ครม.ห้ามนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าไทย-คุมเข้มความปลอดภัยสถานีก๊าซธรรมชาติ
ส่องมติ ครม. ไฟเขียวปรับปรุงประกาศ ห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 463 รายการ ลดมลพิษ-คุ้มครองสิ่งแวดล้อม อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง คุมเข้มความปลอดภัยสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ รับทราบผลประชุม รมต.เกษตร GMS ครั้งที่ 3 หนุนความร่วมมือ-ขยายตลาดสินค้าเกษตรไทย-จีน
เมื่อวันที่ 4กุมภาพันธ์ 2568 นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงรายการสินค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และพิกัดอัตราศุลกากร ตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ร่างประกาศในเรื่องนี้เป็นการยกเลิกประกาศ พณ. เรื่อง กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563 เพื่อปรับปรุงรายการสินค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และพิกัดอัตราศุลกากร
สำหรับของเสียอันตราย ภายใต้อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามเเดนของเสียอันตรายเเละการจำกัด จากระบบฮาโมไนซ์ ปี 2017 เป็นระบบฮาโมไนซ์ ปี 2022 จากเดิม 428 รายการ เป็น 463 รายการ โดยกำหนดให้รายการสินค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อลดปริมาณของเสียที่นำเข้ามากำจัดภายในประเทศ รวมทั้งช่วยลดมลพิษที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชน
โดยให้ร่างประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ให้รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง คุมเข้มความปลอดภัยสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าวันนี้ (วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568) คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงสถานีบริการก๊าชธรรมชาติ พ.ศ. 2564 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์หรือวิธีการติดตั้ง ถัง ท่อ อุปกรณ์หรือเครื่องมือต่าง ๆ และระบบท่อก๊าซธรรมชาติ การจัดให้มีคู่มือวิธีปฏิบัติกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน และการรายงานการเกิดอุบัติเหตุภายในสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ เพื่อประโยชน์แก่การป้องกันหรือระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญ ความเสียหาย หรืออันตรายที่จะมีผลกระทบต่อบุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถานีบริการก๊าซธรรมชาติ หมายรวมถึงสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นสถานที่เก็บ และเป็นจุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้บริการแก่ยานพาหนะหรือจ่ายให้กับถังขนส่งก๊าซธรรมชาติอัด ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจกรรมถังขนส่งก๊าซธรรมชาติ โดยสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว ได้ให้อำนาจรัฐมนตรีเป็นผู้ประกาศมาตรฐานกำหนดหลักเกณฑ์หรือวิธีการติดตั้งถัง ท่อ อุปกรณ์หรือเครื่องมือต่าง ๆ และระบบท่อก๊าซธรรมชาติแทนการกำหนดมาตรฐานไว้ในกฎกระทรวง และได้เพิ่มหมวด 5/1 ในเรื่องของการควบคุม เช่น เพิ่มการจัดทำแผนระงับเหตุฉุกเฉิน การฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง การจัดทำรายงานการฝึกซ้อมแผนระงับเหตุฉุกเฉินพร้อมทั้งจัดส่งแผนระงับเหตุฉุกเฉินและรายงานการฝึกช้อม
นอกจากนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว ยังได้เพิ่มการจัดให้มีระบบการจัดเก็บเอกสาร พร้อมแบบก่อสร้างและรายการคำนวณความมั่นคงแข็งแรง หลักฐานการทดสอบและตรวจสอบ และรายงานผลการทดสอบและตรวจสอบเกี่ยวกับสถานีบริการก๊าซธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ให้สามารถตรวจสอบค้นหาหลักฐานเรื่องเดิมได้โดยง่ายและรวดเร็วตลอดระยะเวลาที่ได้รับใบอนุญาต โดยสามารถจัดเก็บเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เอกสารได้ เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบค้นหาหลักฐานเรื่องเดิมได้โดยง่ายและรวดเร็วตลอดระยะเวลาที่ได้รับใบอนุญาต ทำให้การประกอบกิจการสถานีบริการก๊าซธรรมชาติได้รับการป้องกันหรือระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญ หรือความเสียหายหรืออันตรายที่จะมีผลกระทบต่อบุคคล สัตว์ ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากการประกอบกิจการ
ครม. เห็นชอบลงนามพิธีสารสุขอนามัยสัตวแพทย์ ส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงไปจีน
นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบและอนุมัติให้มีการลงนามในพิธีสารว่าด้วยหลักเกณฑ์การตรวจสอบ กักกันโรค และสุขอนามัยทางสัตว์แพทย์ของผลิตภัณฑ์ประมงที่มาจากการเพราะเลี้ยงส่งออกมายังสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) ระหว่าง กษ. และสำนักงานศุลกากรจีน (ร่างพิธีสารฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขร่างพิธีสารฯ ในประเด็นที่ไม่ใช่หลักการสำคัญ ขอให้ กษ. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างพิธีสารฯ โดยไม่ต้องแลกเปลี่ยนหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers)
(สำนักงานศุลกากรจีนประสงค์ให้มีการลงนามร่างพิธีสารฯ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ในห้วงการเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีไทย)
ทั้งนี้ ร่างพิธีสารฯ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ลงนามโดยคู่ภาคี และจะมีผลบังคับใช้ต่อไปเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยจะได้รับการขยายเวลาอัตโนมัติทุก 5 ปี ซึ่งภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถสิ้นสุดร่างพิธีสารฯ ได้ โดยการแจ้งเป็นลายลักอักษรไปยังภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งการสิ้นสุดจะมีผลบังคับใช้ 6 เดือน นับตั้งแต่ภาคีอีกฝ่ายหนึ่งได้รับหนังสือแจ้งการสิ้นสุดร่างพิธีสารฯ โดยร่างพิธีสารฯ จัดทำเป็นสำเนาจำนวน 2 ฉบับ ในภาษาจีน ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ทุกฉบับมีความถูกต้องเท่าเทียมกัน กรณีมีความแตกต่างในการตีความหมายจะถือข้อความภาษาอังกฤษเป็นหลัก
ครม. รับทราบผลประชุม รมต.เกษตร GMS ครั้งที่ 3 หนุนความร่วมมือ-ขยายตลาดสินค้าเกษตรไทย-จีน
นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ณ นครคุณหมิง มณฑลยูนนาน สาธารรัฐประชาชนจัน โดยมีรัฐมนตรีเกษตรของประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทั้งหมด 6 ประเทศ (กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และจีน) เข้าร่วมประชุม สรุปได้ ดังนี้
1. ที่ประชุมเน้นย้ำถึงความสำคัญในการร่วมมือกันของประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อรับมือกับความท้าทายของสถานการณ์โลกปัจจุบัน อาทิ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความไม่มั่นคงทางอาหาร และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม เป็นต้น ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารที่ยั่งยืน (Transformation to Agrifood system) จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) โดยต้องมีการดำเนินการประสานงานกันในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก
2. การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและนโยบายในการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรอาหาร เพื่อรับมือกับความท้าทายในสถานการณ์โลกปัจจุบันโดยประเทศไทยมีนโยบายที่ยึดหลักการขับเคลื่อนด้วยตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้โดยใช้โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ที่เน้นการบูรณาการทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากรที่ดินและน้ำอย่างยั่งยืน และให้ความสำคัญกับเกษตรกรรายย่อย สตรี เยาวชน และกลุ่มด้อยโอกาสต่าง ๆอย่างเท่าเทียม โดยประเทศไทยมีศักยภาพและยินดีสนับสนุนความร่วมมือกับประเทศสมาชิกของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เกี่ยวกับห้องปฏิบัติการวินิจฉัยโรคสัตว์ การควบคุมโรคระบาดสัตว์ข้ามแดนการจัดการการดื้อยาจุลชีพ เกษตรอัจฉริยะ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทำโครงการหมอดินอาสา
3. ที่ประชุมได้รับรองกรอบยุทธศาสตร์คุนหมิงสำหรับการเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรอาหาร ภายใต้ GMS 2030 (GMS 2030 Strategy for Transformationof Agri-Food Systems) ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินงานด้านเกษตร เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานและความพร้อมในการรับมือผลกระทบและความท้าทายที่เป็นภัยต่อความยั่งยืน และความสามารถในการขึ้นตัวของระบบเกษตรอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การตัดไม้ทำลายป่าและการเสื่อมสภาพของสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร โดยมุ่งเน้นการยกระดับความร่วมมือผ่านการสนับสนุนเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนในอนุภูมิภาค
ส่วนการหารือทวิภาคี กับนาย Zhang Zhili รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและกิจการชนบทสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อผลักดันความร่วมมือด้านวิชาการและโอกาสในการขยายตลาดสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างกัน สรุปได้ ดังนี้
1.การส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือด้านเกษตร ภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการเกษตรไทย - จีน (Sino-Thai Agricultural Technical Cooperation) ที่ผ่านมามีการจัดประชุมร่วมกันมาแล้ว 12 ครั้ง สามารถดำเนินโครงการความร่วมมือร่วมกันมากกว่า 70 โครงการ โดยในครั้งที่ 13 ซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพ จะเป็นโอกาสในการผลักดันโครงการความร่วมมือด้านการเกษตร อาทิ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ ระบบตรวจสอบย้อนกลับ รวมถึงการขจัดความยากจนในพื้นที่ชนบท เป็นต้น
2. การหารือให้จีนสนับสนุนและผลักดันการพิจารณาการขอยื่นการเปิดตลาดสินค้าเกษตร จำนวน 6 รายการ โดยจีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอันดับ 1 ของไทย มีมูลค่าการส่งออก 11,271 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 42 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด มีสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ทุเรียน มันสำปะหลัง ยางพารา สำหรับสินค้าผลไม้ที่ไทยส่งออกไปจีนแล้ว มีทั้งสิ้นจำนวน 22 รายการ
3. ในปี พ.ศ. 2568 ซึ่งครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและจีน คาดว่าจะมีการลงนามพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยอาหารด้านสัตว์แพทย์ การปกป้องพืช เพื่อการส่งออกผลิตภัณฑ์จากผึ้ง ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารรัฐประชาชนจีน (General Administration of Customs of China: GACC) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกน้ำผึ้งรวมไปถึงนมผึ้งและเกสรผึ้งไปจีนได้มากขึ้น