posttoday

ศิลปินพร้อมไหมถ้า ‘AI’ สร้างสรรค์ผลงานได้ดีกว่า?

08 กันยายน 2564

เมื่อความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้เป็นเอกสิทธิ์ของมนุษย์อีกต่อไป เมื่อ AI ก็สามารถสร้างความงดงามและสุนทรียภาพสำหรับมนุษย์ได้ ศิลปินจะปรับตัวอย่างไรกันดี?

ศิลปินพร้อมไหมถ้า ‘AI’ สร้างสรรค์ผลงานได้ดีกว่า?           เมื่อโลกทุกวันนี้ก้าวเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่า Globalization กันแทบจะเต็มตัวแล้ว ข้อมูลข่าวสารและสิ่งใหม่ ๆ ต่างไหลรวมกันผ่านท่อไฟเบอร์กันอย่างเนืองแน่นในเวลาเพียงเสี้ยววินาที แม้จะมีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแต่เหล่าศิลปินหรือนักศิลปะทั้งหลายในไทยไม่น้อยยังคงคิดอยู่เพียงว่า ‘ความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นเอกสิทธิ์ของมนุษย์’ ซึ่งจากมุมมองที่ได้เห็นแล้วให้ความรู้สึกที่ไม่แตกต่างกับการมองไปที่ธุรกิจสิ่งพิมพ์ในเวลาที่ผ่านมา

 

          การเดินทางของศิลปะยุคใหม่ในประเทศไทยนั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยนายคอร์ราโด เฟอร์โรซีหรืออาจารย์ศิลป์ พีระศรีได้เข้ามาหว่านเมล็ดพันธุ์เอาไว้ ถ้านับตามสำนักศิลปะท่าพระก็น่าจะเป็นเวลาประมาณ 80 ปี เห็นจะได้ ศิลปะในประเทศไทยก็ได้แตกแขนงออกไปมากมายหลากหลายสาขา ศิลปินที่ไปไกลระดับสากลก็มีให้เห็นอยู่เนือง ๆ ไม่ว่าจะงานเบื้องหน้า เบื้องหลัง มีชื่อหรือไม่มี แต่ไม่ว่าจะมีคนไทยที่ไปไกลได้มากมายแค่ไหน คนเหล่านั้นจำนวนมากเป็นการก้าวเดินด้วยตัวเองไม่ได้เป็นการสนับสนุนจากวิสัยทัศน์ของผู้ขับเคลื่อนศิลปะของประเทศมากนัก

 

ศิลปินกับอำนาจที่ถูก Empowered ด้วยดิจิทัล
          ต้องยอมรับว่าความสำเร็จของศิลปินหรือนักศิลปะในยุคนี้ส่วนมากล้วนแต่มีเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยทั้งสิ้น ลองมองดูความหลากหลายของศิลปะในบ้านเรายุคนี้ที่มีตั้งแต่งานใต้ดิน ศิลปะแบบทดลอง งานศิลปะแบบติดตั้ง ศิลปะเสียง ศิลปะข้างถนน ศิลปะดิจิทัล ภาพยนตร์ ศิลปะแบบอินเตอร์แอคทีฟ เกมส์ ฯลฯ ศิลปะเหล่านี้กลับได้รับการเสริมแรงและแพร่หลายด้วยฤทธิ์ของดิจิทัลทั้งสิ้น ศิลปินตัวเล็ก ๆ หลายคนที่ประสบความสำเร็จนั้นกลับไม่ได้เป็นการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐกันสักเท่าไหร่ แต่สร้างโอกาสด้วยน้ำพักน้ำแรงและความรักของตัวเอง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ศักยภาพของศิลปินไทยไม่ได้ถูกส่งเสริม

 

          ศักยภาพของดิจิทัลที่เห็นกันได้ชัด ๆ และใกล้ตัวนั่นคือการที่คุณสามารถอ่านบทความนี้ที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะบนคอมพิวเตอร์ แทบเบล็ต สมาร์ทโฟน เพราะเทคโนโลยีที่เติบโตไวและเข้าถึงคนได้จำนวนมากทำให้ต้นทุนเหล่านี้ถูกลง และเรื่องนี้ต้องขอบคุณทุนนิยมที่ทำให้คนจำนวนมากเข้าถึงโอกาสมากขึ้น

 

          โลกของดิจิทัลนั้นเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาโควิดซึ่งทำให้การออกไปข้างนอกเป็นสิ่งอันตราย ประสบการณ์ต่าง ๆ ยิ่งถูกเติมเต็มผ่านโลกเสมือนโลกจำลองที่ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดียที่ให้คนได้พูดคุย Youtube ที่แทบจะแทนสื่อการออกอากาศบนโทรทัศน์ไปแล้ว Spotify หรือ Tidal สำหรับผู้รักการฟังเพลง Gather แพลตฟอร์มที่ใช้ทำงานเสมือนก็ได้พบปะเพื่อนก็ดี แพลตฟอร์มซื้อสินค้าออนไลน์อย่าง ETSY แพลตฟอร์มการเผยแพร่ผลงานอย่าง OnlyFans การเรียนการสอนออนไลน์ เช่น หลักสูตรระยะยาว หลักสูตรใบประกาศ และการศึกษาขั้นพื้นฐาน แม้แต่ความสุขทางเพศออนไลน์ก็ยังมีมานานแล้วก่อนวิกฤติไวรัสระบาดเสียอีก ช่องทางเหล่านี้สนับสนุนให้ผู้สร้างงานศิลปะสามารถโปรโมทและขายงานตัวเองได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขายเป็นข้อมูลดิจิทัล ไม่ว่าจะภาพ, เสียง, ซอฟต์แวร์เกมส์, ภาพยนตร์ หรือเทคโนโลยีใหม่อย่าง NFT ที่ใช้เงินดิจิทัลก็มี

 

          เบื้องหลังการเข้าถึงข้อมูลหรืองานศิลปะเหล่านี้รู้กันบ้างไหมครับว่าทำงานกันอย่างไร? ถ้าคุณแค่ใช้ Search Engine อย่าง Google คุณก็จะเป็นการใช้งาน AI หรือปัญญาประดิษฐ์โดยไม่รู้ตัว แม้แต่การฟังเพลงบนแพลตฟอร์มฟังเพลง, การพูดคุยบนโซเชียล, หรือการค้นหาสินค้ายุคนี้ก็มี AI มาคอยจับข้อมูลเพื่อระบุพฤติกรรมต่าง ๆ ทำให้การค้นหานั้นใกล้เคียงกับความต้องการของผู้ใช้งานมากขึ้น ถ้าใครมีความสนใจอะไรที่ Niche มาก ๆ ก็สามารถเข้าถึงสิ่งนั้นได้แตกต่างจากสมัยก่อนที่จะหาสังคม ความรู้ เทคนิก หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ก็เป็นไปได้ยากเย็นเสียเหลือเกิน

 

​​​​​​​          ในขณะที่เทคโนโลยีอย่างดิจิทัลและ AI ได้เปลี่ยนแปลงโลกสู่ยุคใหม่ ผู้มีอิทธิพลทางความคิดในแวดวงศิลปะบ้านเราก็ยังคงวนเวียนอยู่กับสิ่งที่ศิลปินในสังคมอื่น ๆ ได้ก้าวข้ามกันไปจนลงรายละเอียดกันไปแล้ว อย่างการทำงานข้ามศาสตร์ข้ามสายซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นและต้องให้ความสำคัญกันมานานมากจนปลดล็อคข้อจำกัดทางความคิดและเงื่อนไขต่าง ๆ เพราะศิลปะไม่ได้ยืนอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดายบนโลกนี้ ศิลปะจะมีคุณค่าได้ก็ต่อเมื่อมันมอบอะไรบางอย่าวให้ผู้คน ไม่ว่าการตระหนักรู้ ความรู้สึก ความเพลิดเพลิน แม้กระทั่งการสะท้อนด้านดำมืดในจิตใจ เมื่อมาถึงเรื่องราวของดิจิทัลในแวดวงศิลปะปฏิกริยาที่เกิดขึ้น คือ การมุ่งเน้นไปที่คุณค่าที่เป็นเอกสิทธิ์ของมนุษย์อย่าง ‘ความคิดสร้างสรรค์’ แต่มีสักกี่คนกันที่ใช้เวลาคิดและทำความเข้าใจว่าความคิดสร้างสรรค์นั้นคืออะไร?

 

แล้วความคิดสร้างสรรค์เป็นเอกสิทธิ์ของมนุษย์จริงหรือ?

ศิลปินพร้อมไหมถ้า ‘AI’ สร้างสรรค์ผลงานได้ดีกว่า? ​​​​​​​          ประเด็นของ AI กับความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นที่ถกเถียงกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนานในต่างประเทศ ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งในประเทศไทยรีบสรุปเอาเสียว่ามนุษย์นั้นอยู่เหนือ AI และเทคโนโลยีต่าง ๆ ด้วยความคิดสร้างสรรค์

 

​​​​​​​          ความคิดสร้างสรรค์หรือ Creativity นั้นความหมายตามนิยามของ Cambridge Dictionary อธิบายไว้ว่า เป็นทักษะที่สร้างหรือใช้แนวคิดที่เป็นออริจินัลหรือแตกต่างออกไป หากมองตามแง่มุมดังกล่าวการทำงานศิลปะนั้นก็ไม่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เสมอไปแต่ยังต้องมีทักษะงานช่างหรือทักษะเฉพาะอีกด้วย เช่น การลอกแบบ, การคัดโน้ต, หรือการขึ้นรูปชิ้นส่วนเพื่อใช้ในงานศิลปะ ซึ่งในส่วนของทักษะนั้นหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสามารถเข้ามามีส่วนในเรื่องนี้ได้แล้วในปัจจุบัน 

 

​​​​​​​          สำหรับในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ถ้าหากใครติดตามข่าวสารบ่อย ๆ จะเห็นได้ว่าในเวลานี้ AI นั้นสามารถแต่งเพลงได้ สามารถเปลี่ยนภาพถ่ายให้กลายเป็นภาพเขียนได้ ลองเข้าไปดูผลงานออริจินัลที่ artaigallery.com ก็ได้ ถ้าเป็นงานเพลงก็มีบริการ Subscribe บริการแต่งเพลงอย่าง aiva.ai ให้ใช้งานหรือจะลองค้นหาคำว่า MuseNet ดูก็ได้เช่นกัน

 

​​​​​​​          ถ้าหากอ่านมาจนถึงบรรทัดนี้แล้วยังคงเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นเอกสิทธิ์ของมนุษย์อยู่ด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม ขอเชิญชวนให้ตั้งคำถามกับกระบวนการที่มาของความคิดสร้างสรรค์นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร? ถ้าหากใช้แนวคิดเก่า ๆ อย่างเด็กนั้นเป็นผ้าขาว หรือชีวิตเราเกิดมาก็เป็นแผ่นผืนผ้าใบเปล่า ๆ ที่จะสมบูรณ์บ้างไม่สมบูรณ์บ้างก็แล้วแต่เงื่อนไข ผืนผ้าใบเหล่านี้ถูกแต่งแต้มต่อเติมตัวตนด้วยประสบการณ์จนก่อให้เกิดสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์อย่างตัวตนหรือทัศนคติขึ้นมา การได้มาของประสบการณ์นั้นเกิดขึ้นจากการเรียนรู้และลงมือทำจริง ๆ โดยเฉพาะการลองผิดลองถูก (Trial and Error) ซึ่งการลงมือทำอะไรสักอย่างนี้ของเด็กหรือแม้แต่ผู้ใหญ่จะถูกครอบไว้ด้วยบริบทและเงื่อนไขเสมอซึ่งขอเรียกสิ่งนี้ว่าขอบเขต (Boundary) เช่น ในช่วงอายุไม่เกิน 3 ขวบยังไม่แข็งแรงพอที่จะควบคุมดินสอได้ก็สามารถทำได้แค่ขีดเขียนในระดับหนึ่งและถ้าครอบครัวมีเงินก็สามารถจัดหาอุปกรณ์ได้ แต่ถ้าไม่มีทุนทรัพย์ก็อาจเป็นการใช้กิ่งไม้ขีดเขียนลงบนผืนดิน ในขณะที่สิ่งที่ถูกเขียนหรือสะท้อนออกมาคือเรื่องราวที่เขาเห็นหรือรู้จักรอบตัว สิ่งเหล่านี้คือเงื่อนไขและขอบเขตที่หล่อหลอมให้เกิดเจตจำนงค์ขึ้น

 

​​​​​​​          เมื่อได้ฝึกฝนทำซ้ำ ๆ จนเกิดความเชี่ยวชาญมนุษย์จะสามารถทำสิ่งนั้นได้ดี และการเรียนรู้สิ่งใหม่ที่ดีที่สุด คือ การเรียนรู้โดยการลอกเลียนแบบจากแม่แบบ เช่น การลองวาดภาพตามศิลปินที่ชืนชอบ การแกะสไตล์การเล่นของมือกลองคนโปรด หรือแม้แต่เด็กที่เลียนแบบการพูดคุยของพ่อแม่ก็ใช่ ในเวลาเดียวกันกับความพยายามฝึกฝน สังคมภายนอก ครอบครัว ข้อมูลข่าวสาร และยุคสมัยต่างช่วยกันหล่อหลอมทัศนคติหรือเจตจำนงค์ไปพร้อม ๆ กัน

 

​​​​​​​          หากพิจารณาตามเงื่อนไขการเรียนรู้ การทำซ้ำต่าง ๆ ไปจนถึงบริบทแวดล้อมที่ก่อให้เกิดทั้งทักษะและเจตจำนงค์ของมนุษย์เหล่านี้ หลายคนอาจคิดว่าไม่มีทางที่เทคโนโลยีจะทำแบบเดียวกับมนุษย์ได้ นั่นอาจจะเป็นความจริงหากเทคโนโลยียังใช้โครงสร้างแบบ Rule-Based อยู่ แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีใหม่ ๆ นั้นใช้ AI ที่มีการออกแบบอยู่บนพื้นฐาน Learning-Based ซึ่งก็ไม่แตกต่างไปจากการเรียนรู้ของมนุษย์ ขอยกตัวอย่างพื้นฐาน เช่น การเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์สมัยก่อนต้องเข้าใจภาษาเฉพาะและต้องออกแบบค่าทางคณิตศาสตร์ที่แม่นยำ แต่หุ่นยนต์ในสมัยนี้อย่าง Cobot มนุษย์สามารถลากแขนเพื่อขยับตำแหน่งต่าง ๆ ได้เพื่อทำการบันทึกเส้นทางการเคลื่อนที่หรือหยิบจับ ไม่ต่างจากการสอนเด็กใช้ช้อนกินข้าวแต่อย่างใด

 

​​​​​​​          นั่นหมายความว่า AI ก็มีโอกาสที่จะเป็นในสิ่งที่มนุษย์เป็นได้และอาจจะเป็นสิ่งที่ไปได้ไกลกว่ามนุษย์ในบางแง่มุมหากตัดเรื่องอคติออกไป AI อาจจะกลายเป็นคน ๆ หนึ่งที่มีความเป็นมนุษย์มากกว่ามนุษย์หลายคนหรืออาจจะไม่ใกล้เคียงกับมนุษย์ที่เรียกได้ว่าแทบจะไร้หนทางในความสมบูรณ์แบบก็เป็นได้

 

​​​​​​​          หากคุณเคยดูภาพยนตร์อย่าง Hers และหลงรักเสียงของ Samantha หรือชอบ Jarvis จาก Ironman ตอนนี้เราก็มี Siri, Alexa หรือ Google Assistant เป็นผู้ช่วยในชีวิตจริงที่เข้าถึงได้แล้ว และด้วยการพัฒนา AI ที่เป็น Learning-Based ที่เกิดขึ้นข้อจำกัดที่มีคือเทคโนโลยีในปัจจุบันและเวลาว่าจะเกิดขึ้นจากเมื่อไหร่เท่านั้น เพราะในปัจจุบันนักวิจัยจำนวนมากเริ่มบูรณาการแนวคิดจากทางชีววิทยาเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้คลื่นไฟฟ้าของร่างกายควบคุมอวัยวะเทียม การออกคำสั่งเครื่องจักรผ่านสมองอย่าง Neural Link หรือการใช้ IoT และ Big Data ในการช่วยเก็บและประมวลผลข้อมูลบน Node ในระบบจำนวนมหาศาล ซึ่งดู ๆ ไปก็คล้ายการทำงานของประบบประสาทในสมอง หรือจะเป็นการค้นพบว่าเลือดเพียงหนึ่งกรัมสามารถบรรจุข้อมูลได้กว่า 700 Terabytes ทำให้เห็นได้ว่ามนุษย์เราเริ่มทำวิศวกรรมย้อนกลับหรือถอดแบบธรรมชาติและนำมาประกอบสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็น่าไปใจไม่น้อยเลยทีเดียว

 

​​​​​​​          ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าการเรียนรู้ของมนุษย์กับ AI นั้นเริ่มมีความใกล้เคียงและแนบชิดกันมากขึ้นเช่นนี้ ถ้าหาก AI มีโอกาสปรากฎตัวขึ้นในโลกกายภาพได้จริงอย่าง Robin Williams ใน Bicentennial Man หรือ Haley Joel Osment จาก A.I. Artificial Intelligent หรือหุ่นยนต์อย่าง Chappie ความแตกต่างเรื่องเจตจำนงค์เสรีหรือความคิดสร้างสรรค์อันเป็นเอกสิทธิ์ของมนุษย์อาจเป็นแค่ความกลัวที่เกิดขึ้นจากความไม่รู้และไม่มั่นใจในตัวเองก็ได้

 

​​​​​​​          ในระยะยาวด้วยความแม่นยำของเทคโนโลยีที่ใช้ข้อมูลจากพฤติกรรม รสนิยม และเซนเซอร์ในการตรวจจับต่าง ๆ ผลงานศิลปะจาก AI ที่ถูกผนวกเข้ากับ Big Data และ IoT นั้นอาจจะสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมได้มากกว่าศิลปินซึ่งสร้างงานตามมุมมองของตัวเองดว้ยทักษะที่มี แต่เทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้สามารถพัฒนาสั่งสมทักษะและต่อยอดได้อย่างต่อเนื่อง และเมื่อผนวกรวมกับข้อมูลของผู้ชม การสร้างผลงานเพื่อเข้าให้ถึงรสนิยมในแต่ละปัจเจกจึงเกิดขึ้นได้มากกว่า หรืออาจจะพูดได้ว่า AI อาจจะเป็นศิลปินที่ไม่มีลมหายใจแต่เข้าถึงมนุษย์ได้มากกว่ามนุษย์ก็เป็นไปได้

 

ศิลปินหวั่นไหวได้ แต่อย่าหวาดกลัว 
​​​​​​​          เพราะสิ่งที่แน่นอนที่สุด คือ ความไม่แน่นอน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และในต่างประเทศการทำงานบูรณาการข้ามสายเหล่านี้ก็มีมานานแล้วด้วย คำถามเหล่านี้ถูกถกเถียงกันมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะประเด็นด้านจุดยืนของมนุษย์อยู่ที่ตรงไหน ข้อสรุปที่ดีที่สุดอาจยังไม่เกิดขึ้นในเวลานี้ แต่ถ้ามองให้ดีทุกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมามนุษย์ก็จะผ่านพ้นมันไปได้ไม่ว่าจะดีหรือร้าย บาดเจ็บ ล้มตายหรืองอกเงยขึ้นใหม่ก็เป็นวัฏจักรที่เห็นกันได้เสมอ

ศิลปินพร้อมไหมถ้า ‘AI’ สร้างสรรค์ผลงานได้ดีกว่า?
​​​​​​​          สิ่งที่ศิลปินหรือนักศิลปะควรทำไม่ว่าเวลานี้หรือเวลาไหน คือ การเปิดตัวเองให้ประสบการณ์และอารมณ์ต่าง ๆ เข้ามาและไหลผ่านออกไป เก็บเกี่ยวสิ่งสำคัญทีละเล็กทีละน้อย เปิดตาให้กว้างมองดูสิ่งที่เกิดขึ้นและหาวิธีอยู่ร่วมกับสิ่งเหล่านี้ให้ได้ในแบบของตัวเอง การปฏิเสธหรือต่อต้านในใจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ถ้ามองอย่างใจกว้างแล้วทุกคนก็สามารถใช้โอกาสเหล่านี้ได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น AI ที่ช่วยการทำงานในโปรแกรมแต่งภาพ ซอฟต์แวร์แบบ Open-source สำหรับงานสามมิติ หรือแม้แต่กระทั่งการใช้หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัดที่ซับซ้อนก็เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ทำได้มีเพียงการเลือกว่าจะยืนขาตายแล้วหวังว่ากระแสการเปลี่ยนแปลงจะผ่านไปแล้วเหลือรอด หรือจะใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถม ทำความเข้าใจแล้วบินไปให้สูงกว่าเดิม นั่นเป็นสิ่งที่ศิลปินและนักศิลปะสามารถเลือกได้ เพราะโลกทุกวันนี้ตลาดทุกวันนี้ไม่ได้จำกัดไว้แค่ประเทศไทยซึ่งแช่แข็งโอกาสของศิลปินอื่น ๆ ที่ไร้เส้นสายไว้อย่างน่าอดสู ตลาดสากลและคนที่ชอบผลงานที่แตกต่างออกไปมีอยู่ทั่วโลก

 

​​​​​​​          ถ้าหากเทคโนโลยียังคงเติบโตรวดเร็วเช่นนี้ และประชากรสามารถเข้าถึงเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้น ความหลากหลายของศิลปะจากต่างชาติจะเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นศิลปะบริสุทธิ์ งานประยุกต์ งานบูรณาการข้ามศาสตร์ รวมถึงคู่แข่งที่อาจจะไม่ใช่มนุษย์ที่สร้างผลงานออกมาให้ผู้คนเห็น ดังนั้นต้องเลิกคิดเสียว่าความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นเอกสิทธิ์ของมนุษย์ ให้รู้ไว้เถิดว่าการแข่งขันนั้นเข้มข้นและหลากหลายยิ่งขึ้น ถึงเวลาที่ต้องใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าเหล่านี้และให้สมาธิกับการสร้างผลงานมากกว่ามานั่งกลัว 

 

​​​​​​​          การแข่งขันของศิลปินในยุคใหม่นั้นแท้จริงแล้วจะยิ่งเป็นการมองลึกลงไปในตัวตนของตัวเองเพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์ผลงานให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยให้ขั้นตอนเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นและเข้าถึงได้ง่ายยิ่งกว่าในยุคสมัยก่อน หากเรียนรู้และปรับตัวให้ดี เทคโนโลยีดิจิทัลอย่าง AI, IoT หรือ Big Data ก็สามารถกลายเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญสำหรับศิลปินยุคใหม่เพื่อเข้าถึงความสำเร็จได้อย่างง่ายดาย

 

​​​​​​​          หากหวาดกลัวและเต็มไปด้วยอคติ ในท้ายที่สุดศิลปินจะพ่ายแพ้ต่อยุคสมัยและปัจจัยแวดล้อมอันโหดร้ายของพื้นที่ที่เราอยู่ การมีความหวังเป็นสิ่งที่ดีแต่ความหวังนั้นยังต้องมาพร้อมกับการเปิดตา เปิดใจ และเปิดรับข้อมูลใหม่ ๆ ที่แตกต่างบนพื้นฐานของความเป็นจริงด้วย อย่าลืมว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดได้ทุกวันไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่หรือน่าขนสยองพองเกล้า แต่การตระหนักว่าแท้ที่จริงแล้วผลงานและตัวตนของศิลปินนั้นไม่ได้มอบความหมายให้กับผู้ใดเลยแม้กระทั่งตัวเองต่างหากเป็นสิ่งที่จะตอกตะปูฝาโลงเส้นทางของศิลปินเอง

 

ทศธิป สูนย์สาทร
ผู้หลงใหลในเสียงดนตรี ความงาม และเทคโนโลยี 

--------------------

Ref: