posttoday

Moral Quotient

08 พฤษภาคม 2554

ความสะอาดที่แท้จริง

ความสะอาดที่แท้จริง

โดย...สลิล

โดยปกติแล้ว เมื่อถึงวันหยุดคนส่วนใหญ่ก็มักใช้ช่วงเวลานี้ทำกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่การงานหน้าที่ที่ต้องทำเป็นประจำ เช่น พาครอบครัวไปท่องเที่ยวทัศนาจรเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ การที่คนเรามีวันหยุดวันพักบ้างนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะต้องการทำทั้งร่างกายและจิตใจให้สดชื่น สะอาด ผ่องใส ไม่ให้คร่ำเคร่ง หรือเครียดกับหน้าที่การงานจนเกินไป

ในสมัยพุทธกาล ชาวอินเดียบางพวกก็มีความเชื่อเกี่ยวกับการทำให้เกิดความสะอาด ผ่องใส ขึ้นแก่ตนด้วยวิธีที่หลากหลาย จะขอยกมาแสดงไว้ในวันนี้ ตามความในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต จุนทสูตร

ในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่เมืองปาวา ณ สวนมะม่วงของนายจุนทะ บุตรช่างทอง เมื่อนายจุนทะได้เข้าไปเฝ้าถวายบังคมแล้ว พระศาสดามีพระปฏิสันถารกับนายจุนทะ ว่า “จุนทะ ท่านชอบใจความสะอาดของใครหนอ”

นายจุนทะ กราบทูลว่า เขาชอบความสะอาดของพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ : ซึ่งเป็นผู้มีปกติ ถือเต้าน้ำ สวมพวงมาลัยสาหร่าย บำเรอไฟ ลงน้ำเป็นวัตร ด้วยพราหมณ์เหล่านั้นมีความเชื่อว่าเมื่อลุกจากที่นอนแต่เช้าตรู่แล้ว ควรจับต้องแผ่นดิน ถ้าไม่จับต้องแผ่นดิน พึงจับต้องโคมัยสด คือ นมโคสดนั่นเอง ถ้าไม่จับต้องโคมัยสด พึงจับต้องหญ้าเขียวสด ถ้าไม่จับต้องหญ้าเขียวสด พึงบำเรอไฟ คือ ทำการบูชาไฟ ถ้าไม่บำเรอไฟ ควรประนมอัญชลีนอบน้อมไหว้พระอาทิตย์ ถ้าไม่ไหว้พระอาทิตย์ พึงลงน้ำ 3 ครั้ง ทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า นั่นคือข้อวัตรปฏิบัติเพื่อความสะอาดผ่องใสของพราหมณ์ ปัจฉาภูมิ ซึ่งนายจุนทะชอบใจ เห็นว่าดี เป็นผู้สะอาด ดังนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อได้ทรงฟังคำตอบของนายจุนทะแล้ว จึงตรัสว่าความสะอาดในวินัยของพระอริยะย่อมมิใช่เช่นนี้ ย่อมมีโดยประการอื่น ทรงแสดงธรรมโปรดนายจุนทะว่า ความไม่สะอาดทางกายมี 3 อย่าง ความไม่สะอาดทางวาจามี 4 อย่าง ความไม่สะอาดทางใจมี 3 อย่าง กล่าวโดยย่อ คือ

ความไม่สะอาดทางกายมี 3 ประการ

การเป็นผู้มีปกติฆ่าสัตว์ การทุบตี ไม่เอ็นดูในสัตว์มีชีวิต

การเป็นผู้ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ ถือเอาทรัพย์เครื่องปลื้มใจของบุคคลอื่น ที่เจ้าของมิได้ให้ ด้วยจิตเป็นขโมย

การเป็นผู้ประพฤติผิดในกาม คือ ถึงความประพฤติล่วงในสตรีที่มีผู้อื่นรักษา เช่น มีมารดาบิดารักษา มีพี่น้องรักษา มีธรรมรักษา และสตรีที่มีสามี เป็นต้น

ความไม่สะอาดทางวาจามี 4 ประการ

การเป็นผู้มีปกติพูดเท็จ เช่น เมื่อถูกผู้อื่นนำไปเป็นพยาน เมื่อไม่รู้ กลับกล่าวว่ารู้ ไม่เห็น กลับว่าเห็น เป็นต้น เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งรู้อยู่ เพราะเหตุแห่งตนบ้าง เพราะเหตุแห่งผู้อื่นบ้าง หรือเพราะเห็นแก่อามิส คือ เงินทองหรือสินบน บ้าง

การเป็นผู้พูดส่อเสียด คือ ฟังความข้างโน้น ไปบอกข้างนี้ เพื่อทำลายหมู่คณะ ยุยงให้คนที่สามัคคีกันอยู่ให้แตกกัน ส่งเสริมให้คนทั้งหลายแตกกัน พอใจเพลิดเพลินในความแตกกัน กล่าวคำให้เขาแตกกัน

การเป็นผู้พูดคำหยาบ คือ กล่าววาจาที่หยาบกล้าแข็ง ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนใจเพราะวาจานั้น เป็นวาจาใกล้ต่อความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ

การพูดเพ้อเจ้อ คือ กล่าวไม่ถูกกาล กล่าวไม่จริง ไม่อิงอรรถ ไม่อิงธรรม ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พูดมากไม่มีที่สิ้นสุด

ความไม่สะอาดทางใจมี 3 ประการ

การเป็นผู้อยากได้ของผู้อื่น เช่น อยากได้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่น ด้วยเพียงความคิดว่า ไฉนหนอทรัพย์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นจะเป็นของเรา เป็นต้น

การเป็นผู้มีจิตคิดปองร้าย คือ มีใจคิดดำริชั่วร้าย ว่าสัตว์เหล่านี้ จงถูกฆ่า จงพินาศ จงถูกทำลาย

การเป็นผู้มีความเห็นผิด คือ มีความปริวิตกว่า ทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล การบูชาไม่มีผล วิบากคือผลกรรมที่บุคคลทำดีทำชั่วแล้วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี คุณมารดาไม่มี คุณบิดาไม่มี สัตว์ผู้ผุดเกิดเองไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติชอบ ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม คือพระพุทธเจ้าไม่มี

ความไม่สะอาดทางกาย 3 ทางวาจา 4 ทางใจ 3 รวมเรียกว่า อกุศลกรรมบถ 10 พระพุทธเจ้าทรงตรัสกับนายจุนทะว่า “บุคคลผู้ประกอบด้วยอกุศลกรรมบถ 10 ประการนี้ แม้เมื่อลุกจากที่นอนแต่เช้าตรู่ แล้วจับต้องแผ่นดิน ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง ถึงแม้ไม่จับต้องแผ่นดินก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเองฯ”

สรุปคือ จะกระทำอะไรๆ ไม่ว่าจะจับต้องอะไร จะบูชาไฟ หรือลงชำระล้างตนในน้ำวันละ 3 ครั้ง ก็ไม่ได้ทำให้ผู้กระทำชั่ว ประกอบด้วยอกุศลกรรมบถ 10 แม้อย่างใดอย่างหนึ่ง กลายเป็นผู้สะอาด ผ่องใสได้ เพราะอกุศลกรรมบถ 10 นี้เอง คือ ความไม่สะอาดด้วย และเป็นตัวทำให้ไม่สะอาดด้วย เพราะการประกอบอกุศล 10 เป็นเหตุให้บุคคลเข้าถึงการเกิดในอบาย เช่น เกิดในนรกบ้าง เข้าถึงกำเนิดเดรัจฉานบ้าง หรือบางคนก็ได้รับผลของกรรมชั่ว คือ การได้รับทุกข์ต่างๆ แม้ในชาติปัจจุบัน

ดังนั้น หากเราต้องการความสะอาดที่แท้จริงแล้ว แม้การอาบน้ำชำระร่างกาย การบ้วนปากด้วยของหอม หรือการเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ก็ไม่สามารถทำให้ผู้ที่ยังประพฤติอกุศลกรรมบถ 10 เป็นผู้สะอาดได้เลย