posttoday

“ชัยวัฒน์”จี้ กลต. ตรวจสอบ CPAXT-CPALL ชี้ มีปัญหาธรรมาภิบาล

18 ธันวาคม 2567

“ชัยวัฒน์” ชี้กรณี CPAXT-CPALL มีปัญหาธรรมาภิบาล-ผลประโยชน์ทับซ้อนชัดเจน จี้ กลต. เร่งตรวจสอบเพื่อรักษาตลาดทุนให้มีความเป็นธรรม-ฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทย

นาย ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ให้ความเห็นต่อกรณีที่บริษัท CPAXT และ CPALL ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัท Axtra Growth Plus (AGP) เพื่อเข้าร่วมลงทุนในโครงการ Happitat at The Forestias ซึ่งนำมาสู่การตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์และข้อกังขาในประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนและธรรมาภิบาลของผู้บริหารอย่างกว้างขวาง 

กรณีดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนต่อสายตานักลงทุนว่าดีลนี้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับคนใกล้ตัวของผู้ถือหุ้นใหญ่ รวมถึงมีข้อกังขาที่อาจเกี่ยวโยงถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลภายใน (Insider Trading) อันเป็นการเอาเปรียบนักลงทุนรายอื่นที่ไม่รู้ข้อมูลดังกล่าวหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของ นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ผู้บริหารระดับสูงซึ่งมีบทบาทสำคัญในเครือ CPALL และ CPAXT ได้บังเอิญขายหุ้น CPALL มูลค่ากว่า 50 ล้านบาทเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ก่อนการรายงานดีลลงทุนดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์เป็นเวลาราว 10 วัน

ทั้งนี้นายก่อศักดิ์ มีประวัติเคยถูกคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เปรียบเทียบปรับจากความผิดฐานอาศัยข้อมูลภายในซื้อหุ้น MAKRO ก่อนที่จะมีดีล CPALL เข้าซื้อหุ้น MAKRO จึงไม่แปลกที่แวดวงนักลงทุนจะออกมาวิจารณ์ถึงการขายหุ้นโดยบังเอิญครั้งนี้ ซึ่งราคาปิดล่าสุด ณ วันที่ 17 ธันวาคม 2567 ได้ร่วงไปกว่า 10% เทียบกับราคาขายเฉลี่ยของนายก่อศักดิ์

นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า การจัดตั้งบริษัท AGP ทุนจดทะเบียน 8,390 ล้านบาท โดย CPAXT ถือหุ้น 95% และ Magnolia Quality Development (MQDC) ถือหุ้นอีก 5% ซึ่ง MQDC มี นางทิพพาภรณ์ อริยวารมย์ บุตรสาวของ นายธนินท์ เจียรวนนท์ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทางอ้อมผ่านบริษัทดีทีจีโอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โครงการ Happitat ภายใต้โครงการ Forestia ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่มูลค่าการพัฒนาโดยรวมในระยะยาวสูงถึง 125,000 ล้านบาท 

โดยที่นักวิเคราะห์มองความเสี่ยงทางการเงินและคาดว่าโครงการนี้จะขาดทุนระหว่าง 200-300 ล้านบาทในช่วงปี 2568-2569 และอาจใช้เวลาถึงปี 2572 กว่าจะถึงจุดคุ้มทุน ความเกี่ยวข้องดังกล่าวจึงทำให้ถูกตั้งคำถามและมองได้ว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ MQDC หรือไม่ 

นายชัยวัฒน์กล่าวต่อว่า ตลาดทุนไทยได้เผชิญปัญหาวิกฤตศรัทธาและการเอาเปรียบนักลงทุนรายย่อยมาโดยตลอด ดังนั้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและสาธารณชน คณะกรรมการและสำนักงาน กลต. จึงควรดำเนินการเชิงรุกต่อบริษัทที่เกี่ยวข้องให้มากกว่านี้ เพื่อคลี่คลายข้อกังขาต่อสาธารณชนและฟื้นความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทยกลับมา

ในเรื่องธรรมาภิบาล กลต. จำเป็นต้องเข้าไปกำกับดูแลให้อำนาจการตัดสินใจในดีลลักษณะดังกล่าว ควรเป็นการโหวตตัดสินใจโดยผู้ถือหุ้นที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ รวมทั้งเรื่องการตรวจสอบและเปิดเผยข้อเท็จจริง ว่ามีการใช้ข้อมูลภายในเอาเปรียบนักลงทุนรายอื่นหรือไม่

นายชัยวัฒน์ยังกล่าวต่อไปว่าในยุคที่สังคมให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และความรับผิดชอบของบริษัทมหาชน การแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในด้านธรรมาภิบาลและความโปร่งใสในการตัดสินใจดีลที่ถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนของ CPALL และ CPAXT จะเป็นก้าวสำคัญในการรักษาความเชื่อมั่นจากสาธารณชนและนักลงทุนทั้งในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งนี้ CPALL และ CPAXT ได้คะแนนธรรมาภิบาล CG Score ระดับ 5 (สูงสุด) และ ESG Rating AAA และ AA คะแนนดังกล่าวสะท้อนการมีธรรมาภิบาลของบริษัทในตลาดทุนไทยอย่างไร

“อยากให้ กลต. ลองสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อ CG Score โดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ ESG Rating โดยตลาดหลักทรัพย์ ดูว่าเป็นได้รับความเชื่อถือจากนักลงทุนเพียงใดและเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุนหรือไม่ ทำโพลสำรวจออนไลน์ง่ายๆ ก็ได้ จะได้รู้ว่าควรปรับปรุงการประเมินหรือไม่อย่างไร” นายชัยวัฒน์กล่าว