จับตา "นายกฯอิ๊งค์" รับรายงานผลสอบตึก สตง. พรุ่งนี้! ก่อนถก ครม.
"นายกฯอิ๊งค์" แพทองธาร ชินวัตร เตรียมฟังผลสอบสวนตึก สตง. ถล่ม ก่อนถก ครม. พรุ่งนี้ เร่งหามาตรการป้องกันภัยพิบัติ
ความคืบหน้ากรณีอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พังถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เตรียมรับฟังรายงานผลการสอบสวนอย่างละเอียดจากคณะทำงาน
ในช่วงเช้าของวันพรุ่งนี้ (อังคารที่ 8 เมษายน 2568) เวลา 08.30 น. ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และกำหนดแนวทางป้องกัน รวมถึงแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างรอบด้าน
สืบเนื่องจากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในการประชุม ครม. เมื่อวันอังคารที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา ให้เร่งสรุปผลการสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวภายใน 7 วัน
โดยมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) เป็นผู้กำกับดูแลหลัก ร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายอนุทินฯ จะรายงานผลการตรวจสอบต่อนายกรัฐมนตรีก่อนการประชุม ครม.
ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะใช้ข้อมูลนี้เพื่อหาข้อสรุปและวางมาตรฐานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติอย่างเข้มงวด ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณาต่อไป
สั่ง 8 กระทรวง เร่งวางแผนรับมือภัยพิบัติรอบด้าน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงข้อสั่งการเพิ่มเติมของนายกรัฐมนตรีในการประชุม ครม. ที่ผ่านมา
โดยได้มอบหมายให้ 8 กระทรวงหลัก แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ เร่งดำเนินการจัดทำแผนและมาตรการรับมือภัยพิบัติต่างๆ อย่างชัดเจน ดังนี้
- กระทรวงมหาดไทย: เร่งจัดทำแผนและมาตรการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกรูปแบบ
- กระทรวงการต่างประเทศ: ศึกษาแนวทางและประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศที่มีความพร้อมและเคยเผชิญกับแผ่นดินไหว เช่น ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สหภาพยุโรป และอิสราเอล
- กระทรวงสาธารณสุข: เตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งระบบโรงพยาบาลสนาม การปฏิบัติการฉุกเฉิน การรองรับผู้ป่วย และการส่งต่อ
- กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา: สื่อสารกับนักท่องเที่ยวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ในประเทศไทยกลับสู่ภาวะปกติและสามารถท่องเที่ยวได้ตามปกติ
- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม: ระดมนักวิชาการธรณีวิทยาเพื่อรวบรวมข้อมูล จัดทำข้อเสนอแนะและมาตรการที่ถูกต้องและปลอดภัย รวมถึงตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์เตือนภัย เช่น ทุ่นเตือนภัยสึนามิในฝั่งอันดามัน
- กระทรวงศึกษาธิการ: บรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตนขณะเกิดแผ่นดินไหวและภัยพิบัติต่างๆ ในหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับเด็กและเยาวชน
- กระทรวงคมนาคม: ตรวจสอบความแข็งแรงและความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมทุกรูปแบบ เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถรองรับภัยธรรมชาติได้
- สำนักนายกรัฐมนตรี: ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สรุปมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และเป็นศูนย์กลางในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและทั่วถึง
นายจิรายุ กล่าวทิ้งท้ายว่า ความคืบหน้าของการดำเนินการตามข้อสั่งการต่างๆ และผลการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตึก สตง. ถล่ม จะมีการรายงานให้ที่ประชุม ครม. ทราบในวันพรุ่งนี้ด้วย