กรณ์เตือนอย่ากู้เงินนอกระบบทำงบ69ชี้ศิริกัญญาเห็นด้วยเร็วไป
"กรณ์"อดีตรมว.คลังชี้ "ศิริกัญญา"เห็นด้วยกู้เงินนอกระบบทำงบปี69เร็วไป แนะรัฐบาลปรับลดค่าใช้จ่ายในงบฯปี68ก่อนเพราะยังใช้ไม่ถึงครึ่งปี
นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงความกังวลต่อกรณีที่รัฐบาลเตรียมออก พ.ร.บ.กู้เงิน โดยตั้งข้อสังเกตว่า งบประมาณปี 2569 เพิ่งเริ่มพิจารณา และงบประมาณปี 2568 ยังใช้ไม่ถึงครึ่งปี แต่รัฐบาลกลับพูดถึงการออก พ.ร.บ.กู้เงินแล้ว
นายกรณ์ระบุว่า รัฐบาลประเมินเศรษฐกิจเติบโตเกินจริงตั้งแต่แรก และเสนอแผนการใช้งบประมาณปี 2568 โดยมีการขาดดุลมากจนต้องกู้ชดเชยเต็มเพดานตามกฎหมาย แทบไม่เผื่อเหลือเผื่อขาดไว้เลย โดยมีนโยบายแจกเงินที่หลายคนคัดค้านตั้งแต่แรกว่าเป็นการใช้เงินผิดวิธีและผิดเวลา
"วันนี้รัฐบาลอ้างถึงผลกระทบนโยบายทรัมป์ ส่งผลให้รัฐบาลอาจต้องใช้เงินเพิ่มเติม ซึ่งคงจะให้เหตุผลอธิบายว่า 1. เพื่อสมทบเงินคงคลังเนื่องจากรายได้ภาษีต่ำกว่าเป้า หรือ/และ 2. เพื่อจัดงบประมาณเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการ ซึ่งสิ่งแรกที่รัฐบาลต้องทำก่อนออก พ.ร.บ.กู้เงิน ควรจะเป็นการเสนอการปรับลดค่าใช้จ่ายในงบประมาณปีปัจจุบัน เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยน เศรษฐกิจไม่ดี รายได้ต่ำกว่าเป้า สิ่งแรกที่ควรทำคือลดค่าใช้จ่าย ไม่ใช่กู้เพิ่ม" นายกรณ์กล่าว
นายกรณ์ยังกล่าวถึงกรณีที่นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เห็นด้วยกับแนวทางของรัฐบาลว่า "ความจริงผมจำได้ว่าคุณศิริกัญญาเคยเสนอไว้เองตอนพิจารณางบปี 68 ว่ารัฐบาลควรปรับลดแผนการใช้เงินลง 200,000 ล้านบาท เผื่อว่ารายได้ไม่เข้าเป้า…นั่นคือก่อนปัญหาเรื่อง tariff ของทรัมป์ด้วยซ้ำ คราวนี้ หากลดค่าใช้จ่ายแล้วยังไม่พอ ถามว่าการออก พ.ร.บ.เป็นวิธีที่ดีที่สุดหรือไม่?"
นายกรณ์ตั้งข้อสังเกตว่า การออกกฎหมายในรูป พ.ร.บ.ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 3-4 เดือน ดังนั้นกฎหมายนี้จะคลอดออกมาใช้งานเวลาใกล้เคียง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2569 "ดังนั้นทำไมไม่บรรจุแผนการใช้เงินใน พ.ร.บ. ‘69? ทำไมต้องออก พ.ร.บ.มากู้นอกระบบงบประมาณ? คำอธิบายเดียวคือรัฐบาลต้องการใช้เงินเกินเพดานเงินกู้ตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ซึ่งอันนี้ต้องระมัดระวังอย่างมาก คิดดีๆ อย่ายอมกันง่ายๆ" นายกรณ์กล่าว
สำหรับเนื้อหาที่นายกรณ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเป็นดังนี้
คุณศิริกัญญาเห็นด้วยเร็วไปหน่อยไหมครับ?
ทุกวันนี้ผมเอาใจช่วยรัฐบาลให้ฝ่าด่านอุปสรรคพิษเศรษฐกิจไปให้ได้ นาทีนี้ผมไม่เลือกข้างใครทั้งสิ้น ดูที่การกระทำอย่างเดียว
แล้วก็สะดุดทันทีเมื่อเห็นรัฐบาลบอกว่าเตรียมออก พรบ. กู้เงิน
งบปี ‘69 เพิ่งเริ่มพิจารณา งบ ‘68 ใช้ไปยังไม่ถึงครึ่งปี แต่รัฐบาลพูดถึงการออก พรบ. กู้เงินอีกแล้ว?
ความจริงคือ รัฐบาลประเมินเศรษฐกิจโตเกินจริงแต่แรก
แล้วเสนอแผนการใช้เงินงบประมาณปัจจุบัน 2568 โดยที่มีการขาดดุลมากจนต้องกู้ชดเชยเต็มเพดานตามกฎหมาย แทบไม่เผื่อเหลือเผื่อขาดไว้เลย
โดยมีนโยบายแจกเงินที่หลายคนคัดค้านแต่แรก ว่าเป็นการใช้เงินผิดวิธีและผิดเวลา
วันนี้รัฐบาลอ้างถึงผลกระทบนโยบายทรัมป์ ส่งผลให้รัฐบาลอาจต้องใช้เงินเพิ่มเติม ซึ่ง
คงจะให้เหตุผลอธิบายว่า
1. เพื่อสมทบเงินคงคลังเนื่องจากรายได้ภาษีตํ่ากว่าเป้า หรือ/และ
2. เพื่อจัดงบประมาณเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการ
ซึ่งสิ่งแรกที่รัฐบาลต้องทำก่อนออก พรบ. กู้เงิน ควรจะเป็นการเสนอการปรับลดค่าใช้จ่ายในงบประมาณปีปัจจุบัน เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยน เศรษฐกิจไม่ดี รายได้ตํ่ากว่าเป้า สิ่งแรกที่ควรทำคือลดค่าใช้จ่าย ไม่ใช่กู้เพิ่ม
ความจริงผมจำได้ว่าคุณศิริกัญญาเคยเสนอไว้เองตอนพิจารณางบปี 68 ว่ารัฐบาลควรปรับลดแผนการใช้เงินลง 200,000 ล้านบาท เผื่อว่ารายได้ไม่เข้าเป้า…นั่นคือก่อนปัญหาเรื่อง tariff ของทรัมป์ด้วยซํ้า
คราวนี้ หากลดค่าใช้จ่ายแล้วยังไม่พอ ถามว่าการออก พรบ. เป็นวิธีที่ดีที่สุดหรือไม่?
การออกกฎหมายในรูป พรบ. ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 3-4 เดือน ดังนั้นกฎหมายนี้จะคลอดออกมาใช้งานเวลาใกล้เคียง พรบ. งบประมาณปี 2569
ดังนั้นทำไมไม่บรรจุแผนการใช้เงินใน พรบ. ‘69? ทำไมต้องออก พรบ. มากู้นอกระบบงบประมาณ? คำอธิบายเดียวคือรัฐบาลต้องการใช้เงินเกินเพดานเงินกู้ตาม พรบ. หนี้สาธารณะ
ซึ่งอันนี้ต้องระมัดระวังอย่างมาก คิดดีๆ อย่ายอมกันง่ายๆ