posttoday

น้ำท่วม67: นายกฯอิ๊งค์ลงพื้นที่เชียงรายตามงานแผนช่วยเหลือผู้ประสบภัย

13 กันยายน 2567

นายกฯแพทองธาร ชินวัตร บินลงพื้นที่เชียงราย ติดตามแผนการช่วยเหลือสถานน้ำท่วมหลังมีมอบนโยบาย9ข้อสั่งการ5กระทรวงเร่งดำเนินบรรเทาทุกข์ผู้ประสบอุทกภัย พร้อมมอบถุงยังชีพให้ประชาชนคลี่คลายความเดือดร้อน

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเดินทางออกจากออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติแม่ฟ้าหลวง ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ และช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน 

ทันทีที่เดินทางไปถึง นายกรัฐมนตรี รับฟังรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ที่ท่าอากาศยานนานาชาติแม่ฟ้าหลวงก่อนแล้วเดินทางไปในพื้นที่อำเภอแม่สาย ติดตามสถานการณ์ความเดือดร้อนและแผนการช่วยเหลือ ณ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ ณ ที่ว่าการอำเภอแม่สาย และมอบถุงยังชีพให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงราย ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย  ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร ในเวลา 15.50น.

ก่อนการลงพื้นที่ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 นายกฯแพทองธาร ได้ประชุมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องล่วงหน้าก่อนแล้ว 
โดยสั่งการเพิ่มขอให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ประกอบด้วย 

1.กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้ดูแลเรื่องการอพยพประชาชน และสัตว์เลี้ยงให้มีความปลอดภัย ตลอดจนสนับสนุนด้านอาหาร  และน้ำดื่ม รวมถึงอาหารสัตว์ให้เพียงพอ

2.กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงสาธารณสุข ดูแลเรื่องความเป็นอยู่ที่ศูนย์อพยพ และยารักษาโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางให้แบ่งมอบพื้นที่กำหนดภารกิจ และหน่วยปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านต่าง ๆ ให้ชัดเจน เช่น การดูแลด้านการดำรงชีพ การจัดตั้งศูนย์พักพิง การประกอบอาหาร ถุงยังชีพ การแพทย์ และการสาธารณสุข โดยให้มีการใช้ทรัพยากร และอุปกรณ์เครื่องมือของแต่ละหน่วยงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด

3.กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม บูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการดูแลความปลอดภัยของทรัพย์สิน และบ้านเรือนของราษฎร

4.เมื่อน้ำลด ให้ทุกส่วนราชการตรวจสอบความเสียหายระบบสาธารณูปโภค ถนน สะพาน ระบบไฟฟ้า และประปา เพื่อสร้างความเข้าใจ รับฟังปัญหาความต้องการ และดำเนินการปรับปรุงให้เข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมทั้งแสวงหาความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เช่น หน่วยทหารพัฒนา เพื่อช่วยเหลือประชาชน ร่วมกันทำความสะอาดบ้านเรือน ถนน และพื้นที่สาธารณะที่ถูกน้ำท่วม

5.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ตรวจสอบ และเสริมความมั่นคงแข็งแรงเชิงโครงสร้างให้กับคันกั้นน้ำ และระบบระบายน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชน พื้นที่เขตเศรษฐกิจสำคัญ และเร่งรัดปรับปรุงให้สามารถใช้งานได้โดยเร็ว

6. ให้กรมทรัพยากรธรณี เร่งรัดการดำเนินงานเกี่ยวกับระบบเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยสูงโดยด่วน  เพื่อให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า และเตรียมการได้ทันเวลา

7.ส่วนราชการที่ทำหน้าที่คาดการณ์สภาพอากาศ รวมทั้ง GISTDA ติดตามปริมาณฝน และระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ แนวโน้ม และแจ้งเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งแจ้งเตือนให้ประชาชนในชุมชนและหมู่บ้าน ทราบถึงแนวทางการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัย และช่องทางในการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมในการอพยพ

8.รัฐบาลรับดูเรื่องการเยียวยาและดูแลประชาชน ให้รักษาชีวิตตัวเอง ออกมาจากที่ที่ประสบภัยโดยเร็วที่สุดให้พิจารณาการใช้เงินจากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

9.กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำในระยะยาวต่อไป