posttoday

“ศิริกัญญา-เดชรัต-ชิตวัน” ถกแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจเชียงราย

06 ตุลาคม 2567

“ศิริกัญญา-เดชรัต-ชิตวัน” ร่วมหารือแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจเชียงรายกับประชาคม-นักธุรกิจ ระยะสั้นเร่งกู้บ้านเรือนออกจากโคลน เดินหน้าแผนกู้เมืองให้ทันฤดูท่องเที่ยวในเดือน พ.ย.นี้

          เมื่อวานนี้ (5 ต.ค.2567) ที่ บริษัทเชียงรายพัฒนาเมือง (ซีอาร์ดีซี) จำกัด นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคประชาชน นายเดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center และนายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ สส.เชียงราย เขต 1 พรรคประชาชน ร่วมรับฟังปัญหา ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะทางนโยบายกับประชาคมนักธุรกิจเชียงราย ทั้งในภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และบริการ รวมถึงประชาสังคมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

          ทั้งนี้ ประชาคมและนักธุรกิจเชียงรายสะท้อนว่า อยากเห็นการฟื้นฟูเชียงรายใน 3 ขั้นตอน คือ การช่วยเหลือเร่งด่วนฉับพลัน การฟื้นฟูแบบองค์รวม และการออกแบบพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน

          ในระยะสั้น การช่วยเหลือฟื้นฟูเมืองอย่างเร่งด่วน ควรดำเนินการกู้บ้านเรือนและชุมชนที่ยังเต็มไปด้วยโคลน ทั้งในอำเภอเมือง และอำเภอแม่สาย ด้วยการเติมสรรพกำลังทั้งเครื่องจักร อุปกรณ์ และคนเข้าไปในพื้นที่ รวมถึงการเร่งกระบวนการงบประมาณเพื่อสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการกู้สภาพเมืองให้ทันก่อนช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวในเดือน พ.ย.นี้ 

          สำหรับผู้ประกอบการที่ประสบภัยพิบัติ จำเป็นต้องเข้าถึงสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยเพื่อฟื้นฟูสภาพกิจการต่าง ๆ รวมถึงการพักชำระหนี้ เพื่อมิให้กลายเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อการเข้าถึงเงินทุนในระยะยาว

          ในส่วนของภาคเกษตร ซึ่งมีพื้นที่นาข้าว บ่อกุ้ง/ปลา เสียหายจำนวนมาก จำเป็นต้องเร่งจัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าว ให้ทันฤดูกาลทำนาปรัง (1 ม.ค.2568) รวมถึงการฟื้นฟูสภาพที่นาและบ่อเพาะเลี้ยงที่เสียหายในบางพื้นที่

“ศิริกัญญา-เดชรัต-ชิตวัน” ถกแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจเชียงราย

          ระยะต่อมา การฟื้นฟูแบบองค์รวม คือ การเร่งฟื้นความเชื่อมั่นสำหรับนักท่องเที่ยวให้กลับมาเที่ยวเชียงราย การจัดกิจกรรมการท่องเที่ยว/เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการฟื้นฟูสภาพจิตใจของชาวเชียงราย

          นอกจากนี้ ยังต้องพัฒนาระบบเตือนภัย ตั้งแต่สถานีโทรมาตรในลำน้ำต่างๆ ของลุ่มน้ำกก อิง โขง การกำหนดเกณฑ์การเตือนภัยและแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมในเมืองต่างๆ การทบทวน/จัดทำ/ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือภัยพิบัติ (ทั้งน้ำท่วม/ฝุ่น PM2.5 และแผ่นดินไหว) การจัดเตรียมพื้นที่อพยพและศูนย์พักพิงให้มีความพร้อม

          ในระยะยาว จำเป็นต้องออกแบบเมืองเชียงรายให้มีความยั่งยืน โดยเฉพาะการวางผังเมือง การลดอุปสรรคกีดขวางลำน้ำ ทั้งลำน้ำกก ลำน้ำอิง ลำน้ำสาย และลำน้ำอื่นๆ ไปพร้อมๆ กับการป้องกันภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่เมือง/พื้นที่เศรษฐกิจ

          ขณะที่ นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคฯ เห็นด้วยกับแนวทางต่างๆ ที่ประชาคมเชียงรายเสนอ และเสนอว่า จำเป็นต้องเร่งผลักดันให้เครื่องจักรเศรษฐกิจของเชียงราย ทั้งภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรมให้กลับมาเดินได้อีกครั้ง เพื่อให้ทันกับฤดูกาลของภาคเศรษฐกิจนั้นๆ โดยจะหารือและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการผลักดันการฟื้นฟูเมืองเชียงรายให้เป็นไปตามกรอบเวลา โดยเฉพาะการมีแพ็คเกจที่จะกระตุ้นให้ผู้คนในประเทศและทั่วโลกทราบว่า เชียงรายพร้อมกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง

          นายเดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center กล่าวว่า ยินดีจะเร่งประสานกับหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อจัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ทันกับการทำนาปรัง โดยจะพยายามทำโมเดล 20 ตันข้าวปลูก 20 ตันข้าวกิน สำหรับแต่ละหมู่บ้าน และจะจัดการให้เป็นกองทุนเมล็ดพันธุ์ข้าวและธนาคารข้าวในหมู่บ้าน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว และจะประสานกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อยกระดับการเตือนภัยในลุ่มน้ำกก อิง และโขงเหนือให้ครอบคลุม แม่นยำ และรวดเร็วยิ่งขึ้น

          นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ สส.เชียงราย เขต 1 พรรคประชาชน กล่าวว่า ยินดีจะช่วยระดมสรรพกำลังเพื่อการฟื้นฟูเมืองเชียงราย รวมถึงเห็นด้วยที่จะต้องออกแบบและปรับปรุงเมืองเชียงรายให้ลดความเสี่ยงและรับมือกับภัยพิบัติได้ดีขึ้น