รฟท.โต้"ทรงศักดิ์"ทวงคืนเขากระโดงตามสิทธิ์ไม่ก้าวล่วงประชาชน
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ออกเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงถึงการดำเนินการของ รฟท. เกี่ยวกับที่ดินเขากระโดงด้วยปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานข่าวของสื่อมวลชนว่า นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแลกรมที่ดิน ได้นำอธิบดีกรมที่ดิน รองอธิบดีกรมที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ สส.จังหวัดบุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ และข้าราชการส่วนท้องถิ่นจังหวัดบุรีรัมย์ พบกับราษฎรที่ครอบครองที่ดินบริเวณเขากระโดงเพื่อยืนยันสิทธิ์การครอบครองที่ดินของราษฎรและกล่าวพาดพิงถึง รฟท. ในทำนองว่า รฟท. จะไปก้าวล่วงสิทธิของประชาชนนั้น
รฟท. เห็นว่า การดำเนินการข้างต้นอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดของประชาชนต่อการดำเนินการของ รฟท. เกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของ รฟท. ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง รฟท. จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงผ่านแถลงการณ์ฉบับนี้ ดังนี้
1. รฟท. เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ดินของ รฟท. จึงเป็นที่ดินของรัฐและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รฟท. มีวัตถุประสงค์เพื่อรับโอนกิจการของกรมรถไฟ จัดดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการรถไฟเพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน ดังนั้น บรรดาที่ดินและทรัพย์สินที่เคยเป็นของกรมรถไฟจึงโอนมาเป็นของ รฟท. ซึ่ง รฟท. มีหน้าที่ต้องดูแลที่ดินบริเวณเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ และติดตามเอาที่ดินของ รฟท. ที่มีการยึดถือครอบครองและออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบให้กลับคืนมาเป็นของ รฟท. การดำเนินการของ รฟท. เพื่อทวงคืนที่ดินบริเวณเขากระโดง จึงเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย มิใช่เพื่อก้าวล่วงสิทธิของประชาชนแต่อย่างใด
2. ที่ดินบริเวณเขากระโดงได้รับการพิสูจน์และยืนยันผ่านกระบวนการทางศาล และความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนเป็นที่ยุติแล้วว่าที่ดินประมาณ 5,000 ไร่เศษ บริเวณ ตำบลอิสาณ และ ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิของ รฟท. ดังนี้
2.1.เมื่อครั้งที่ รฟท. ได้คัดค้านการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินของกรมที่ดิน จังหวัดบุรีรัมย์ ได้มีหนังสือที่ บร 00011/13853 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม2540 เสนอข้อหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมายคณะที่ 7) ได้มีความเห็นว่าที่ดินบริเวณที่จะออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเป็นที่ดินของ รฟท. รายละเอียดตามความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 106/2541
2.2 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876 /2560 เป็นกรณีที่ รฟท. ยื่นคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดิน40 แปลง บริเวณเขากระโดง ผู้ที่ครอบครองที่ดินจำนวน 35 ราย จึงได้ยื่นฟ้อง รฟท. เป็นจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยเห็นว่าที่ดินที่ขอออกโฉนดเป็นที่ดินของ รฟท. ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายืนตามตามศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้ง 35 ราย ต่อมาสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ได้มีคำสั่งยกเลิกการออกโฉนดที่ดินของผู้ขอทั้ง35ราย รวม 40 ฉบับ
เช่นเดียวกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 เป็นกรณีที่ รฟท. คัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินบริเวณเขากระโดง และ รฟท. ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีดังกล่าว ที่สุดแล้ว ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง โดยให้เหตุผลสรุปว่า ที่ดินที่โจทก์ครอบครองและขอออกโฉนดเป็นที่ดินของ รฟท.
นอกจากนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในคดีหมายเลขดำที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 ยังได้มีคำพิพากษาในคดีที่ รฟท. เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกที่ดินของ รฟท. บริเวณที่ดินเขากระโดง ซึ่งมีเอกสารโฉนดที่ดินและเรียกค่าเสียหาย ซึ่งศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค3 มีคำพิพากษาสรุปว่าที่ดินพิพาทตามฟ้องเป็นของ รฟท. มีสิทธิเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินพิพาทได้และให้ผู้ครอบครองที่ดินชำระค่าเสียหายแก่ รฟท.
2.3 คำพิพากษาศาลปกครองกลางคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 ซึ่ง รฟท. ยื่นฟ้องกรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดิน โดยมีประเด็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ไม่ใช้อำนาจตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ดำเนินการตรวจสอบที่ดินบริเวณพื้นที่ทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ และดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนในที่ดินในบริเวณที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี (รฟท.) เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรหรือไม่ ในคดีดังกล่าวศาลปกครองได้วินิจฉัยโดยอ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองเรื่องข้างต้นแล้วสรุปว่าที่ดินบริเวณพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. นอกจากนี้ คำพิพากษาของศาลปกครองกลางยังระบุด้วยว่า กรมที่ดินมีหน้าที่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการรถไฟฯ ไม่จำต้องไปฟ้องต่อศาลเพื่อให้มีคำพิพากษาทุกแปลง
2.4 มติวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องกล่าวหา เลขดำที่ 51910034 เรื่องกล่าวหาเลขแดงที่ 14999054 ลงวันที่ 12 กันยายน 2554 โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และเลขที่ 8564 เนื่องจากออกทับที่ดินของ รฟท.
3. ในคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองคดีและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 รฟท. ได้เข้าเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวด้วย คำพิพากษาของศาลที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ของที่ดินบริเวณแยกเขากระโดงว่าเป็นของ รฟท. จึงใช้ยันแก่บุคคลภายนอกที่ครอบครองที่ดินบริเวณดังกล่าว รวมถึงใช้ยันกรมที่ดิน ซึ่งเป็นผู้ออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินได้ ทั้งนี้ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 145 วรรคสอง (2) เหตุนี้จึงเป็นหน้าที่ของกรมที่ดินที่จะต้องดำเนินการเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับที่ดินของ รฟท. ซึ่งเป็นการออกโดยคลาดเคลื่อนและไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ รฟท. ได้ใช้สิทธิฟ้องคดี และติดตามให้มีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและมีพยานหลักฐานเชิงประจักษ์รองรับ มิได้เป็นการก้าวล่วงสิทธิของประชาชนตามที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด
การฟ้องคดีปกครอง เป็นการใช้สิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งเมื่อ รฟท.พบว่ากรมที่ดินออกเอกสารสิทธิโดยคลาดเคลื่อนและไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิซึ่งทับซ้อนที่ดินการรถไฟฯ จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพราะการฟ้องกรมที่ดิน 1 คดีนั้น มีผลให้ต้องเพิกถอนเอกสารสิทธิครอบคลุมที่ดินรถไฟทั้งหมด 5,083 ไร่ ซึ่งหากฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมเป็นรายแปลง การรถไฟฯ จะต้องยื่นฟ้องคดีเพื่อเพิกถอนเอกสารสิทธิไม่ต่ำกว่า 900 แปลง หรือต้องฟ้องไม่ต่ำกว่า 900 คดี ถึงจะเพิกถอนเอกสารสิทธิทุกแปลงได้ เมื่อ รฟท. ในขณะนั้น พิจารณาว่าขั้นตอนตั้งแต่ยื่นฟ้องจนถึงศาลมีคำพิพากษา ใช้เวลาประมาณ 2 ปี ซึ่งถือว่าไม่นาน จึงเลือกดำเนินการดังกล่าว
กรณีที่ระบุว่า การยื่นเอกสารแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินต่อคณะกรรมการ ที่ตั้งขึ้นตาม ม. 61(2) เหตุใดการรถไฟฯ จึงไม่ยื่นเอกสารแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินชุดเดียวกับที่ยื่นต่อศาลฎีกา ซึ่งแสดงถึงเขตที่ดินของการรถไฟฯ ที่ครบถ้วน และที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ เพื่อให้คณะกรรมการสอบสวนของกรมที่ดินพิจารณานั้น
การรถไฟฯ ยื่นเอกสารซึ่งแสดงถึงการได้มาของที่ดินรถไฟ รวมถึงเอกสารที่เกี่ยวข้อง ให้กับคณะกรรมการสอบสวนทั้งหมด และเป็นเอกสารชุดเดียวกันกับที่ยื่นต่อศาลยุติธรรมด้วย ซึ่งการรถไฟฯนำส่งเอกสารดังกล่าวโดยมีหลักฐานยืนยันทุกรายการ ในขณะเดียวกัน มีเอกสารปรากฎว่า เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม 2567 เจ้าหน้าที่ที่ดินบุรีรัมย์ และฝ่ายบริหารพัฒนาโครงการที่ดิน ของรฟท. ร่วมกันลงตรวจสอบพื้นที่ และได้ทำการปักหมุดตามแบบ ร.ว. 9 เรียบร้อยแล้ว แต่ในระหว่างที่มีการตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของพิกัดของแผนที่นั้น กลับปรากฎว่า เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2567 อธิบดีกรมที่ดินมีหนังสือถึงการรถไฟฯ แจ้งคำสั่งยุติเรื่องฯ ออกมาก่อน โดยไม่รอการตรวจสอบหาแนวเขตที่ดินเสร็จสิ้น ในขณะที่ สำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ทำหนังสือถึงการรถไฟฯ ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ขอให้ดำเนินการตรวจพิกัดตำแหน่งหมุดที่ดินตามแผนที่ ถือเป็นการขัดแย้งของข้อมูลและผลการพิจารณาของคณะกรรมการ
(ตามเอกสารแนบที่ 3)
4. มีการตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่ของการรถไฟฯ ที่เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการที่ดินฯ ของสภาผู้แทนราษฎร ว่า หาเอกสารอ้างอิงขอบเขตที่ดินของการรถไฟฯ ไม่พบ เอกสารที่ใช้อ้างในศาลหายไปได้อย่างไร
การรถไฟฯ ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ ว่า ในการตอบคำถาม เจ้าหน้าที่การรถไฟฯ ไม่ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าเอกสารสูญหายแต่อย่างไร แต่คณะกรรมาธิการที่ดินฯ ได้ถามหาแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟ 2462 ซึ่งการรถไฟฯ แจ้งยืนยันมาโดยตลอดว่า แผนที่ดังกล่าวไม่เคยปรากฎและการรถไฟฯ ยังชี้แจงมาโดยตลอดด้วยว่า เอกสารสิทธิ์ที่ใช้ชี้แจงต่อศาลยุติธรรม “คือแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายโคราช - อุบล ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา เขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375 + 650 ซึ่งศาลฎีกาได้พิจารณาเอกสารหลักฐานดังกล่าว และพิพากษาแล้วว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกาในการสร้างทางรถไฟ ปี 2462” นอกจากนี้ ยังมีรายชื่อบุคคลที่กรมรถไฟแผ่นดินจ่ายค่าทำขวัญ 18 ราย การรถไฟฯ จึงยึดถือว่า แผนที่และที่ดินตามแผนที่ดังกล่าว เป็นที่ดินของการรถไฟฯ มาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม การรถไฟฯ ได้จัดส่งแผนที่แสดงเขตให้อธิบดีกรมที่ดิน และคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 พิจารณาแล้ว แต่กลับไม่มีการหยิบยกมากล่าวถึงในการพิจารณา หรือคำแถลงแต่อย่างใด
5. ปัญหาการออกเอกสารทับซ้อนที่ดินของ รฟท. นั้น หน่วยงานที่เป็นผู้ออกเอกสารสิทธิในที่ดิน คือ กรมที่ดินและสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้งว่ามีการออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยและกรมที่ดินในอันที่จะต้องแก้ไขหรือดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วยการดำเนินการตามขั้นตอนในการเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินทั้งหมด การที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแลกรมที่ดินได้นำอธิบดีกรมที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องในการออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณเขากระโดง พร้อม สส.จังหวัดบุรีรัมย์ และทนายความซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของประชาชนออกมาให้ความเห็นผ่านสื่อมวลชนยืนยันถึงความถูกต้องในการออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดิน ในลักษณะของการชี้นำสังคมให้เกิดความเข้าใจผิดในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง และการดำเนินการของ รฟท. นั้น น่าจะไม่ใช่แนวทางดำเนินการที่ถูกต้องและทำให้เกิดภาพลักษณ์ทางลบแก่ รฟท.
6. รฟท. ขอยืนยันสิทธิในความเป็นเจ้าของกรมสิทธิที่ดินของ รฟท. บริเวณแยกเขากระโดง อันเป็นที่ดินของรัฐ โดยจะดำเนินการทุกอย่างภายในกรอบของกฎหมาย เพื่อให้ที่ดินดังกล่าวกลับคืนมาเป็นที่ดินของ รฟท. เพื่อสงวนไว้เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินอันเป็นไปเพื่อประโยชน์โดยรวมของประชาชนทุกคนต่อไป
ท้ายนี้ รฟท. ขอเรียนว่า การแก้ปัญหาที่ดินเขากระโดงไม่ใช่เรื่องยาก หากกรมที่ดินซึ่งเป็นผู้ออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินได้ร่วมมือกับ รฟท. ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและคำพิพากษาของศาลฎีกาและศาลปกครองกลาง และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมีฝ่ายใดนำเอาปัญหาที่ดินเขากระโดง ไปเชื่อมโยงเพื่อเป็นประเด็นการเมือง เพียงหวังเรื่องคะแนนนิยมทางการเมือง เพราะจะทำให้ การแก้ปัญหามีความยุ่งยากซับซ้อนขึ้นไปอีก