เจาะข้อมูลติด"กำไลอีเอ็ม"นักโทษคดีการเมือง"ทวี"เล็งคุมตัวอยู่บ้าน
เปิดมุมกฎหมายคุมตัวผู้ต้องหา-จำเลยคดีอาญา เมื่อ ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรมเล็งแก้ไขกฎกระทรวง ติดกำไลอีเอ็ม-คุมตัวอยู่บ้านนักโทษคดีการเมือง และการดำเนินคดีมาตรา112
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เปิดประเด็นการผลักดันให้มีการไขกฎกระทรวง เพื่อให้สอดรับกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/1 ในเรื่องการดำเนินคดีทางการเมือง รวมไปถึงการดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 ปัจจุบันมีสติถิผู้ต้องหาถูกดำเนินคดี25คน และช่วงที่ผ่านมาศาลอนุญาตให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
ดังนั้น หากศาลเห็นด้วยอาจจะขอว่า"ต่อไปนี้ไม่ต้องไปอยู่ในเรือนจำให้อยู่บ้านได้แล้วติดกำไลอีเอ็ม"
พ.ต.อ.ทวี เปิดประเด็นเรื่องนี้ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 4ก.ค.67 เป็นการตอบกระทู้สด นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ต่อกรณีการเสียชีวิตของ นางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ทะลุวัง นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำ เมื่อ14พ.ค.2567 (คลิ๊กอ่าน)
ทำความเข้าใจก่อนว่าด้วยเรื่อง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 89/1 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการควบคุมผู้ต้องหาหรือจำเลยที่อยู่ระหว่างการสอบสวนหรือพิจารณา ภายในสถานที่อื่นนอกจากเรือนจำ สถานีตำรวจ หรือสถานที่ควบคุมผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวน โดยสถานที่ดังกล่าวต้องมีลักษณะตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งต้องกำหนควิธีการควบคุมและมาตรการเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
ส่วนกฎกระทรวงยุติธรรมปัจจุบันที่บังคับใช้ รองรับบทบัญญัติมาตรา89/1 คือ กฎกระทรวง กำหนดสถานที่อื่นที่ใช้ในการขัง จำคุก หรือควบคุมผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด พ.ศ. 2552 ซึ่งจะต้องจัดให้มีวิธีการควบคุม มาตรการป้องกันการหลบหนีหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นและการบำบัดรักษาที่เหมาะสมกับผู้ต้องหารือจำเลย ในส่วนที่ 2 วิธีการควบคุม และส่วนที่ 3 มาตรการเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นยังไม่ได้มีการแก้ไขเพื่อรองรับ ผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีการเมืองเป็นการเฉพาะ
(คลิ๊กอ่าน)
การติดกำลังอีเอ็ม ตามที่พ.ต.อ.ทวี มีนโยบายจะผลักดันให้มีการแก้ไขกฎกระทรวงเพื่อใช้ผู้ต้องหาคดีทางการเมืองหรือคดีมาตรา112 ปัจจุบันกำไลอีเอ็มใช้กับผู้ที่ศาล หรือพนักงานผู้มีอำนาจสั่งคุมความประพฤติ อาทิ ผู้ถูกคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ผู้ได้รับการพักการลงโทษ ฯลฯ พร้อมกำหนดเงื่อนไขการคุมความประพฤติด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว
นอกจากนี้การติดกำไลอีเอ็ม ใช้กับฐานความผิด ลักทรัพย์,ขับรถประมาท,บุกรุก,ทำร้ายร่างกาย,ความผิดเกี่ยวกับเพศ เป็นผู้มีข้อบกพร่องเรื่อง เที่ยวเตร่ในเวลากลางคืน เล่นการพนัน เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ ดื่มสุรามึนเมาแล้วก่อเรื่องราวทะเลาะวิวาท พกพาอาวุธ มีที่พักอาศัยในพื้นที่ที่มีปัญหายาเสพติด (คลิ๊กอ่าน)
ข้อมูลศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยคดีมาตรา112 ตั้งแต่ 19พ.ย.63- 24 มี.ค. 2567 มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหานี้ไปแล้วไม่น้อยกว่า 270 คน ในจำนวน 301 คดี (ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนจำนวน 20 คน ในจำนวน 23 คดี) เฉพาะปี2567 มีผู้ถูกคุมขังอยู่ไม่น้อยกว่า 27 คน แยกเป็นผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณา 18 คน ผู้ถูกคุมขังที่คดีสิ้นสุดแล้ว 7 คน และผู้ถูกคุมขังในคดีเยาวชนตามมาตรการพิเศษที่ศาลกำหนดจำนวน 2 คน (คลิ๊กอ่าน)
สำหรับคดีมาตรา112 ที่อยู่ในความสนใจของประชาชนและเกี่ยวโยงกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ก็คือคดีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาเป็นจำเลยต่อศาลอาญา เมื่อ18มิ.ย.2567 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กรณีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่เกาหลีใต้ เมื่อปี2558
ศาลพิจารณาตามคำฟ้องของอัยการสูงสุดเเล้วประทับรับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1860/2567 นายทักษิณจำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดีโดยยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราววงเงิน 5 เเสนบาท โดยศาลพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนัดตรวจพยานหลักฐานคดีสองฝ่าย19 ส.ค.67เวลา 09.00 น. (คลิ๊กอ่าน)