posttoday

นานาทัศนะ"ปฎิรูปตำรวจ"ไม่เอานายกฯ-การเมืองแทรงแซงองค์กร

23 กรกฎาคม 2567

นานาทัศนะ"ปฏิรูปตำรวจ" เมื่อผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เรียกร้องแก้พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ขอเลือกประธานก.ตร.ที่ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี ป้องกันการเมืองแทรกแซงเทียบกับ10ประเด็นที่เคยมีการเสนอ"ปฏิรูปตำรวจ"สมัยรัฐบาลคสช.

กระแสความเคลื่อนไหวการปฎิรูปตำรวจถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง หลังเกิดเหตุ พ.ต.ท.กิตติ์ชนม์ จันยะรมณ์  รอง ผกก.ป.สน.ท่าข้าม เสียชีวิตในหน้าที่ระหว่างเข้าไประงับเหตุชายคลุ้มคลั่งที่ย่านพระราม 2 กทม. เมื่อค่ำวันที่ 20 ก.ค.2567 

พล.ต.อ.ปัญญา มาเม่น อดีตจเรตำรวจแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก "Panya Maman" แสดงความเสียใจกับครอบครัวของตำรวจที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่และขอเป็นกำลังใจให้ข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ และเตือนสติต้องยึดมั่นในอุดมคติของตำรวจ กระทำการด้วยปัญญาและรักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิต 

พร้อมกับเสนอความเห็นเรื่องการเคลื่อนไหวจะปฏิรูปตำรวจโดยตำรวจเอง ประเด็นหลักคือให้นายกรัฐมนตรีไม่เป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)แต่มาจากการเลือกกันเองเหมือนคณะกรรมการข้าราชการอัยการ(ก.อ.)  
และไม่แน่ใจว่า จะเกิดผลดีกว่าเดิมหรือแย่กว่าเก่า หรือเป็นการหนีเสือปะจระเข้หรือไม่ แต่สิ่งที่อยากจะเห็นการแก้ไขคือ การเพิ่มเงินค่าทำงาน เงินสวัสดิการเงินตอบแทนค่าเสี่ยงภัยต่างๆ ที่ข้าราชการอื่นๆยังได้รับ เช่น ข้าราชการรัฐสภาสามัญ และข้าราชการองค์กรอิสระ เป็นต้น

ขณะที่พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ผู้ทรงคุณวุฒิ ชวนเชิญประชาชนและข้าราชการตำรวจ ได้ร่วมลงชื่อสนับสนุนการเสนอร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) โดยมีพ.ต.ท.ภูมิรพี ผลาภูมิ เป็นตัวแทนนำร่างแก้ไขพ.ร.บ.ตำรวจ ไปยื่นต่อประธานรัฐสภา เมื่อ12ก.ค.67 เพื่อริเริ่มให้มีการแก้ไขและกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการรวบรวมรายชื่อให้ครบ ผ่าน https://www.ilaw.or.th/policereform

ทั้งนี้ สาระสำคัญ การแก้ไขพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ซึ่งถูกเสนอยกร่างโดยพล.ต.อ.วินัย ทองสอง นายกสมาคมตำรวจ พร้อมด้วยคณะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 22 คน เพื่อปฏิรูปการบริหารงานบุคคลของตำรวจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและเพื่อประโยชน์แห่งการอำนวยความยุติธรรมแก่พี่น้องประชาชน มีแนวคิดการปฏิรูปดังนี้

1. ให้ประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มาจากการเลือกตั้งของตำรวจ ก.ตร. โดยตำแหน่ง และ ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการเลือกตั้งต้องมีสัดส่วนเท่ากัน

2. ให้คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) มีหน่วยงาน นิติกรและเจ้าหน้าที่สนับสนุนสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. ให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) นำบทบัญญัติในส่วนของการคัดเลือก คุณสมบัติ และการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ไปใช้บังคับเพื่อให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกันโดยอนุโลม

4. ปรับปรุงตำแหน่งพนักงานสอบสวนให้เลื่อนไหลสามารถเจริญก้าวหน้าในสายงานสืบสวนสอบสวนไปจนถึงระดับผู้บังคับการ (คืนแท่งงานสอบสวนตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547) และมีมาตรการคุ้มครองผู้ปฏิบัติงานหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญา

5. การแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นในระดับสารวัตรถึงรองผู้บังคับการ ให้ยึดหลักอาวุโส 50%

ผู้มีบทบาทสำคัญสนับสนุนร่างแก้ไขพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ นอกจากพล.ต.อ.เอกแล้ว ยังมี พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ ประธานชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ พล.ต.อ.ศักดา เตชะเกรียงไกร นายกสมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและกระบวนการยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ฯลฯ เข้าร่วมด้วย 

การผลักดันมีการแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจ ดังกล่าวได้รับการเสนอแนะเพิ่มและมีข้อท้วงติว จากนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเห็นว่าการไม่ให้นายกรัฐมนตรีนั่ง เป็นประธาน ก.ตร. ไม่อาจแก้ปัญหาการเมืองล้วงลูก การโยกย้ายแต่งตั้ง โดยเฉพาะตำแหน่ง ผบ.ตร.ได้

"ถ้าจะแก้ยังมีอีกหลายที่ที่ต้องแก้ยิ่งจะแก้เพื่อป้องกันการแทรกแซงมีอีกหลายจุด ไม่ใช่แก้เฉพาะตำแหน่งประธาน ก.ตร.ที่เดียว และคนเราถ้าจะแทรกแซง มันก็แทรกได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเอาใครมาเป็น การแก้ไม่ได้ช่วยเรื่องของฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซง"  นายวิษณุ ระบุ

อย่างไรก็ตามนายวิษณุ เห็นว่าหากจะมีการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ควรใช้ของเดิมที่ประกาศใช้อยู่ตอนนี้ แล้วแก้บางจุดโดยเฉพาะที่เกิดการประนีประนอมกันในสภา เพื่อให้มันผ่านๆไป ก็กลับไปทบทวนจุดเหล่านั้น ส่วนจะเป็นประเด็นใดจำไม่ได้ แต่มันเยอะมาก ใช้เวลาเป็นวันที่จะพูด  

สำหรับ10ประเด็น"การปฏิรูปตำรวจ"ที่นายวิษณุกล่าวถึง เคยถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในสภา มีการผ่านความเห็นชอบเป็นวาระครม.เมื่อ 30ก.ค.2550 โดยพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. ซึ่งดำรงตำแหน่ง รักษาราชการผบ.ตร.ในช่วงเวลานั้นร่วมเป็นกรรมการพิจารณาด้วย สรุปได้ดังนี้

1.กระจายอำนาจการบริหารงาน เสนอให้กระจายอำนาจการบริหารงานตำรวจไปสู่หน่วยงานระดับรอง ให้กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 และกองบัญชาการตำรวจนครบาลมีสถานะ "เสมือนเป็นนิติบุคคล" ที่มีความคล่องตัวและเบ็ดเสร็จในการบริหารงานบุคคลและงบประมาณ โดยประเด็นนี้ได้มีการทำตามข้อเสนอไปบางส่วนแล้ว

2.การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานตำรวจ เสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายตำรวจ ทั้งในระดับชาติ ระดับภาค ระดับจังหวัด และระดับสถานีตำรวจ ประเด็นที่ผ่านมามีเฉพาะคณะกรรมการนโยบายตำรวจระดับชาติ คือ ก.ต.ช. แต่ไม่ได้มีกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นแต่เพียงคณะกรรมการพิจารณาเห็นชอบการตั้ง ผบ.ตร.เท่านั้น

3.การสร้างกลไกตรวจสอบการปฏิบัติงานของตำรวจ เสนอให้มีคณะกรรมการอิสระรับเรื่องราวร้องทุกข์จากการปฏิบัติงานของตำรวจ ให้เป็นหน่วยงานอิสระ ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้คำชี้ขาดของคณะกรรมการมีผลในทางกฎหมาย ประเด็นนี้ยังไม่มีการดำเนินการ

4.การถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่ของตำรวจไปให้หน่วยอื่น คณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจเห็นว่า ภารกิจหลักของตำรวจมีอยู่ 3 ข้อ คือ การถวายความปลอดภัย, การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา และการรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชนและความมั่นคงของราชอาณาจักร ส่วนภารกิจอื่นนอกเหนือจากนี้ ถือเป็นภารกิจรอง เสนอให้โอนไปให้หน่วยงานอื่น เช่น ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจน้ำ ตำรวจป่าไม้ เป็นต้น

5.การปรับปรุงพัฒนาระบบงานสอบสวน เสนอตั้งหน่วยงานสอบสวนส่วนกลาง พัฒนาด้านวิชาการให้พนักงานสอบสวนมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ, ปรับปรุงสายงานสอบสวนให้มีความเป็นอิสระ ไม่ถูกแทรกแซงตามสายการบังคับบัญชาและการเมือง, กำหนดค่าตอบแทนใหม่โดยเทียบเคียงกับบุคลากรของหน่วยงานอื่นในกระบวนการยุติธรรม

6.การปรับปรุงการปฏิบัติงานของสถานีตำรวจ เสนอให้โอนภารกิจรองให้หน่วยงานอื่น, เน้นการดำเนินการเชิงป้องกันอาชญากรรม และแบ่งขนาดสถานีตำรวจใหม่ ให้จัดรูปแบบงานในโรงพักเป็นแบบ "จุดเดียวเบ็ดเสร็จ" หรือ one-stop service

7.การพัฒนากระบวนการสรรหา การผลิตและพัฒนาบุคลากรตำรวจ เสนอให้ยกฐานะโรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็นสถาบันการศึกษาวิชาการตำรวจ เน้นหลักสูตรตำรวจสมัยใหม่ เพิ่มคุณวุฒินักเรียนพลตำรวจ

8.การปรับปรุงเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการของข้าราชการตำรวจ เสนอให้แยกบัญชีเงินเดือนของข้าราชการตำรวจออกจากบัญชีเงินเดือนข้าราชการพลเรือนทั่วไป เพื่อให้มีระดับเงินเดือน ค่าตอบแทนเทียบเท่ากับบุคลากรของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม และมีความเหมาะสมกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ รวมถึงสภาพเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบัน

9.การส่งเสริมความก้าวหน้าของตำรวจชั้นประทวน เสนอให้ข้าราชการตำรวจชั้นประทวนที่สามารถพัฒนาตนเอง เพิ่มคุณวุฒิถึงระดับปริญญาตรี ควรได้รับการเลื่อนระดับขึ้นเป็นชั้นสัญญาบัตรโดยเร็วที่สุด ประเด็นมีการดำเนินการแล้ว นอกจากนั้นให้เปิดเส้นทางความก้าวหน้าของชั้นประทวนให้สามารถขยับขึ้นสู่ชั้นสัญญาบัตรได้อย่างชัดเจน ลดความถี่ของชั้นยศในระดับชั้นประทวน ให้เหลือ "ดาบตำรวจ" เพียงยศเดียว

10.การจัดตั้งหน่วยงานพัฒนากระบวนการยุติธรรม เสนอให้มีการตั้ง "สถาบันส่งเสริมหลักนิติธรรม" ขึ้นเป็นหน่วยงานรูปแบบพิเศษ เพื่อพัฒนากิจกรรมขับเคลื่อนสังคมให้เห็นถึงความจำเป็นของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างต่อเนื่อง