"รองนายกฯ สมศักดิ์" เปิดงานเชื่อมสัมพันธ์เศรษฐกิจ “ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์”
“รองนายกฯ สมศักดิ์” เปิดงานเชื่อมความสัมพันธ์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ “ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์” พัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ปลื้มนักธุรกิจทั้ง 3 ประเทศ ปิดดีลสำเร็จ โชว์มีสัญญาณดี หลังนายกฯ เยือนมาเลเซีย เตรียมยกระดับการค้าชายแดน-ความมั่นคง
วันนี้ (2 ธ.ค.2566) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา ระหว่างประเทศคาบสมุทรมลายูภาคใต้ อนุภูมิภาคไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์” พร้อมกล่าวปฐกถาพิเศษ “ทิศทางการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยมี นายกิตติกร โล่ห์สุนทร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ นักธุรกิจจากประเทศไทย มาเลเซียและสิงคโปร์ เข้าร่วม ที่โรงแรมคริสตัลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
โดยนายสมศักดิ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษว่า การพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้นำการพัฒนา โดยได้เดินทางเข้าหารือกับนายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้วันนี้ ตนได้ดำเนินการตามนโยบาย ซึ่งได้เข้าพบรองนายกฯ ประเทศมาเลเซีย 2 คน รวมถึงมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง จำนวน 4 กระทรวง อยู่ด้วย
ทั้งนี้ ได้หารือเรื่องด่านสะเดา ที่ยังแก้ปัญหาทางฝั่งมาเลเซียไม่ได้ ซึ่งจากการพูดคุยวันนี้และจากการที่นายกรัฐมนตรีได้พูดคุยเบื้องต้นแล้ว ได้มีข้อตกลงในการแก้ปัญหาของทั้ง 2 ประเทศแล้ว โดยมีเงื่อนไขยกระดับด้านการค้าชายแดน การท่องเที่ยว การเกษตร และความมั่นคง รวมถึงการหารือการแก้ไขปัญหาส่งออกสินค้าเกษตร ให้ดำเนินการเป็น One Stop Service ทั้งการผ่านด่าน การกักกันต่างๆ ให้ร่นระยะเวลา
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากการหารือกับมาเลเซีย ได้มีข้อแนะนำ 5 ข้อ ในการแก้ไขปัญหาความมั่นคง ได้แก่ 1.ให้ดำเนินการเพิ่มหลักสูตรสายอาชีพในการศึกษาด้านศาสนา 2.สนับสนุนนักธุรกิจมาเลเซียจัดตั้งโรงงานในไทย จากการ matching ระหว่างผู้ประกอบการทั้ง 2 ประเทศ 3.ดันการพัฒนาเมืองคู่ขนาน Twin city โดยจะเรียกผู้แทน 5 รัฐที่ติดกับไทยมาคุยทันที
4.การวางแผนการจัดการภัยพิบัติพื้นที่ร่วมชายแดนไทยมาเลเซีย และ 5.เรื่องความมั่นคง จะให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับผู้เห็นต่างจากรัฐ ในกรณีของการเข้าเมืองเพื่อหลบหนีข้อกฎหมายจากการกระทำผิดกฎหมายในประเทศ รวมถึงความร่วมมือแก้ไขปัญหายาเสพติด และความมั่นคงอื่นๆ ซึ่งจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกันต่อไป
ส่วนการยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน ขณะนี้ในจังหวัดชายแดนใต้ ยังมีอีก 20 อำเภอ ที่เป็นเขตประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งในส่วนของการดำเนินการ หลายภาคส่วนก็ต้องการอยากให้ยกเลิก แต่การยกเลิกนั้น ถ้าหากทำไปโดยไม่มีเหตุผล ความยั่งยืนก็ไม่เกิดขึ้นแน่
นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเพิ่มเติมว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการตอบสนองผู้ประกอบการ ในการ matching นักธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งมีหลายผู้ประกอบสามารถปิดดีลได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น ไทย-มาเลเซีย ไทย-สิงคโปร์ หรือ ธุรกิจไทยกับไทย โดยความสำเร็จในวันนี้ มาจากความเชื่อมั่นจากการเจรจา พบปะของนายกรัฐมนตรีของไทยและมาเลเซีย
อย่างไรก็ตาม ตนและคณะได้เดินทางไปกัวลาลัมเปอร์ เพื่อพบรองนายกรัฐมนตรี 2 ท่าน และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง 4 กระทรวงของประเทศมาเลเซีย พบว่า มาเลเซียสนใจร่วมลงทุนกับไทยและนักธุรกิจชายแดนใต้ รวมถึงสนใจในการนำสินค้าไทยไป packaging ใหม่ เพื่อประทับตราฮาลาลมาเลเซีย เพราะเป็นประเทศที่ได้รับตราฮาลาลถูกต้องตามหลักศาสนา มาก่อนประเทศไทย เราจึงจำเป็นต้องดำเนินการตามเครื่องหมายฮาลาลของมาเลเซียไปก่อน ซึ่ง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศจัดตั้งกองฮาลาลขึ้นแล้ว เพื่อดำเนินการฮาลาลของไทยให้เป็นที่ยอมรับ
ในส่วนการพัฒนาเมืองชายแดน ที่ ศอ.บต. เสนอผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เพื่อจัดทำเมืองคู่ขนาน ไทย-มาเลเซียนั้น พบว่า สอดคล้องกับแนวคิดของประเทศมาเลเซียที่จะยกระดับการพัฒนาชายแดนของทั้งสองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน การค้าชายแดน ลดขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองเฉพาะของทั้ง 2 ประเทศ เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียมีความกระตือรือร้นในการส่งเสริมเมืองคู่แฝดเป็นอย่างมาก
ขณะที่ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวถึงการจัดมหกรรมเชื่อมสัมพันธ์ฯ ครั้งนี้ว่า จัดขึ้นเพื่อเปิดตลาดสินค้าบริการฮาลาลของจังหวัดชายแดนใต้ ให้สามารถกระจายสินค้าได้ทั้งในและต่างประเทศ ส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา ระหว่างคาบสมุทรมลายูภาคใต้ อนุภูมิภาคไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ พร้อมสร้างการรับรู้และความเข้าใจต่อทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ ตามระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนใต้ แนวทางยุทธศาสตร์และนโยบายการพัฒนาพื้นที่ของรัฐบาล
ทั้งนี้ ได้รับผลตอบรับอย่างดีจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วม Matching และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า งานครั้งนี้จะสามารถสานต่อความร่วมมือทางธุรกิจ สร้างอาชีพและรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และประเทศ