นายกฯอิ๊งค์เผยเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ไม่เคาะสถานที่ตั้ง
นายกฯแพทองธาร ชินวัตร เผยยังไม่มีการระบุ สถานที่ตั้ง เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์เป็นเพียงการระดมสมองจะให้ออกมาในรูปแบบใด ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยต้องใช้เวลา
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวความคืบหน้าการจัดทำร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ว่า ยังไม่มีการระบุเรื่องสถานที่ตั้ง เป็นเพียงการระดมสมองว่า อยากให้ออกมาในรูปแบบใด ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยจึงต้องใช้เวลา ส่วนประเด็นเรื่องการตรวจสอบนั้นยังอยู่ในกระบวนการ ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้แจ้งมาว่าจะต้องดำเนินการภายในกี่วัน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13ม.ค.68 นางสาวแพทองธาร เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา
ขณะที่นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ชี้แจงถึงร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ว่า กฤษฎีกาไม่ได้เห็นแย้งหรือไม่เห็นด้วย เป็นเพียงข้อสังเกตที่ต้องนำเรียน ครม. และจะสามารถนำไปปรับแก้เพิ่มเติมในกฤษฎีกาเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการสร้างแมนเมดเดสติเนชั่น (Man-made Destination) หรือสถานที่ท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ตามนโยบายที่รัฐบาลแถลงไว้ต่อรัฐสภา
ต่อมานายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ตั้งกฤษฎีกาคณะพิเศษที่มีนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมกฤษฎีกาคณะพิเศษชุดดังกล่าว รวมไปถึงคณะกรรมการประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิหลายคน อาทิ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ, นายธงทอง จันทรางศุ, นายไพโรจน์ วายุภาพ เป็นต้น เพื่อปรับแก้ร่างพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. … (Entertainment Complex)
“เราเป็นเหมือนพ่อครัวที่คอยปรุงและใส่วัตถุดิบตามที่ลูกค้าต้องการ แต่ถ้ามีบางอย่างที่เขาไม่ต้องการและเราทักท้วง แต่เขายืนยันจะเป็นแบบนั้นก็ต้องตามใจลูกค้า” นายปกรณ์ กล่าว
ในส่วนของเสียงเรียกร้องให้มีการทำประชามติ นายปกรณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นนโยบาย กฤษฎีกาไม่เกี่ยวข้อง โดยเราพยายามทำให้กฎหมายครอบคลุมทุกมิติ ซึ่งหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว โดยหลักคือกระทรวงมหาดไทยและท้องถิ่น กระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้องเรื่องภาษี และกระทรวงคมนาคม ในเรื่องของเส้นทาง
ส่วนจะใช้กรอบเวลาดำเนินการนานแค่ไหน นายปกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลบรรจุไว้ในแผนกฎหมายเร่งด่วน ที่ต้องดำเนินการภายใน 50 วัน และกฤษฎีกาพยายามทำให้ทัน ขณะนี้ประชุมสัปดาห์ละสองครั้ง คือวันอังคารและพฤหัสบดี และพยายามหาวันว่างเพิ่มขึ้น เพราะต้องรีบทำ