posttoday

รัฐบาลคุมเข้ม แม่สอด เฝ้าระวังอหิวาตกโรค พบผู้ป่วยสะสม4ราย

02 มกราคม 2568

ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ เผยรัฐบาลวางมาตรการคุมเข้ม แม่สอด เฝ้าระวังอหิวาตกโรค พบผู้ป่วยสะสม 4ราย ย้ำ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ผู้ประกอบการเข้มงวดความสะอาดตามหลักสุขาภิบาล

นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากกรณีพบผู้ป่วย ติดเชื้อ “อหิวาตกโรค” ในพื้นที่เขตเทศบาลแม่สอด จังหวัดตาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก กระทรวงสาธารณสุข เปิดศูนย์ปฏิบัติการฯ เฝ้าระวังและควบคุมโรคอย่างใกล้ชิด 

สถานการณ์ผู้ป่วยในพื้นที่สามารถควบคุมได้เป็นอย่างดีแล้ว ปัจจุบันมีผู้ป่วยสะสม 4 ราย แบ่งเป็นชาวต่างชาติ 2 ราย คนไทย 2 และมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อไม่มีอาการ 3 ราย ซึ่งผู้ป่วยทั้งหมดได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว และไม่มีผู้เสียชีวิต 
 
แม้ว่าสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดตากจะอยู่ในการควบคุมแล้ว แต่ยังต้องมีการเฝ้าระวังป้องกันอหิวาตกโรคอย่างต่อเนื่อง โดย WHO “องค์การอนามัยโลก” ได้มีการประกาศ “อหิวาตกโรค” ถือเป็นภาวะฉุกเฉินใหญ่ หลังพบมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ

ทั้งนี้ เพื่อให้มีความตระหนักและร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดและติดต่อของโรค โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงจังหวัดตาก ที่มีพื้นที่อยู่ติดชายแดน ชเวโก๊กโก่ ประเทศเมียนมา 

กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาตรการป้องกันโรคอหิวาตกโรค ดังนี้

1.ตลาดและสถานที่จำหน่ายอาหาร 

เจ้าของตลาดทุกแห่งต้องทำความสะอาดตลาดและห้องสุขาอย่างถูกสุขลักษณะ พร้อมฆ่าเชื้อทุกวัน ผู้ประกอบการร้านอาหาร เครื่องดื่ม รถเข็น หาบเร่ และแผงลอย ต้องปฏิบัติตามหลักการสุขาภิบาลและรักษาสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร รวมถึงผู้สัมผัสอาหารทุกคน

2.ห้องสุขาสาธารณะ 

หน่วยงานราชการ โรงเรียน ศาสนสถาน องค์กรเอกชน และผู้ดูแลห้องสุขาสาธารณะ ต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อทุกวัน ตามหลักการสุขาภิบาล

3.คุณภาพน้ำประปา

ผู้ดูแลระบบประปาต้องปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐาน โดยรักษาค่าคลอรีนอิสระในน้ำต้นท่อจ่ายไม่น้อยกว่า 1.0 ppm และปลายท่อจ่ายไม่น้อยกว่า 0.5 ppm

4.การตรวจคัดกรองและรักษา 

ผู้ที่ติดเชื้อหรือสงสัยว่าติดเชื้ออหิวาตกโรคต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองหรือรักษาจนกว่าจะพ้นระยะติดต่อของโรค

5.ความร่วมมือจากสถานที่ที่มีการระบาด

เจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้อยู่อาศัยในสถานที่ที่เกิดการระบาดหรือมีการปนเปื้อนเชื้อ เช่น ร้านอาหาร สถานที่ผลิตน้ำดื่ม/น้ำแข็ง ต้องร่วมมือกับเจ้าพนักงานควบคุมโรคในการตรวจคัดกรองและกำจัดเชื้อ

6.การให้ข้อมูลความรู้ 

ขอความร่วมมือจากหน่วยงานราชการ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และเครือข่ายภาคประชาชน ให้สื่อสารความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและการปฏิบัติตนต่อประชาชนในพื้นที่ โดยเน้นการประชาสัมพันธ์ผ่านทุกช่องทาง 

มาตรการเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อควบคุมและลดการแพร่ระบาดของโรคอหิวาตกโรคในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ.