“พริษฐ์” ดัน แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา236 - ป้องกันการฮั้วกันระหว่างรัฐ กับ ป.ป.ช

18 กุมภาพันธ์ 2568

“พริษฐ์” ดัน แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 236 - ป้องกันการฮั้วกันระหว่างรัฐบาล กับ ป.ป.ช ตัดดุลพินิจประธานรัฐสภา กระบวนการร้องเรียนกรรมการ ป.ป.ช.

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ เปิดเผยกรณีการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 236  โดยระบุว่า แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 236  เพื่อป้องกันการฮั้วกันระหว่างรัฐบาล กับ ป.ป.ช โดยการตัดดุลพินิจประธานรัฐสภาเกี่ยวกับกระบวนการร้องเรียนรมการ ป.ป.ช.

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้เผยแพร่ดัชนีภาพลักษณ์การทุจริต (Corruption Perceptions Index – CPI) ประจำปี 2567 ซึ่งประเทศไทยได้ คะแนนเพียง 34 จาก 100 (อันดับ 107 ของโลก) ถือเป็นคะแนนที่ต่ำหรือแย่ที่สุดในรอบ 12 ปี - หากต้องการแก้ไขปัญหาการทุจริตในประเทศไทย บทบาทของหน่วยงานต่อต้านการทุจริตย่อมมีความสำคัญ

 

วันนี้ ในงานเสวนาที่จัดโดย ป.ป.ช. ผมจึงได้ย้ำถึงความจำเป็นของการปฏิรูปโครงสร้างและยกระดับประสิทธิภาพของ ป.ป.ช. ในการแก้ไขปัญหาการทุจริต

 

ประเด็นหนึ่งที่ผมเห็นว่าจำเป็นต้องมีการทบทวนแก้ไข (และเป็นประเด็นที่สังคมในช่วงนี้ให้ความสนใจเป็นพิเศษหลังมีกรณีคลิปหลุดเกี่ยวกับการพบกันระหว่างกรรมการ ป.ป.ช. และประธานรัฐสภา) คือ “กระบวนการถอดถอนกรรมการ ป.ป.ช.”

 

แม้ ป.ป.ช. มีหน้าที่ในการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่การทำงานของ ป.ป.ช. ย่อมควรต้องถูกตรวจสอบได้โดยประชาชนหรือตัวแทนประชาชนเช่นกัน

ปัจจุบัน มาตรา 236 ของรัฐธรรมนูญ 2560 (ที่ผู้สนับสนุนมักโฆษณาว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ “ปราบโกง”) มีการเปิดช่องให้สมาชิกรัฐสภาหรือประชาชน 20,000 คน เข้าชื่อร้องเรียนเพื่อริเริ่มกระบวนการถอดถอนกรรมการ ป.ป.ช. หากเห็นว่า ป.ป.ช. มีการใช้อำนาจโดยมิชอบ (เช่น ละเว้นการตรวจสอบการทุจริตตามอำนาจหน้าที่)

 

 แต่ปัญหาของมาตรานี้คือการกำหนดให้การยื่นเรื่องดังกล่าว ต้องยื่นไปที่ประธานรัฐสภา โดยประธานรัฐสภามีสิทธิในการใช้ “ดุลพินิจ” กลั่นกรองว่า “มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทําตามที่ถูกกล่าวหา” หรือไม่ เพื่อตัดสินใจว่าจะดำเนินการต่อโดยส่งเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ หรือจะปัดตกและยุติข้อร้องเรียน

 

ลองจินตนาการดูครับ ว่าหากวันไหนที่รัฐบาล และ ป.ป.ช. เกิดมีการ “ฮั้ว” กัน และตกลงกันว่าให้กรรมการ ป.ป.ช. “เกียร์ว่าง” และละเว้นตรวจสอบการทุจริตของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล ทางรัฐบาลก็สามารถคุ้มครองกรรมการ ป.ป.ช. ที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้

 

เพราะหากสมาชิกรัฐสภาหรือประชาชนเข้าชื่อเข้ามาเพื่อร้องเรียนว่ากรรมการ ป.ป.ช. มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทางรัฐบาลก็สามารถกดดันให้ประธานรัฐสภา (ซึ่งมักเป็น สส. จากฝั่งรัฐบาล) ใช้อำนาจที่มีตามมาตรา 236 เพื่อปัดตกทุกข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. ได้

ดังนั้น ตราบใดที่ประธานรัฐสภายังคงมีอำนาจและดุลพินิจตามมาตรา 236 บทบัญญัตินี้จะเป็นช่องโหว่ที่เปิดช่องให้เกิดการฮั้วกันระหว่างรัฐบาลกับ ป.ป.ช. ได้ ซึ่งส่งผลให้กลไกตรวจสอบมีความอ่อนแอ

 

ทั้งหมดนี้เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมผมเห็นว่าหากเราต้องการยกระดับประสิทธิภาพของกลไกการเข้าชื่อของประชาชนในการร้องเรียนว่ากรรมการ ป.ป.ช. ได้ใช้อำนาจโดยมิชอบ เราควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 236 ด้วยการตัดอำนาจและดุลพินิจของประธานรัฐสภาในการตัดสินใจว่าจะส่งเรื่องต่อให้มีการไต่สวนตามข้อร้องเรียนหรือไม่ โดยเราอาจกำหนดให้ประธานรัฐสภาเป็นเพียงแค่ “ทางผ่าน” ในการส่งทุกเรื่องร้องเรียนไปที่ประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ

 

นอกเหนือจากความคาดหวังว่าข้อเสนอดังกล่าวจะได้รับการตอบสนองหากมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทางผมและพรรคประชาชนยังได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในประเด็นนี้ เมื่อปลายปีที่แล้ว ที่เราหวังจะผลักดันผ่านรัฐสภา คู่ขนานกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

Thailand Web Stat