“ภัทรพงษ์” ลั่น ฝุ่นพิษอ่วม การเผาภาคการเกษตรพุ่ง มาตรการรัฐล่าช้า
“ภัทรพงษ์” ลั่น ฝุ่นพิษอ่วม การเผาภาคการเกษตรพุ่ง ติง มาตรการรองรับจากรัฐล่าช้า "นายกฯอิ๊งค์" อ้างเตรียมการตั้งแต่ปีก่อน กลับมีแค่หนังสือขอความร่วมมือ
นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.พรรคประชาชน จ.เชียงใหม่ เปิดเผยถึงกรณีที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เรื่องปัญหาฝุ่น PM 2.5 ว่าได้มีการเตรียมการแก้ไขตั้งแต่ปีที่แล้วและ ยืนยันว่า ปี 2568 ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จะลดลงแน่นอน
นายภัทรพงษ์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ฝุ่นพิษอ่วม การเผาภาคการเกษตรพุ่ง มาตรการรองรับจากภาครัฐล่าช้า ทั้งที่ตัวเลขพื้นที่เผาไหม้ภาคเกษตรในปี 67 เพิ่มขึ้นจากปี 66 กว่า 6.8 ล้านไร่ ข้อมูลข้อเสนอแนะฝ่ายค้านอภิปรายให้รัฐบาลทราบและมีเวลาเตรียมรับมือแต่เนิ่นๆ แต่รัฐบาลกลับไม่ดำเนินการ อ้างเตรียมแผนการตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เห็นเพียงแค่หนังสือขอความร่วมมือ รัฐบาลจะรับผิดชอบต่อผลกระทบจากฝุ่นพิษครั้งนี้อย่างไร?
จากค่า PM2.5 ที่สูงในเกณฑ์อันตรายต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคกลาง สอดคล้องกับพื้นที่เผาไหม้ที่หนาแน่นในโซน ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคอีสาน ซึ่งหากนับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2567 ที่ผ่านมาถึงวันที่ 6 ม.ค.2568 มีการตรวจพบจุดความร้อนกว่า 8,000 จุดทั่วประเทศโดยพบเป็นพื้นที่เกษตรกว่า 85%
การเผาไหม้ภาคการเกษตรเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ถูกรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมองข้ามมาโดยตลอด เห็นได้อย่างชัดเจนจากที่พรรคเพื่อไทยได้อ้างไว้ในวันที่ 11 กันยายน 2567 ว่า “แก้ต้นตอ PM2.5 ภายในประเทศ ลดการเผาได้อย่างชัดเจน” ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วตัวเลขพื้นที่เผาไหม้ของปี 67 ภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยนั้นมีตัวเลขสูงถึง 19.5 ล้านไร่ มากกว่าปี 66 ที่มีพื้นที่เผาไหม้อยู่ที่ 11.3 ล้านไร่ อยู่กว่า 8.2 ล้านไร่ พื้นที่เผาไหม้ที่เพิ่มขึ้นขนาดนี้ แต่ยังกล่าวอ้างว่าลดการเผาได้อย่างชัดเจน อดสงสัยไม่ได้ครับว่า ไม่มีความรู้กันจริงๆ หรือตั้งใจบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้ได้มาซึ่งผลงานที่ไม่มีอยู่จริงกันแน่
จากการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (7 ม.ค.68) ทางนายกรัฐมนตรีก็ได้กล่าวว่า รัฐบาลได้เตรียมมาตรการตั้งแต่ปีที่แล้ว ยิ่งทำให้ผมกังวลใจมากขึ้น เพราะกับตัวเลขค่าฝุ่นพิษที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะฝุ่นพิษที่มาจากการเผาภาคการเกษตรนั้น แสดงให้เห็นว่ามาตรการที่นายกรัฐมนตรีพูดถึงนั้นแทบไม่เกิดผลใดๆเลย และจากสิ่งที่ผมได้เสนอแนะให้รัฐบาลอย่างชัดเจนไปแล้ว เริ่มตั้งแต่เรื่องง่ายๆในเรื่องการบูรณาการฐานข้อมูลร่วมกันของทุกหน่วยงานเพื่อให้เราสามารถตรวจสอบย้อนกลับ และวางแผนในการจัดการกับการเผาได้แม่นยำมากขึ้น มาตรการการสนับสนุนเกษตรกรที่ไม่เผาทั้งกับนาข้าว อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมไปถึงมาตรการการห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรที่มาจากการเผา ซึ่งในวันนี้ทางนายกรัฐมนตรีก็ได้มีการสั่งการ(อีกแล้ว) แต่ก็ไม่เห็นความคืบหน้า หรือความชัดเจนในการออกประกาศกฎหมาย/ระเบียบใดๆที่เกี่ยวข้องเลย
ข้อเสนอแนะให้บูรณาการข้อมูลของทุกหน่วยงานร่วมกันที่ทางผมเองได้เคยนำมายกเป็นตัวอย่างให้กับรัฐบาลอย่างชัดเจน ก็ยังถูกเพิกเฉย ปัจจุบันข้อมูลของรัฐบาลก็ยังคงขาดการบูรณาการทั้งๆที่เรามีข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกเกษตรกรรมหรือ AGRI-MAP ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกอ้อยของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และข้อมูลพื้นที่เผาไหม้ Burnscar ของ GISTDA ที่สามารถนำมารวมกันแล้วนำเสนอต่อประชาชนให้ทราบได้โดยทั่วกันว่าพื้นที่เผาไหม้ในแต่ละวันนั้นเกิดขึ้นจากพื้นที่อะไร ปริมาณกี่ไร่ และรัฐบาลมีมาตรการกับพื้นที่เหล่านั้นอย่างไรบ้าง
อีกประเด็นที่มาตรการของรัฐบาลไม่เกิดผลสัมฤทธิ์เลยคือการเผานาข้าว หากเราตรวจสอบภาพถ่ายทางดาวเทียมจะพบว่าพื้นที่เผาไหม้ส่วนใหญ่ ณ ตอนนี้ คือนาข้าว ที่จนถึงวันนี้ เราก็ยังไม่มีมาตรการสนับสนุนการทำนาข้าวแบบไม่เผา หรือส่งเสริมเกษตรกรชาวนาที่ใส่ใจต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แม้กระทั่งโครงการอุดหนุนชาวนาไร่ละ 1,000 บาทยังไม่มีเงื่อนไขด้านการเผาด้วยซ้ำไป สิ่งที่ทำได้กลับไม่ทำ ในเรื่องของการเผาไหม้ในพื้นที่นาข้าว รัฐบาลเพิกเฉยในการแก้ปัญหาอย่างชัดเจน
รองจากนาข้าวก็คือไร่อ้อย กับการเผาอ้อยหรืออ้อยไฟไหม้ในปีนี้ ที่ไร้มาตรการที่ชัดเจนจากรัฐบาลอีกเช่นเคย เปิดหีบมาได้เพียงหนึ่งเดือน ปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบไปแล้วเกือบ 4 ล้านตัน เทียบเป็นพื้นที่เผาไหม้กว่า 400,000 ไร่ แม้ว่าเราจะเห็นทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ออกมาแอ็กชันมากขึ้น มีการส่งหนังสือขอความร่วมมือให้โรงงานไม่รับอ้อยไฟไหม้ในช่วงปีใหม่ แต่ก็ทำอย่างกระชั้นชิดจนเกินไป เพราะถ้าต้องตัดอ้อยสด เกษตรกรต้องหาแรงงานไว้ล่วงหน้า ความล่าช้าของรัฐบาลทำให้การเตรียมการไม่ทัน ผลสัมฤทธิ์จึงไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และมีการประกาศรายชื่อโรงงานที่ไม่ให้ความร่วมมือ อันนี้เป็นเรื่องที่ดีครับ สอดคล้องกับบทลงโทษที่ทางพรรคประชาชนได้เขียนไว้ในร่างพ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน (อากาศสะอาด) ที่กำหนดให้รัฐต้องประกาศรายชื่อผลิตภัณฑ์และผู้ประกอบการที่ก่อให้เกิดฝุ่นพิษ
สิ่งที่รัฐบาลยังขาดคือมาตรการสนับสนุนชาวสวนที่ตัดอ้อยสด และมาตรการการปรับโรงงานที่รับอ้อยเผาครับ ในส่วนของมาตรการสนับสนุน เราได้ทราบรายละเอียดจากทางสอน.แล้วว่าฤดู 67/68 นี้จะปรับจากการสนับสนุน 120 บาทต่อตัน เป็น 69+51 บาทต่อตัน โดยแบ่งเป็น 69 บาทต่อตันอุดหนุนให้กับชาวสวนที่ตัดอ้อยสดทันที และ 51 บาทต่อไร่ใช้อุดหนุนในส่วนของใบอ้อยเพื่อป้องกันการตัดอ้อยสดแต่ไปแอบเผาใบอ้อยในภายหลัง โดยแบ่งเป็นก้อน 51 บาทนี้เป็น 3 ส่วน 1ส่วนให้กับโรงงานไฟฟ้าชีวมวลที่รับใบอ้อยเข้าเป็นเชื้อเพลิงและอีกสองส่วนให้กับเกษตกรชาวสวนตัดอ้อยสดที่ไม่เผาใบอ้อยในภายหลัง ฟังดูเป็นมาตรการที่ดีใช่ไหมครับ แต่ เรามี “แต่” ตัวโตๆครับ
แต่ที่ 1 อ้อยเปิดหีบมากว่าหนึ่งเดือนแล้ว มาตรการสนับสนุนนี้ ยังไม่ผ่านมติครม.หรือแม้กระทั่งถูกบรรจุเข้าที่ประชุมครม.เลย (ฤดูเก็บเกี่ยวอ้อย 66/67 ผ่านมติครมตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธ.ค.66)
แต่ที่ 2 ยังคงมีชาวสวนตัดอ้อยสดที่ยังไม่ได้รับเงินสนับสนุนชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดของปี 65/66 และปี 66/67 อยู่อีกจำนวนหนึ่งเลย ผมก็ชักไม่แน่ใจครับว่าสาเหตุที่ล่าช้ามาจากการตัดงบในการใช้หนี้ธ.ก.ส. 31,000 ล้านบาทมาทำ digital wallet หรือไม่ เพราะใน 31,000 ล้านบาทมีโครงการชำระต้นทุนสนับสนุนตัดอ้อยสด ลด PM2.5 กว่า 800 ล้านบาทเลยทีเดียว
แต่ที่ 3 ครับ มาตรการปรับอ้อยไฟไหม้ ที่จะปรับอ้อยไฟไหม้ตันละ 130 บาท หากมีอ้อยไฟไหม้มากกว่า 25% ที่ปัจจุบันระเบียบนี้ก็ยังไม่ประกาศใช้เลย เพิ่งจะปิดรับฟังความคิดเห็นร่างระเบียบนี้ไปเมื่อ 13 ธ.ค. 67 ที่ผ่านมานี้เอง แล้วเราไม่สามารถปรับย้อนหลังได้นะครับ เพราะระเบียบนี้จะมีผลบังคับใช้หนึ่งวันหลังจากที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
แนวทางการเตรียมการรับมือกับปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ทั้งหมดนี้ผมได้อภิปรายต่อรัฐบาลไปอย่างละเอียดไว้ล่วงหน้าแล้ว ว่าการจะแก้ปัญหานี้ รัฐต้องเดินหน้าทำงานกันอย่างหนักในช่วงที่ฝุ่นยังไม่เกิด การที่เราใช้งบประมาณกับการป้องกันปัญหานี้ มันคุ้มค่ากว่าการฟื้นฟูเยียวยาทั้งตัวเลขทางเศรษฐกิจและสุขภาพชีวิตของประชาชนหลายเท่าอย่างแน่นอน โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่ต้องมีการประกาศมาตรการสนับสนุนและบทลงโทษให้เกษตรกรได้ทราบและวางแผนต้นทุนแต่เนิ่นๆ เพื่อให้เกษตรกรได้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและไม่ส่งผลกระทบต่อปากท้องหรือเงินในกระเป๋าของเกษตรกร
ข้อเสนอแนะของผมในตอนนี้คือ (1) รัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการสนับสนุนชาวนาที่ไม่เผาและชาวสวนไร่อ้อยตัดอ้อยสดให้ชัดเจน พร้อมจัดการปัญหาชาวสวนไร่อ้อยที่ยังตกหล่นจากเงินอุดหนุนของฤดูเก็บเกี่ยวปีก่อนๆให้หมดโดยไว
(2)เร่งออกมาตรการระเบียบปรับอ้อยไฟไหม้ให้มีผลบังคับใช้ในทันที เพื่อให้มีกฎหมายบังคับใช้กับโรงงานที่รับอ้อยไฟไหม้ ไม่ใช่เพียงแค่ทำหนังสือขอความร่วมมือแบบที่ทำอยู่ในปัจจุบัน
ในส่วนของแหล่งกำเนิดฝุ่นพิษอื่นๆที่รัฐบาลต้องเร่งทำในตอนนี้คือฝุ่นพิษ PM2.5 จากไฟป่า ที่งบประมาณปี 68 รัฐบาลยังคงจัดสรรไปอย่างไม่เพียงพอ ตัดงบประมาณท้องถิ่นที่ขอเพื่อดับไฟป่าจาก 1,323 ล้านเหลือเพียงแค่ 122 ล้านเท่านั้น ตรงนี้ต้องเร่งดำเนินการจัดสรรงบกลางให้ตรงจุดอย่างรวดเร็ว เรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเอง อย่าจัดสรรงบกลางล่าช้าเหมือนปีที่แล้วที่รัฐบาลทำผิดพลาดไป และปลดล็อกกระเป๋าเงินฉุกเฉินให้กับแต่ละจังหวัดแต่ละกระทรวงด้วยการแก้ระเบียบเงินทดรองราชการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ที่ปัจจุบันรัฐบาลก็ยังคงทำไม่เสร็จอีกเช่นกัน (เรามาขยายความส่วนนี้กันภายหลัง) พ่วงไปถึงเรื่องสุขภาพที่มาถึงปัจจุบัน รัฐบาลก็ยังไม่ประกาศเพิ่มให้โรคมะเร็งปอดเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังจากฝุ่นพิษ PM2.5 เลย
ถ้ารัฐบาลดำเนินการตามที่ผมได้เสนอแนะไป มาตรการเหล่านี้จะถูกประกาศบังคับใช้ไปตั้งแต่ปีที่แล้ว และประชาชนจะไม่ถูกทิ้งให้เผชิญกับ PM2.5 เดียวดายดังเช่นในปัจจุบัน ผมขอให้รัฐบาลทำความเข้าใจกับปัญหานี้ใหม่ทั้งหมด และเรียนรู้ถึงช่วงเวลาที่ควรดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหานี้ อย่ารอให้เกิดปัญหาก่อนแล้วค่อยแก้ เพราะตอนนี้ ความไม่รู้และไม่เข้าใจปัญหาของรัฐบาลกำลังทำลายปอดของประชาชนอย่างช้าๆ