posttoday

''สุวัจน์''ชูจุดแข็งประเทศ อีสานธงนำสร้างเศรษฐกิจอยู่ดีกินดี

20 ธันวาคม 2567

''สุวัจน์'' เปิดเวทีสัมมนา ''ISAN NEXT: พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก'' ชูจุดแข็งประเทศ-ภาคอีสานนำ ต่อยอด-ทะลวงปัญหาเศรษฐกิจสร้างความอยู่ดี-กินดี เตรียมฟัง ''ทักษิณ'' โชว์วิชั่น ''อนาคตอีสาน โอกาสประเทศไทย''

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เปิดการสัมมนา ISAN NEXT: พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา พร้อมกล่าวเปิดการสัมมนาในหัวข้อ ''เปิดอีสาน เปิดประตูสู่เวทีโลก'' ว่า การสัมมนาครั้งนี้ จะเป็นการทางออกสถานการณ์เศรษฐกิจไทย โดยใช้พื้นฐานภาคอีสาน โดยได้ย้ำถึงปัจจัยภายในประเทศ ที่ส่งผลต่อปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่มีทั้งจำนวนหนี้สาธารณะที่สูง 65 เปอร์เซ็นของ GDP ประเทศ จนเกินมาตรฐานที่ควรจะเป็น และยังมีหนี้ครัวเรือนของภาคประชาชน ที่มีมูลค่าเกือบ 90 เปอร์เซ็นของ GDP

ดังนั้น หนี้ 2 ก้อนนี้ จึงเป็นภาระที่หนัก และกระทบเครดิต-เรตติ้ง และพื้นที่การคลังของประเทศในการพัฒนาประเทศ ส่งผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจประเทศโดยตรง รวมถึงยังมีปัญหาการเติบโต GDP ของประเทศต่ำเกือบ 20 ปีต่อเนื่อง และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดต่ำลง ระบบการศึกษาไม่ตอบโจทย์ผลกระทบปัจจุบัน รวมถึงภาคการผลิต และอุตสาหกรรมไทย ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างฉับพลัน ไม่ทันสมัย จึงเสียเปรียบอุตสาหกรรมต่างชาติ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ที่ประเทศไทยเคยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมัน

แต่ปัจจุบันแนวโน้มโลกมีอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาแทนที่ ซึ่งหากประเทศไทยปรับตัวไม่ทัน ผู้ประกอบการก็จะค่อย ๆ หายไป รวมทั้งประเทศไทย ยังประสบปัญหาสังคมสูงอายุ ที่มี 20 เปอร์เซ็นของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และในอนาคตจะมีจำนวนมากขึ้น ทำให้ประชากร และกำลังการผลิตของประเทศหายไป งบประมาณที่ใช้สำหรับการดูแลผู้สูงวัยก็จะต้องจะต้องใช้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจโดยตรง 

นายสุวัจน์ ยังได้กล่าวถึง 5 ปัจจัยสำคัญภายนอกที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ทั้งการเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก ทั้งสงครามการค้า และสงครามจริง จนเกิดการจับขั้วของมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก ทำให้เขตภูมิรัฐศาสตร์โลกเปลี่ยนแปลงไป และส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุน เกิดการย้ายฐานการผลิต ทำให้เศรษฐกิจโลกผันแปรสูง และผลกระทบจากสถานการณ์สงคราม ทั้งที่เกิดในยูเครน และตะวันออกกลาง จนทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้น สินค้าการเกษตรขาดแคลน ทำให้สินค้าต่าง ๆ ราคาสูงขึ้นตามมาด้วย

รวมถึงผลสืบเนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ที่ทั่วโลกใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากมาแก้ไขปัญหา และมีการกู้เงินจำนวนมาก จนเกิดภาวะเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยตามธนาคารต่าง ๆ ก็ปรับตัวที่สูงขึ้น เพื่อกดเงินเฟ้อให้ต่ำลงจนกระทบต่อธุรกิจ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่นเดียวกัน

\'\'สุวัจน์\'\'ชูจุดแข็งประเทศ อีสานธงนำสร้างเศรษฐกิจอยู่ดีกินดี

รวมทั้งยังมีการเข้ามาของเทคโนโลยี หรือ Technology Disruption และไลฟ์สไตล์สังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไปหลังเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 จนเกิดการผันผวนในอุตสาหกรรม และการทำธุรกิจ ทั้งในการผลิต การลงทุน และการจ้างงาน รวมถึงยังมีภาวะโลกร้อน ที่ทำให้เกิดวิกฤตอุบัติภัยทางธรรมชาติ ที่ทุกประเทศใช้จ่ายงบประมาณในการแก้ปัญหาภัยทางธรรมชาติ และขจัดภัยโลกร้อน ซึ่งส่งผลต่อการใช้จ่าย และมีผลต่อต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้นจากมาตรการทางภาษี และการผลิต เพื่อแก้ปัญหา

นายสุวัจน์ ยังได้เสนอถึงการใช้จุดแข็ง และตัวตนของประเทศไทยที่แข็งแกร่งมาต่อยอด และแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อสร้างการอยู่ดีกินดีให้กับประชาชน เพื่อรักษาเศรษฐกิจไทย ทั้งการใช้จุดแข็งการเป็นประเทศเกษตร, จุดแข็งด้านอาหาร, จุดแข็งภาคบริการของประเทศ, จุดแข็งด้านการท่องเที่ยว และจุดแข็งด้านวัฒนธรรมของประเทศ ซึ่งถือเป็นทางออกที่ยั่งยืนในการฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจไทย และจุดแข็งเหล่านี้ส่วนหนึ่ง ก็อยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน ทั้งมีจำนวนประชากร 1 ใน 3 ของประเทศ และมี GDP ที่คิดเป็นจำนวนราว 2,000,000 ล้านบาท หรือประมาณ 10 เปอร์เซ็นของ GDP ประเทศ และภาคอีสานยังมีผลผลิตด้านการเกษตรที่สมบูรณ์ ทั้งอ้อย, มัน และข้าว รวมถึงภาคอีสานยังมีเอกลักษณ์ทางด้านอาหาร และมีศิลปวัฒนธรรม-โบราณคดี มีสถานที่ท่องเที่ยวในภาคอีสานมากมาย และโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ ที่สามารถเชื่อมโยงสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้ ทั้งถนน, รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ดังนั้น พื้นฐานโครงสร้างพื้นฐานนี้ จึงสามารถต่อยอดไปสู่ความเป็นสากล และต่อยอดเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ รวมทั้งอีสาน ยังเป็นขุมทรัพย์ด้านแรงงานของประเทศ สามารถรองรับการลงทุนได้ และยังเป็นพื้นที่ที่สามารถผลิตพลังงานทดแทนได้ รวมถึงยังมียุทธศาสตร์พื้นที่ หรือชัยภูมิที่ภาคอีสาน เป็นประตูสู่อินโดจีน และเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด จึงถือเป็นความพร้อมของภาคอีสาน ในการกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจโลก และวางนโยบายระยะยาว โดยใช้ภาคอีสานประเทศไทยเป็นพื้นฐาน

\'\'สุวัจน์\'\'ชูจุดแข็งประเทศ อีสานธงนำสร้างเศรษฐกิจอยู่ดีกินดี
 
สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ ได้แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 ''เปิดอีสาน เปิดประตูสู่เวทีโลก'' โดยนายสุวัจน์, ช่วงที่ 2 มูมมังอีสาน หรือ มรดกอีสาน โดยรองศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ที่จะกล่าวสัมมนาในหัวข้อ ''มูนมังอีสาน พลิกวิกฤตเศรษฐกิจไทย'', หัวข้อ ''อีสาน ทำเลทองอินโดจีน ระเบียงเศรษฐกิจใหม่'' โดยนางสาวจินนา ตันศราวิพุธ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแะสังคมแห่งชาติ หรือ สศช., ''การท่องเที่ยวอีสาน ผ่าน Soft Power: จากอัตลักษณ์สู่ความยั่งยืน'' โดยนางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ผู้ว่า ททท.

ช่วงที่ 3 อนาคตอีสาน อนาคตประเทศไทย ซึ่งจะนำกล่าวโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในหัวข้อ ''แก้หนี้คนอีสาน?'', ''อนาคตประเทศไทย: อีสานเชื่อมโลก'' โดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, ''ดิน น้ำ เส้นเลือดใหญ่เกษตรกรอีสาน'' โดย นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และบทสรุป ''ISAN NEXT: พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก'' โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา 

่ช่วงที่ 4 ช่วงสุดท้าย ในเวลา 17.30 น. จะเป็นการบรรยายพิเศษโดยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในหัวข้อ ''อนาคตอีสาน โอกาสประเทศไทย'' ก่อนที่จะรับประทานอาหารเย็นร่วมกันในงาน ''DINNER สำรับโคราช'' และชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น Soft Power อีสาน โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา 

ทั้งนี้ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความสำคัญของไทย ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ เป็นแหล่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เป็นขุมทรัพย์ทางอาหาร แหล่งอารยธรรม และเป็นขุมทรัพย์ทางภูมิปัญญาที่สั่งสมมาจากบรรพบุรุษ รุ่นสู่รุ่น ทำให้ภาคอีสานมีเอกลักษณ์เฉพาะ มีศักยภาพในการเติบโต ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และยังมีความได้เปรียบเชิงพื้นที่ด้านคมนาคมในอนาคต มีแนวโน้มของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่มีโอกาสการเติบโตอีกมาก ดังนั้น จัดสัมมนา ISAN NEXT : พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก ในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสในการผลักดัน ให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคอีสาน ซึ่งจะมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในลำดับต่อไปด้วย