บังคับการจังหวัดนนทบุรี และขยับขึ้นเป็นพล.ต.ท.ยุครัฐบาลคสช. เพราะมีความแน่บแน่นกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงในช่วงเวลานั้น ว่ากันว่าพล.ต.ท.ธนายุตม์ ขับรถเข้าออกมูลนิธิบ้านป่ารอยต่อฯอยู่เป็นประจำ
ต้องจับตาเส้นทางราชการ พล.ต.ท.ธนายุตม์ ผู้เป็นยิ่งกว่าแมว9ชีวิตหลังจากนี้ เพราะมีอายุราชการตำรวจเหลืออีก 2 ปี ขณะที่การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจประจำปี 2566 ซึ่งถูกเลื่อนออกไป เพราะอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างรัฐบาลประยุทธ์กับรัฐบาลเศรษฐา 1
ดังนั้น หากพิจารณาตามลำดับอาวุโสแล้ว พล.ต.ท.ธนายุตม์ อาจขยับขึ้นผู้ช่วย ผบ.ตร.ที่ว่าง 5 ตำแหน่ง ซึ่งชื่อ พล.ต.ท.ธนายุตม์ อยู่ในอาวุโสลำดับ 3 รองจากพล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจะพันธ์ ผบช.สตม.(อาวุโสลำดับ2) และพล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ นายแพทย์ใหญ่ (สบ8) รพ.ตำรวจ (อาวุโสลำดับ1)