posttoday

"นครบาล"ขอป.ป.ช.คืนสำนวน"บิ๊กโจ๊ก"คดีฟอกเงิน-เว็บการพนัน

03 มิถุนายน 2567

กองบัญชาการตำรวจนครบาล ขอ ป.ป.ช.คืนสำนวน"บิ๊กโจ๊ก"ของสน.เตาปูน คดีฟอกเงิน เว็บการพนัน ภายใน4มิ.ย.67 ชี้ชัดที่ศาลอาญาออกหมายจับเพื่อให้พนักงานสอบสวนนครบาลดำเนินคดีต่อหากไม่รีบคืนในกำหนดอาจเหตุเสียหายราชการ 

เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2567 กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้มีหนังสือที่ ตช 0015.(น.2)/ 6763 ลงนามโดยพล.ต.ต.วสันต์ เตชะอัครเกษม รอง ผบช.น. ถึงเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง ขอรับสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 391/2566 ของ สน.เตาปูน

โดยเนื้อหาสรุปว่า ตามหนังสืออ้างถึง

1.คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่54/2566ได้ส่งสำนวนคดีอาญาที่ 391/2566ของ สน.เตาปูน ซึ่งในเขตอำนาจของศาลอาญาและอยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวน มายังคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาสำนวนการสอบสวนกรณีที่มีผู้มากล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับพันตำรวจโทคริษฐ์ ปริยะเกตุ และนางสาวเบญจมิน แสงจันทร์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐหรือบุคคลอื่นใดในข้อหาใดๆ บรรดาที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตามและขอรับคืนกลับมายังพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการต่อไปตามกฎหมาย

เนื่องจากบัดนี้ เลยกำหนดระยะเวลาตามกำหนดที่พนักงานสอบสวนได้ระบุไว้ในหนังสือตามที่อ้างถึงแล้ว แต่ท่านยังมิได้ส่งสำนวนในส่วนที่มีผู้ต้องหาหลายคน ซึ่งได้กระทำความผิดและอยู่ในอำนาจของศาลอาญา คืนกลับมายังพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด โดยสำนวนคดีอาญาที่ 391/2566 ปรากฎชัดแจ้งว่า เป็นคดีที่กล่าวหาได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับ น.ส.อัญชลีไวทยาชีวะ กับพวกรวม 22 คน ว่าได้ร่วม ความผิดต่อบทบัญญัติแห่ง พรบ.การพนันฯ และเป็นลักษณะสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ตาม พรบ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ อันเป็นข้อหาที่ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.อีกทั้งการกระทำความผิดฐานฟอกเงินนั้นเป็นการกระทำความผิดอาญาอีกรรมหนึ่ง  จึงมิใช่ความผิดที่เกี่ยวข้องกันที่สามารถจะดำเนินการไปในคราวเดียวกันกับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ ตาม พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต2561 มาตรา 28(1) (2) และ (4) ประกอบมาตรา30วรรคสอง

ดังนั้น ความผิดฐานฟอกเงินดังกล่าว จึงไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 83/2565 ลงวันที่ 27 ก.ค.2565 โดยสำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐเป็นผู้นำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เรื่องการกล่าวหานาย นพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักพุทธศาสนา

 

2.คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีอาญาที่ 391/2566ได้ดำเนินคดีและรวบรวมพยานหลักฐานมาเป็นระยะเวลาพอสมควร และได้ความปรากฏชัดแล้วว่า กลุ่มผู้ต้องหามีเส้นทางการเงินเชื่อมโยงถึงกัน และใช้บัญชีธนาคารของบุคคลอื่นเป็นจำนวนมากในการกระทำความผิดอาญา ซึ่งแม้จะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วย แต่จากพยานหลักฐานก็มิได้ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่และได้ใช้อำนาจหน้าที่ในการได้ร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงเป็นคดีที่มีได้ขอให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐเพราะได้กระทำผิดในการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กลุ่มผู้ต้องหาที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จึงย่อมรับผิดเฉพาะเหตุฉกรรจ์ซึ่งต้องรับโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนด ตามกฎหมายว่าด้วยการฟอกเงินบัญญัติไว้ด้วยเหตุและผลดังกล่าว คดีอาญาที่ 391/2566ของ สน.เตาปูน จึงไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญา และอยู่ในอำนาจของพนักงาน
สอบสวน ซึ่งแม้คดีที่อ้างถึง (2) จะมีพฤติการณ์ของกลุ่มบุคคลที่ปั่นป่วนคดี เพื่อให้กระทบถึงกระบวนการยุติธรรมอันเป็นการคุกคามดุลยพินิจของพนักงานสอบสวน โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้ขอออก หมายจับ พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ต้องหาที่ 22 ซึ่งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้ระบุเหตุและแจ้งพฤติการณ์ดังกล่าวให้ปรากฎแก่ศาลอาญาแล้ว 

ดังนั้นการที่ศาลอาญาออกหมายจับ พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาลนั้น ย่อมหมายความถึงเพื่อให้พนักงานสอบสวนได้ตัวผู้ต้องหามาทำการสอบสวนและดำเนินคดีต่อไปได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในความผิดฐานร่วมกับฟอกเงินฯ ซึ่งอยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการสอบสวนได้ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาในความผิดฐานดังกล่าวแก่ พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล กับพวก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 มาตรา 134/3และมาตรา 134/ 4 แล้ว ผู้ต้องหาทั้งหมดอยู่ในอำนาจการควบคุมของพนักงานสอบสวน โดยการสอบสวนคดีนี้จะต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดในการเสนอความเห็นทางคดี ส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมผู้ต้องหานั้นไปยังพนักงานอัยการ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140และมาตรา 142 

แต่พนักงานสอบสวนไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายต่อไปได้เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่มีการส่งสำนวนการสอบสวนคดีนี้กลับคืนมายังพนักงานสอบสวนจึงเรียนมายังท่านเพื่อขอรับสำนวน ของ สน.เตาปูน คืนกลับมายังพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป 

ทั้งนี้ได้แนบรายงานกระบวนพิจารณากรณีขอออก หมายจับ พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล และคำร้องของ พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล ตามสิ่งที่ ส่งมาด้วยมาประกอบเอกสารการขอรับสำนวนคดีคืนจากท่านแล้วด้วย

สำหรับคดีนี้ผู้ต้องหาบางรายถึงถูกจับกุมและเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2566  โดยได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวน จึงเป็นเหตุให้มีกำหนดระยะเวลาสำหรับการปล่อยชั่วคราวเพื่อทำการสอบสวนให้เสร็จสิ้น จนถึงกำหนดศาลประทับรับฟ้อง 

ทั้งนี้ ดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 113ซึ่งการขยายระยะเวลาตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย เป็นกรณีมีเหตุจำเป็นแต่ต้องมิให้เกินหกเดือน ซึ่งระยะเวลาหกเดือนดังกล่าว ใกล้จะครบกำหนดในวันที่ 6 มิ.ย.2567 นี้แล้ว แต่หากท่านมิได้คืนสำนวนให้แก่พนักงานสอบสวนภายในกรอบเวลาตามกฎหมาย เพื่อให้มีการฟ้องคดีได้ภายในกำหนดระยะเวลาย่อมอาจเป็นเหตุเสียหายแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและทางราชการได้ คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนจึงขอรับสำนวนคดีในส่วนที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคืน เพื่อดำเนินการตามกฎหมายภายในวันที่ 4 มิ.ย.2567 จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา