ไฟป่าโคราช ปะทุต่อเนื่อง 8 วันยังดับไม่ได้ “ภัทรพงษ์” ชี้งบไฟป่าถูกมองข้าม
ไฟป่าโคราช ปะทุต่อเนื่อง 8 วันยังดับไม่ได้ “ภัทรพงษ์” ชี้งบจัดการไฟป่าถูกมองข้ามขอ 1.3 พันล้านให้ อบต. 1,800 แห่ง กลับได้รับอนุมัติแค่ 122 ลบ.
นาย ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร์ จ.เชียงใหม่ พรรคประชาชน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงกรณีเกิดไฟป่าที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยระบุว่า ไฟป่าโคราช 8 วันยังดับไม่ได้ “งบประมาณ” กับ “ไฟป่า” ปัญหาที่ถูกมองข้ามในทุกยุคทุกสมัย ก่อนอื่นขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่จาก กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ กรมปภ. อบต.พญาเย็น อบต.ปากช่อง อบต.ขนงพระ อบต.หนองน้ำแดง ทต.สีมามงคล อาสาสมัคร มูลนิธิ สมาคมตอบโต้ภัยพิบัติ ในการเผชิญเหตุไฟป่าเขาลอยในครั้งนี้ ให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีครับ
จากเหตุการณ์ไฟป่าในพื้นที่ป่าสงวน เขาลอย ตำบลพญาเย็น อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ที่พบจุดความร้อนจากไฟป่าครั้งแรกในวันที่ 3 มกราคมจนถึงเช้ามืดวันนี้ 11 มกราคมก็ยังพบจุดความร้อนในพื้นที่เขาลอยอยู่ ปัจจุบันประเมินความเสียหายไว้ที่ประมาณ 2,000 ไร่ ซึ่งภารกิจด้านไฟป่าในพื้นที่ป่าสงวนนั้นถูกถ่ายโอนให้เป็นความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ นั่นคือ อบต.พญาเย็น นั่นเองครับ
แต่ปัญหาที่ผมได้อภิปรายไว้ตั้งแต่ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 68 เมื่อปีที่แล้วนั่นก็คือ งบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้หน่วยงานต่าง ๆ กับภารกิจไฟป่านั้นไม่เพียงพอ โดยเฉพาะกับท้องถิ่นที่ดูแลไฟป่าในพื้นที่ป่าสงวนทั่วประเทศ ที่ในปีงบประมาณ 2568 นี้ทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ของบประมาณให้กับ อบต. 1,800 แห่งมาใช้ในภารกิจป้องกันไฟป่า รวม 1,323 ล้านบาท แต่กลับได้รับอนุมัติเพียงแค่ 90 แห่ง หรือ 122 ล้านบาทเท่านั้น และกับเหตุการณ์นี้ “อบต.พญาเย็น ไม่ได้งบประมาณในด้านไฟป่าเลยแม้แต่บาทเดียว”
ทำให้เมื่อไปดูข้อบัญญัติงบประมาณปี 68 ของ อบต.พญาเย็น อบต.มีเพียงแค่โครงการอบรมป้องกันไฟป่า 10,000 บาท และงบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินภัยพิบัติ 200,000 บาทเท่านั้น (ก้อนนี้ยังต้องใช้กับภัยแล้ง และน้ำท่วมด้วย) ผมเชื่อมั่นครับ หากท้องถิ่นมีงบประมาณในการป้องกันไฟป่าที่เพียงพอแต่แรก ท้องถิ่นจะมีงบประมาณในการจัดวอร์รูมรับมือไฟป่า แนวกันไฟ หน่วยเฝ้าระวัง ลาดตระเวน หรือแม้กระทั่งหอคอยดูไฟป่า แล้วเมื่อเกิดไฟป่า ท้องถิ่นจะสามารถเข้าควบคุมได้แต่เนิ่น ๆ ไม่ลุกลามถึงขั้นที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน
ปัญหางบประมาณไฟป่าไม่ได้ถูกมองข้ามแต่เพียงงบท้องถิ่นครับ กรมอุทยานฯที่ดูแลไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ งบประมาณปี 68 นี้ตั้งคำขอไป 1,478 ล้านบาท แต่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลเพียงแค่ 392 ล้านบาท และกรมป่าไม้ขอไป 509 ล้านบาท แต่ก็ได้เพียงแค่ 137 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งงบประมาณในส่วนของโดรนตรวจจับความร้อนและเครื่องเป่าลม ก็ถูกตัดออกแทบทั้งหมด ทำให้ปีนี้อุทยานฯต้องนำเงินนอกงบประมาณของตัวเอง เงินที่ได้จากค่าบำรุงอุทยานที่พวกเราเข้าไปเยี่ยมชมนั่นแหละครับ มาซื้ออุปกรณ์เหล่านี้แทน และเมื่องบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่เพียงพอ หน่วยงานต้องทำอย่างไรครับ
“ของบกลาง”
ปัญหาในส่วนของงบกลาง ที่ปัจจุบันก็ยังไม่แม้แต่เข้าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเลย ซึ่งในส่วนนี้ผมได้เสนอในการอภิปรายแถลงนโยบายรัฐบาลชุดนี้เมื่อเดือนกันยายนแล้วว่า ต้องเริ่มเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในเดือนธันวาคมและเคาะงบอย่างช้าไม่เกินเดือนมกราคมนี้ ซึ่งผมหวังว่ารัฐบาลจะเร่งดำเนินการในส่วนนี้ เพราะถึงปัจจุบันงบกลางก้อนนั้นยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของสำนักงบประมาณอยู่เลย ยังไม่ได้ถูกนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ผมหวังว่ารัฐบาลจะเรียนรู้จากความผิดพลาดในปีที่แล้วที่อนุมัติงบกลางกันล่าช้า ไม่รอจนเดือนพฤษภาคมที่ไฟป่าไหม้หมดแล้วถึงอนุมัติงบกลาง แบบปีที่แล้วนะครับ
งบประมาณอีกส่วนหนึ่งที่ผมเสนอแนะไปแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน แล้วเน้นย้ำอีกรอบในการอภิปรายแถลงนโยบาย นั่นคือ เงินภัยพิบัติ หรือเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินนั่นเองครับ เงินก้อนนี้สำคัญมากนะครับ เงินก้อนนี้จะทำให้หน่วยงานสามารถหยิบนำเงินมาใช้ในเวลาฉุกเฉินได้เลย แล้วส่งหลักฐานการใช้จ่ายให้กรมบัญชีกลางในภายหลัง งบประมาณก้อนนี้ก็ยังไม่ได้แก้ระเบียบ ทำให้การใช้เงินก้อนนี้กับไฟป่าทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ (รายละเอียดสามารถดูได้ในการอภิปรายงบประมาณ 68 วาระแรกของผมครับ)
ทั้งหมดนี้เราจะเห็นชัดเจนครับว่า ปัญหาด้านงบประมาณกับไฟป่านี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ไม่เคยถูกพูดถึง แต่เป็นปัญหาเดิม ๆ ที่ถูกมองข้ามมาทุกยุคทุกสมัยครับ
สุดท้ายขอให้ทุกคนร่วมส่งกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่จาก กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ กรมปภ. อบต.พญาเย็น อบต.ปากช่อง อบต.ขนงพระ อบต.หนองน้ำแดง ทต.สีมามงคล อาสาสมัคร มูลนิธิ สมาคมตอบโต้ภัยพิบัติ ในการเผชิญเหตุไฟป่าเขาลอยในครั้งนี้ ให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีครับ