จับตาอังคารนี้! ร่างแก้ไข รัฐธรรมนูญ ของพรรคเพื่อไทย
"พริษฐ์" ชวนจับตา ร่างแก้ไข "รัฐธรรมนูญ" ของพรรคเพื่อไทย อังคารนี้ โต้ประธานวิปรัฐบาล กำลังวิจารณ์พรรคตัวเองโดยไม่รู้ตัว
6 ม.ค.2568 พรรคประชาชน รายงาน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ พรรคประชาชน โพสต์เชิญชวนประชาชน จับตาร่างแก้ไขรัััฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 7 ธ.ค. 2567 โดยระบุว่า หนึ่งประเด็นร้อนทางการเมืองช่วงนี้คงหนีไม่พ้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (การเพิ่มหมวด 15/1 ให้มี สสร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ & การแก้ไข ม.256 เกี่ยวกับเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ)
ตอนนี้มีร่างของพรรคประชาชนที่บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาแล้ว โดยคาดว่าจะมีร่างของพรรคเพื่อไทย (และร่างของ ครม.?) ถูกเสนอเข้ามาประกบ เพื่อพิจารณาพร้อมกันในที่ประชุมรัฐสภา 14-15 ม.ค. นี้
ผมอ่านบทสัมภาษณ์วันนี้ของทางประธานวิปรัฐบาลเกี่ยวกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว แล้วได้แต่ตั้งคำถามดังๆว่า ในขณะที่ท่านให้สัมภาษณ์โดยมาโจมตีร่างของพรรคประชาชนในสารพัดเรื่อง และพยายามบอกว่าร่างของพรรคท่านดีกว่าอย่างไร ท่านรู้หรือไม่ว่าหลายเรื่องที่ท่านวิจารณ์ร่างของพรรคประชาชน เป็นเรื่องที่ก็อยู่ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยเคยยื่นเข้ามาเมื่อตอนต้นปี 2567
ดังนั้น ในวันอังคาร 7 ม.ค. นี้ ที่เราคาดว่าจะได้เห็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยที่จะยื่นในรอบนี้ (ต้นปี 2568) เราคงต้องจับตาดูว่าเนื้อหาในร่างดังกล่าวจะออกมาเป็นอย่างไรระหว่าง:
ความเป็นไปได้ที่ 1 = พรรคเพื่อไทยเสนอร่างที่มีเนื้อหาเหมือนเดิมกับร่างที่พรรคเพื่อไทยเคยยื่นเมื่อไม่ถึง 1 ปีก่อน - คำถามที่ตามมาคือแล้วทางประธานวิปรัฐบาลจะออกมาให้สัมภาษณ์วิจารณ์เนื้อหาที่มีอยู่ในร่างของพรรคตัวเองไปทำไม?
ความเป็นไปได้ที่ 2 = พรรคเพื่อไทยเสนอร่างที่มีเนื้อหาที่แตกต่างจากร่างที่พรรคเพื่อไทยเคยยื่นเมื่อไม่ถึง 1 ปีก่อน - คำถามที่ตามมาคือแล้วพรรคจะอธิบายสาเหตุของการกลับไป-กลับมาในจุดยืนต่างๆเกี่ยวกับเนื้อหาในร่างอย่างไร?
เพื่อให้เห็นภาพ ผมได้ทำตารางเปรียบเทียบแต่ละร่างในประเด็นสำคัญ โดยขอขยายความ 3 ประเด็นดังนี้
1. เรื่องอำนาจ สว. ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
- ท่านบอกว่าเนื้อหาของร่างพรรคเพื่อไทย “จะไม่ลิดรอนสิทธิ สว.” ซึ่งค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นการพยายามวิจารณ์ร่างของพรรคประชาชนที่ไปเสนอตัดเงื่อนไขในมาตรา 256 ที่ปัจจุบันกำหนดว่าการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆจะต้องได้เสียง 1 ใน 3 ของ สว. (นอกเหนือจากได้เสียง 1 ใน 2 ของสมาชิกรัฐสภา)
- แต่ท่านลืมไปหรือไม่ ว่าร่างที่พรรคเพื่อไทยเสนอตอนต้นปี 2567 ก็เสนอให้ตัดเงื่อนไขเรื่อง 1 ใน 3 ของ สว. ออกไปเช่นกัน
- ดังนั้น แทนที่ท่านจะมาวิจารณ์พรรคประชาชนในเรื่องดังกล่าวที่ท่านเองก็เคยเสนอ ท่านน่าจะใช้โอกาสนี้มายืนยันร่วมกันว่าการตัดเงื่อนไขเรื่อง 1 ใน 3 ของ สว. ดังกล่าวออกไป มีความสมเหตุสมผลแล้ว เพราะ:
(1) เงื่อนไขดังกล่าวเป็นการทำให้ สว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สามารถขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ในทุกกรณี แม้ในกรณีที่ตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งทั้ง 500 คน เห็นชอบกับการแก้ไขก็ตาม
(2) รธน. 2540 & 2550 ก็ไม่เคยไปกำหนดเงื่อนไขเรื่อง 1 ใน 3 ของ สว. มาก่อน
(3) รายงาน ของ กมธ. วิสามัญ ศึกษาแนวทางแก้ไข รธน. จากสภาฯชุดที่แล้ว (ที่มีตัวแทนทุกพรรค) ก็เคยเสนอให้ตัดเงื่อนไขดังกล่าวออกไป
2. เรื่องที่มาของ สสร.
- ท่านบอกว่าร่างของพรรคเพื่อไทยจะไม่มี “รายละเอียดแบบสุดโต่ง” เหมือนกับร่างของพรรคประชาชน
- ผมก็ได้แต่หวังว่า “รายละเอียดแบบสุดโต่ง” ที่ท่านพูดถึงนี้ ไม่ได้หมายถึงจุดยืนว่า สสร. ควรมาจากการเลือกตั้ง 100% เพราะร่างของพรรคเพื่อไทยเมื่อตอนต้นปี 2567 ก็เสนอให้มี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% เช่นกัน (แม้อาจจะมีระบบเลือกตั้งที่แตกต่างกันเล็กน้อยในรายละเอียด)
- การมี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% ไม่เพียงแต่จะทำให้ สสร. มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยที่สุด แต่ยังจะเป็นการรับประกันว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญจะมีตัวแทนของชุดความคิดที่แตกต่างหลากหลายที่มีอยู่ในสังคม
- ยิ่งไปกว่านั้น การมี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% ก็ไม่ได้ทำให้ สสร. ไม่มีพื้นที่สำหรับผู้เชี่ยวชาญ-นักวิชาการที่บางคนมองว่าสำคัญต่อกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ เพราะเราสามารถมี กมธ. ยกร่าง ของ สสร. ที่เปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนดังกล่าวเข้ามาช่วยทำให้รัฐธรรมนูญของเรามีความรัดกุมทางกฎหมายได้ (เหมือนกับที่ถูกเสนอในร่างของพรรคประชาชน และในร่างของพรรคเพื่อไทยเมื่อต้นปี 2567)
3. เรื่องอำนาจ สสร. ในการจัดทำ รธน. ฉบับใหม่
- จุดยืนของพรรคเพื่อไทยในการไม่ให้ สสร. มีอำนาจแก้ไข หมวด 1-2 เป็นอะไรที่เรารับรู้กันอยู่แล้ว และร่างของพรรคเพื่อไทยตอนต้นปี 2567 ก็เขียนไว้ชัดว่าให้ สสร. มีอำนาจจัดทำ รธน. ฉบับใหม่ ทั้งฉบับ ยกเว้นแค่หมวด 1-2
- แต่ท่านประธานวิปรัฐบาลให้สัมภาษณ์รอบนี้ โดยการบอกว่านอกเหนือจากเรื่องหมวด 1-2 แล้ว ร่างของพรรคเพื่อไทยจะไม่แตะ “มาตราที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจทุกมาตรา อีกทั้งไม่แก้ไขประเด็นที่อาจสร้างความแตกแยก”
- คำถามที่ตามมาคือท่านจะไปตีกรอบจำกัดเนื้อหาในรัฐธรรมมนูญฉบับใหม่ไว้แค่ไหน
(1) ท่านนิยาม “มาตราที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจทุกมาตรา” ไว้อย่างไรบ้าง? (เช่น สสร. จะปรับปรุงมาตรา 176 เกี่ยวกับการประกาศใช้และเลิกใช้กฎอัยการศึกได้ไหม หรือปรับปรุงไม่ได้เลยเพราะถือว่าเป็น “พระราชอำนาจ” โดยนิตินัย?)
(2) ท่านนิยาม “ประเด็นที่อาจสร้างความแตกแยก” อื่นๆไว้อย่างไรบ้าง? (เช่น สสร. จะปรับปรุงอำนาจ-ที่มาวุฒสิภา หรือ เสนอระบบสภาเดี่ยวได้หรือไม่? สสร. จะปรับปรุงอำนาจ-ที่มา ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ได้หรือไม่?)
ตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมา ผมได้ทำงานเรื่องรัฐธรรมนูญร่วมกับหลายคนในพรรคเพื่อไทยอย่างราบรื่นมาโดยตลอด ด้วยความเคารพต่อกันและกันแม้จะมีจุดยืนในหลายเรื่องที่เห็นต่างกัน - แต่ผมเห็นว่าบทสัมภาษณ์ของประธานวิปรัฐบาลครั้งนี้เป็นการจงใจวิจารณ์พรรคประชาชนให้ฝ่ายตนเองดูดี โดยลืมหลักการสำคัญที่เคยยึดถือร่วมกัน
วันอังคารที่ 7 ม.ค. นี้ ผมขอชวนพี่น้องประชาชนและพี่น้องสื่อมวลชนจับตาดูร่างแก้ไข รธน. ของพรรคเพื่อไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อมาดูว่าสิ่งที่ประธานวิปรัฐบาลให้สัมภาษณ์ในวันนี้ จะกลายเป็นการวิจารณ์ร่างของพรรคตัวเองโดยไม่รู้ตัว หรือจะเป็นหนังตัวอย่างของการกลับลำในจุดยืนบางเรื่องที่กำลังจะเกิดขึ้น?