“ณัฐพงษ์” จี้ "รัฐบาล" ขอความชัดเจน ปม กระจายอำนาจแก้ปัญหาฝุ่น
“ณัฐพงษ์” ตั้งกระทู้จี้ "รัฐบาล" ขอความชัดเจนกระจายอำนาจแก้ปัญหาฝุ่น ชี้เพื่อไทยชูกระจายอำนาจหาเสียง แต่นโยบายกลับสวนทาง-ล่าช้า
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 13 นาย ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชนและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งกระทู้ถามต่อนายกรัฐมนตรี กรณีการแก้ไขปัญหาฝุ่น pm 2.5 และการกระจายอำนาจ
โดยนายกฯ มอบหมายให้ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้ตอบกระทู้แทน
ณัฐพงษ์เริ่มต้นการถามกระทู้โดยชี้ให้เห็นว่าจากการปฏิบัติที่ผ่านมาของรัฐบาลเพื่อไทยที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาฝุ่น pm 2.5 ตั้งแต่สมัยรัฐบาลเศรษฐามาจนถึงรัฐบาลแพทองธาร มีการผ่านมติ ครม. ไปทั้งหมด 24 ครั้ง มีข้อสั่งการ 43 ครั้ง และมีการให้ข่าวสารเกี่ยวกับการจัดการถึง 71 ครั้ง แต่จากตัวชี้วัดที่รัฐบาลเพื่อไทยตั้งขึ้นเองในปี 2567 ผลปรากฏว่าตกเป้าทุกตัวชี้วัด โดยเฉพาะที่ระบุว่าจะลดพื้นที่การเผาไหม้ให้ได้ 50%
รัฐบาลทราบดีอยู่แล้วว่าสถานการณ์ฝุ่นพิษ pm 2.5 หนักหน่วงมากขึ้นและมีที่มาจากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นข้ามพรมแดน ฝุ่นจากไร่นา ฝุ่นจากไฟป่า และฝุ่นในเมือง ซึ่งวันนี้ตนจะขออภิปรายถึงเฉพาะฝุ่นจากในป่าและในเมือง ซึ่งเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และการกระจายอำนาจโดยตรง
ณัฐพงษ์กล่าวต่อไปว่ากรณีของไฟป่า นายกรัฐมนตรีได้ให้ข่าวไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่ามีการจัดสรรงบกลางไปแล้วกว่า 620 ล้านบาท มีการตั้งพื้นที่ 14 กลุ่มป่าเป้าหมาย แต่วันนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะจัดการไฟป่าอย่างไรในพื้นที่นอก 14 กลุ่มป่า เช่น นครราชสีมา ลพบุรี ชัยนาท และชลบุรี ที่มีปัญหาไฟป่าเช่นกัน
ส่วนกรณีฝุ่นในเมือง กรุงเทพมหานครเพิ่งให้ข่าวว่าวันนี้ยังไม่สามารถตรวจและปรับรถบรรทุกและขนส่งโดยสารสาธารณะ 6 ล้อขึ้นไปได้ เพราะ กทม. ยังไม่ใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก และทำได้เพียงขอความร่วมมือ ส่วนแหล่งกำเนิดฝุ่นที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม มีการศึกษาล่าสุดพบว่าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ฝุ่นจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญเช่นกัน คำถามของตนคือ
ณังฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
1) แม้ปีนี้จะมีการจัดสรรงบกลาง 620 ล้านบาทไปแล้ว แต่ก็เป็นเพียงการจัดสรรงบประมาณแบบปีต่อปีที่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี เช่น งบประมาณปี 2568 มี อปท. ของบประมาณจัดการไฟป่ามา 1,800 แห่ง แต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไปเพียง 90 แห่งเท่านั้น จึงอยากถามล่วงหน้าถึงงบประมาณปี 2569 และปีต่อๆ ไป รัฐบาลมีแนวโน้มออกข้อสั่งการอย่างไรให้การจัดสรรงบประมาณปีต่อปีเป็นงบประมาณประจำให้ อปท. เพียงพอต่อการจัดการไฟป่า
2) ปัญหาฝุ่นในเมือง รัฐบาลมีแนวนโยบายที่จะให้รัฐมนตรีที่รักษาการ พ.ร.บ. แต่ละฉบับออกคำสั่งแต่งตั้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจกำกับดูแลตาม พ.ร.บ. แต่ละฉบับ เช่น พ.ร.บ.ขนส่งทางบก และ พ.ร.บ.โรงงาน หรือไม่อย่างไร
3) ในการแปลผลภาพจากดาวเทียมที่ดูรอยเผาไหม้เพื่อติดตามการเผาไหม้ในพื้นที่การเกษตร ทราบมาว่าตอนนี้ยังมีปัญหาในการแปลผลทางเทคนิค ที่ยังไม่สามารถเอาภาพถ่ายทางดาวเทียมที่เป็นรอยเผาไหม้มาใช้ในการวิเคราะห์ได้ เรื่องนี้มีความคืบหน้าอย่างไร
ทางด้านประเสริฐ ได้ตอบกระทู้คำถามแรกโดยระบุว่าที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องฝุ่น pm 2.5 มาก หลายข้อสั่งการได้บรรลุเป้าหมาย ส่วนเรื่องงบประมาณ เมื่อวันอังคาร 28 ม.ค. ที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติงบกลาง 620 ล้านบาท ส่วนการจัดสรรในอนาคตนั้น การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่ามี 2 กรณี คือกรณีป่าสงวนแห่งชาติ จะเป็นการถ่ายโอนภารกิจจากกรมป่าไม้ โดยจะมีแนวทางจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนสำหรับภารกิจป้องกันและควบคุมไฟป่าและจัดชุดเฝ้าระวัง
ส่วนกรณีป่าสงวน ได้มีการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนทั่วไปสำหรับภารกิจป้องกันและควบคุมไฟป่าให้แก่ อปท. ในพื้นที่เสี่ยง 90 แห่ง งบประมาณ 122 ล้านบาท และยังมีการจัดโครงการอบรมเสริมสร้างการแก้ไขปัญหาด้านไฟป่า หมอกควัน pm 2.5 ถึง 4 รุ่นให้ผู้นำ อปท. ในพื้นที่ 17 จังหวัดในเขตภาคเหนือ 1,700 กว่าราย ส่วนการดำเนินการในระยะต่อไป กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้ร่วมกับกรมป่าไม้ กรมควบคุมมลพิษ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำแนวทางให้ อปท. จัดทำแผนป้องกันและควบคุมไฟป่าให้มีประสิทธิภาพ
ส่วนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มีประกาศจากคณะกรรมการกระจายอำนาจให้ อปท. ในเรื่องการจัดทำแผนงาน แผนปฏิบัติการ ระบบแจ้งเตือน อาสาสมัคร และเครื่องมืออื่นๆ ขณะนี้มีการดำเนินการไปแล้ว 19 อปท. ในเชียงใหม่ และกรมอุทยานก็มีการสำรวจพื้นที่เพิ่มเติม
ส่วนมาตรการเกี่ยวกับพื้นที่ อปท. อื่นๆ ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้มีข้อสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งได้ให้นโยบายในฐานะที่กำกับดูแล อปท. หลายเรื่อง ส่วนเรื่องฝุ่นลดลงหรือไม่ เรียนว่ารัฐบาลมีนโยบายการบูรณาการระหว่างหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีการงดรับซื้ออ้อยไฟไหม้และห้ามรับซื้ออ้อยที่เผาเกิน 25% ส่งผลให้อ้อยที่เกิดจากการเผาลดลง จากเดิม 27% เหลือ 11% โดยมีมาตรการอย่างเข้มงวดและมีการจัดการอย่างเด็ดขาด
ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการงดเว้นสิทธิเกษตรกรที่เผาไร่เผานา ขณะที่กรุงเทพมหานครเองก็มีมาตรการหลายอย่างในการขอความร่วมมือที่เกี่ยวกับฝุ่นจากท่อไอเสีย เช่น การห้ามรถ 6 ล้อเข้าไปในพื้นที่ที่มีฝุ่นมาก อย่างไรก็ตามจังหวัดรอบปริมณฑลมีพื้นที่การเกษตรที่มีการเผาบางส่วน ทำให้มีฝุ่นละอองที่ปลิวเข้ามาในกรุงเทพมหานคร ซึ่งทางรัฐบาลก็จะติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป ส่วนเรื่องภาพถ่ายดาวเทียม วันนี้รัฐบาลมีการใช้ข้อมูลประกอบกันทั้ง GISTDA กรมควบคุมมลพิษ กรุมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงมหาดไทยเองจัดการประชุมทุกวันโดยให้ ปภ. เป็นหน่วยปฏิบัติ
จากนั้น ณัฐพงษ์ได้ถามกระทู้ต่อเป็นครั้งที่สอง โดยระบุว่าคำตอบของรองนายกฯ ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ อีกทั้งที่ตอบมาในส่วนของมาตรการรับซื้ออ้อยเผา จะเห็นว่ามีเกษตรกรจอดรถอ้อยที่ขายไม่ได้หลายพันคัน แสดงให้เห็นถึงมาตรการที่ดำเนินการอย่างล่าช้าหรือสายเกินไป วันนี้เราจึงอยากได้มาตรการที่ชัดเจนว่าปีหน้าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก
อย่างไรก็ตามส่วนสำคัญของการแก้ปัญหาฝุ่น pm 2.5 ในระยะยาว ก็คือการกระจายและเพิ่มอำนาจให้ อปท. ซึ่งคำตอบของรองนายกฯ ในวันนี้จะเป็นคำตอบที่สำคัญ ในฐานะที่รองนายกฯ สังกัดพรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จึงอยากถามถึงความชัดเจนในจุดยืนและความจริงใจต่อการกระจายอำนาจของพรรคเพื่อไทย
ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่สมัยรัฐบาลเศรษฐา มีการบรรจุนโยบายผู้ว่าซีอีโอ ซึ่งนักปกครองที่ไหนก็รู้ว่านโยบายนี้อยู่ตรงข้ามกับการกระจายอำนาจที่คนที่มีอำนาจสูงสุดในจังหวัดควรต้องมาจากการเลือกตั้ง และยังเคยมีการปัดตก พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ที่พรรคประชาชนเป็นผู้เสนอ ซึ่งมีหลักใหญ่ใจความในการเพิ่มรายได้ให้กับท้องถิ่นปีละ 1% เพื่อให้ถึงเป้าหมาย 35% ในอนาคต และนี่ก็เป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยสื่อสารมาโดยตลอดแต่การกระทำกลับสวนทางกัน
และยังมี พ.ร.บ.การปลดล็อกการเวนคืนที่ดิน ให้ อปท. สามารถจัดการปัญหาที่ดินในจังหวัดได้เอง เรื่องนี้อดีตนายกฯ ไม่ลงนามรับรอง มาถึงรัฐบาลนี้ในสมัยประชุมที่แล้ว พรรคประชาชนได้เสนอ พ.ร.บ.ขนส่งทางบก ก็ถูกสภาโหวตคว่ำ ทั้งที่หลักใหญ่ใจความคือการกระจายอำนาจให้ อปท. ระดับจังหวัดสามารถกำหนดมาตรฐานการขนส่งสาธารณะให้ใช้พลังงานสะอาดได้ และล่าสุดยังมี พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่ควรจะเพิ่มอำนาจให้กับท้องถิ่น ให้นายก อบจ. นั่งเป็นประธานคณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัด แต่ก็มีกรรมาธิการเสียงข้างน้อยจากพรรคเพื่อไทยที่ขอสงวนความเห็นในชั้นกรรมาธิการ ว่าอยากให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นแทน
ณัฐพงษ์กล่าวต่อไปว่านอกจากนี้ เมื่อไม่นานมานี้บุคคลคนหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรียังได้ปราศรัยในเวทีหาเสียงหลายจังหวัด ว่าแต่ก่อนไม่เคยเห็นความสำคัญของ อปท. เพราะแต่ก่อนพรรคเพื่อไทยเคยคุมได้ทุกกระทรวง แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปจึงเริ่มเห็นความสำคัญของ อปท. และยังมีการปราศรัยอีกว่าตัวเองมองท้องถิ่นเป็นมือไม้แขนขาทำงานให้พรรคเพื่อไทย ทัศนคติแบบนี้ การกระทำที่ผ่านมาแบบนี้ ทำให้ตนต้องตั้งคำถามถึงจุดยืนของพรรคเพื่อไทยชัดๆ อีกครั้งว่า
1) ที่พรรคเพื่อไทยเคยมีนโยบายหาเสียงว่าพร้อมให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดที่มีความพร้อม ตอนนี้จังหวัดที่มีความพร้อมมีกี่จังหวัดแล้ว และจะมีการดำเนินนโยบายนี้เมื่อไหร่
2) งบประมาณและสัดส่วนรายได้ของ อปท. ต่อรัฐส่วนกลางในนานาอารยประเทศล้วนแต่เกินครึ่ง ส่วนของประเทศไทยวันนี้ยังอยู่ที่ 29-30% และแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย อยากถามเจตนารมณ์ของรัฐบาลว่ามีแนวคิดเพิ่มสัดส่วนรายได้ท้องถิ่นให้ถึง 35% เมื่อไหร่ และมีจุดยืนอย่างไรต่อร่าง พ.ร.บ.ภาษีบ้านเกิดเมืองนอนของพรรคร่วมรัฐบาล และถ้าเห็นด้วย ทำไมถึงไม่เสนอเป็นร่างของคณะรัฐมนตรี
3) อปท. ยังขาดอำนาจหน้าที่หลายอย่าง ตกลงแล้วรัฐบาลมีเจตจำนงในการถ่ายโอนภารกิจเหล่านี้ให้กับ อปท. หรือไม่อย่างไร
4) การจัดการบุคลากร สมัยประชุมสภาที่แล้ว พ.ร.บ.บริหารบุคลากรท้องถิ่นต้องล่ม สมัยประชุมนี้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นกำลังรอฟังอยู่ว่าจะมีการยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ผูกขาดการจัดสอบบุคลากรท้องถิ่นไว้ที่ส่วนกลางหรือไม่ พรรคประชาชนได้เสนอร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้สู่สภาทันทีที่เปิดสมัย อยากถามจุดยืนพรรคเพื่อไทยว่าจะผลักดันเรื่องนี้ต่อหรือไม่อย่างไร
รองนายกรัฐมนตรีได้ตอบคำถามโดยระบุว่าพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญต่อการกระจายอำนาจ แม้กฎหมายหลายฉบับจะไม่ได้รับการตอบรับในสภาแต่ก็มีหลายเรื่องโดยหลายพรรคการเมืองที่ได้รับการตอบรับในสภา ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็เคยเสนอ เช่น พ.ร.บ.สุราเสรี ก็เป็นเรื่องท้องถิ่น แต่การผ่านกฎหมายเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่สภาต้องรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน
ส่วนนโยบายผู้ว่าซีอีโอนั้น ตนไม่อยากให้มองเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการกระจายอำนาจ แต่เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันเสียมากกว่า วันนี้กระทรวงมหาดไทยได้คลายมาตรการและมีการขอความร่วมมือกับ อปท. หลายเรื่อง วันนี้ อปท. สามารถทำแผนได้ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นและเรื่องอื่นๆ และบรรจุแผนงานโครงการเข้ามาในแผนงานงบประมาณได้
รองนายกรัฐมนตรียังระบุว่าตนเข้าใจดีว่าการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนรายได้เป็นเรื่องสำคัญและพรรคเพื่อไทยก็ให้ความสำคัญ แต่ก็ต้องมีการดูถึงภาระงบประมาณแผ่นดินควบคู่ประกอบไปด้วย ส่วนเรื่องนโยบายเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดก็เป็นเรื่องน่าสนใจที่พรรคเพื่อไทยเองก็อยู่ระหว่างการพิจารณาถึงเหตุและความเหมาะสม อย่างไรก็ตามปัญหานี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง ส่วนกรณี พ.ร.บ.ภาษีบ้านเกิดเมืองนอน ณ เวลานี้ยังไม่มีการเสนอเข้ามาในสภาตนจึงยังไม่เห็นรายละเอียด ได้ทราบแต่เพียงจากสื่อมวลชนว่าจะมีการนำเสนอ ตนจึงยังตอบเรื่องนี้ไม่ได้
ทั้งนี้ หลายอย่างที่พรรคประชาชนเสนอไปแล้วไม่ได้รับการตอบรับนั้นก็เป็นเรื่องของสภา สภาประกอบด้วย สส. ทุกพรรคการเมือง สมาชิกแต่ละคนมีเหตุผลในการพิจารณาร่างกฎหมายแต่ละฉบับ จุดยืนของนักการเมืองต่างเห็นความสำคัญของประชาชน และทุกพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับการทำให้ อปท. มีการบริหารที่มีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้มากขึ้นทั้งนั้น
จากนั้น ณัฐพงษ์ได้ถามต่อเป็นครั้งสุดท้าย โดยระบุว่าตนยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน จึงอยากถามไปยังรองนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ในเรื่องการเสนอกฎหมายที่ท่านบอกว่าเป็นหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัตินั้นก็จริงอยู่ แต่ต้องอย่าลืมว่าหากเป็น พ.ร.บ. ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีจะถือว่าเป็นเรื่องด่วน ตอนนี้ร่าง พ.ร.บ.บริหารบุคลากรท้องถิ่นที่พรรคประชาชนเสนอเข้าสู่สภา กำลังอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น และต้องต่อคิวกว่าจะเข้าสู่ระเบียบวาระได้ ดังนั้นถ้าคณะรัฐมนตรีไม่มีการทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง หมดสภาสมัยนี้หรือชุดนี้การผลักดันการกระจายอำนาจก็จะยังคงไปไม่ถึงไหน
ส่วนที่ตนยกประเด็นเรื่อง พ.ร.บ.ภาษีบ้านเกิดเมืองนอนขึ้นมานั้น เป็นเพราะตั้งแต่สมัยรัฐบาลเศรษฐามาจนถึงรัฐบาลแพทองธาร มีการออกข้อสั่งการ ผ่านมติคณะรัฐมนตรี และการสั่งการข้าราชการไปแล้วหลายครั้งแต่ผลก็แทบไม่เคยเกิดขึ้นเลย ขณะเดียวกันสิ่งที่เราได้เห็นคือการที่พรรคร่วมรัฐบาลเตรียมเสนอร่างกฎหมายของตัวเองเข้ามา สิ่งที่วันนี้พวกเราต้องการเห็นคือการกระทำที่จริงใจต่อการกระจายอำนาจจากพรรคเพื่อไทย
ทางด้านประเสริฐได้ตอบคำถามสุดท้าย โดยระบุว่าทุก พ.ร.บ. ต้องมีคณะกรรมการกลั่นกรองและศึกษาในหลายขั้นตอน อย่างไรก็ตามในฐานะที่เป็นรัฐบาล ตนจะรับเรื่องนี้ไปศึกษาให้อีกทางหนึ่ง เข้าใจว่าร่างนี้เป็นร่างการเงินที่ยิ่งต้องมีการศึกษาละเอียดมากขึ้น และถ้ามีความสำคัญเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยส่วนมาก รัฐบาลก็ยินดีจะรับไปดำเนินการ