ธุรกิจ ‘บูชายัญ’ ประวัติศาสตร์ความกลัว-ความโลภ ของมนุษยชาติ ที่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน
บูชายัญมนุษย์ ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นแค่ในอดีต ปรากฏในตำนานอีกต่อไป เพราะในศตวรรษที่ 21 การบูชายัญเด็กยังคงมีให้เห็น พวกเขาทำไปเพื่ออะไร และสิ่งไหนที่ผลักดันให้คนทำเช่นนั้น ?
Highlights:
- ทำไมมนุษย์ต้องมีการสังเวย เซ่นสรวง หรือ การบูชายัญ
- ประวัติศาสตร์ของการบูชายัญ อดีตถึงปัจจุบัน จนกลายมาเป็นธุรกิจ
- ความลับของ 'ชีวิตหลังความตาย' ที่มาของ 'ความกลัว' ของมนุษยชาติ
- การลักพาตัวเด็ก เพื่อนำไปสังเวยความเชื่อ ความน่ากลัวยิ่งกว่าของมนุษย์
มนุษย์มีการบูชาเทพที่สิงสถิตตามธรรมชาติ ผู้เขียนเคยเดินทางขึ้นไปทางภาคเหนือ ได้เห็นชนเผ่าต่าง ๆ ที่อาศัยตามภูเขาสูงบางแห่ง ยังคงมีความเชื่อและนับถือภูติผีตามธรรมชาติ ว่ากันว่าจุดเริ่มต้นของมันมาจาก ‘ความกลัว’ ในสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ อย่างเช่นฝนไม่ตกตามฤดูกาล น้ำท่วม ไฟไหม้ป่า หรือแม้แต่อาการเจ็บป่วยที่ไม่สามารถรักษาได้
ต้องยอมรับว่า ‘ความกลัว’ เป็นสิ่งสำคัญที่ขับเคลื่อนพื้นฐานความเชื่อของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยโบราณ ทำไมทุกศาสนาถึงต้องมีการอธิบายว่าหลังความตายแล้วมนุษย์เราจะไปอยู่ ณ จุดไหน? ทั้ง ๆ ที่ไม่มีหลักฐานและประจักษ์พยานใด ๆ ที่สามารถพิสูจน์ได้ล่ะ ... การอธิบายถึงชีวิตหลัง ‘ความตาย’ ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ ‘หวาดกลัว’ ได้นั้นเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับ ‘ความเชื่อ’ อยู่เสมอ .. ตายแล้วได้ไปสวรรค์ ตายแล้วได้เกิดใหม่ หรือตายแล้วตายลับ ก็แล้วแต่ว่าใครจะเลือกเชื่อสิ่งใดเพื่อผ่อนคลายความหวาดกลัวของตัวเอง
ตอนที่ผู้เขียนขึ้นดอยไป และพบเจอกับหมอผีที่ทำพิธีรักษาคนเจ็บป่วยในบ้าน พวกเขากลัวว่าสมาชิกในครอบครัวจะเป็นอะไรไป จึงเกิดพิธีกรรมเพื่อตอบสนองสิ่งเหล่านั้นที่เรียกว่า ‘การสังเวย’ หรือ ‘บูชายัญ’ พวกเขาใช้วิธีเชือดไก่เป็นการสังเวย เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย
‘ถ้าเจ็บป่วยมากก็ต้องเชือดหมู ไก่เอาไม่อยู่’ คำพูดพ่อหมอยังจำได้แจ่มชัดในความทรงจำ
ไม่ใช่แค่ในเมืองไทย พิธีกรรมเซ่นสังเวยนี้ พบได้ทั่วไปในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวไททรงดำที่เวียดนาม ก็มีความเชื่อว่าต้องมีการฆ่าหมูเพื่อเซ่นสังเวยเจ้าบ้านเจ้าเรือน หรือหากเดินทางข้ามไปทางฝั่งเมียนมาในรัฐมอญ ก็มีการเซ่นสังเวยภูติผีโดยเฉพาะเวลาเจ็บป่วยเช่นเดียวกัน ...
จะว่าไปการสังเวยนั้นเกิดขึ้นทั่วโลกเสียมากกว่า ดูเหมือนว่า ‘คน’ พร้อมใจกัน ‘สังเวย’ ชีวิตของบางอย่าง เพื่อ ‘เซ่น’ ให้กับความหวาดกลัวของตนมาตั้งแต่ยุคโบราณ และบางครั้งการสังเวยก็รุนแรง จนถึงขั้นเซ่นชีวิตของ ‘มนุษย์’ !
สังเวยมนุษย์ สังเวยความกลัวตายด้วยความตาย
มนุษย์กลัวความตายหรือมนุษย์กลัวชีวิตหลังความตาย? ไม่ว่าจะฝั่งไหนชาวอียิปต์โบราณในยุคของการสร้างปิระมิด ก็ตัดสินใจที่จะสมัครเป็นเครื่องสังเวย อ่านไม่ผิดแน่นอนว่าคนเหล่านั้นสมัครใจตาย! เพื่อจะได้ไปรับใช้กษัตริย์ของพวกเขาในโลกหลังความตาย หลักฐานความสมัครใจนี้สะท้อนมาในรูปแบบของโครงกระดูกที่ถูกค้นพบภายหลังซึ่งไม่บ่งชี้ร่องรอยความทุรนทุรายหรือบาดแผลใด ๆ
ห่างกันไปกว่าหลายพันไมล์บนแผ่นดินจีน ในสมัยราชวงศ์โจว เมื่อ 697 ปีก่อนคริสตกาล ตามที่ ‘ซือหม่าเชียน’ นักประวัติศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของจีนได้ระบุไว้ว่าคือจุดเริ่มต้นของการสังเวยมนุษย์เพื่อรับใช้นายของตน โดยต่อมาได้มีการขุดค้นพบโลงศพในสุสานของขุนนางชั้นสูง ซึ่งบางแห่งปรากฏโลงศพกว่า 180 โลง ตามความเชื่อที่ว่าบุคคลที่ถูกสังเวยจะได้ตามไปรับใช้เจ้านายในชีวิตหลังความตายด้วยเช่นกัน
กองทัพทหารดินเผาซึ่งรายล้อมสุสานของจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้
อย่างไรก็ตามความนิยมนี้ได้เสื่อมถอยลงในสมัยราชวงศ์ฉิน จักรพรรดิที่มีชื่อเสียงที่สุดอย่าง จิ๋นซีฮ่องเต้ ได้ปฏิวัติสิ่งนี้ด้วยการสร้างสุสานที่ประกอบไปด้วยเหล่าทหารกว่า 8,000 นายม้ากว่า 670 ตัว นางสนม และคนรับใช้ที่ปั้นจากดินเผาแทนการใช้คนจริง! แม้ว่าหลังจากการปั้นประติมากรรมที่ได้กลายเป็นมรดกของโลกแล้วเสร็จ ช่างปั้นเหล่านั้นจะถูกเผาทั้งเป็นเพื่อปกปิดสถานที่แห่งนี้ให้เป็นความลับก็ตาม
………
นอกจากกลัว ‘ความตาย’ แล้ว ประวัติศาสตร์ยังแสดงให้เห็นถึงการสังเวยมนุษย์ต่อความกลัวที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อีกหลายประการ อย่างเช่น ในวัฒนธรรมแอ็ซแทคซึ่งพบร่องรอยการสังเวยเด็กมากที่สุดแห่งหนึ่ง เชื่อว่าหากวันใดไม่มีการสังเวยเด็ก ฝนจะไม่ตกต้องตามฤดูกาลและพืชผักที่ปลูกไว้จะไม่เติบโต .. ความกลัวของชนเผ่าโบราณนั้นมักจะมาในรูปแบบความกลัวต่อปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของพวกเขา และเมื่อวิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญก้าวหน้ามากนัก ณ เวลาดังกล่าว เหตุการณ์ธรรมชาติจึงถูกอธิบายด้วยคำว่า ‘พลังของพระเจ้า’ ซึ่งมาพร้อมกับพิธีกรรมที่ทำให้พระเจ้าพึงพอใจ และเมื่อชีวิตคือสิ่งมีค่าสูงสุดในความเชื่อของพวกเขา การสังเวยมนุษย์จึงทรงพลังมากกว่าสิ่งใด
ที่จังหวัดฟูกูอิ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อครั้งก่อสร้างปราสาทมารุโอกะ เกิดปัญหาที่ว่าปราสาทนั้นสร้างฐานขึ้นกี่ครั้งก็พังถล่มลงมา จึงมีคนเสนอว่าควรสังเวยมนุษย์ เพื่อให้เทพเจ้าพอใจ จึงได้มีการสังเวยหญิงตาบอดผู้หนึ่งที่ฐานของปราสาท เธอถูกทับด้วยหินจนตายและกลายเป็นที่มาของคำว่า ‘เสาหลักมนุษย์’ ซึ่งวัฒนธรรมนี้ก็มีให้เห็นนอกเหนือไปจากที่ญี่ปุ่นด้วยเช่นเดียวกัน
ปราสาทมารุโอกะ ในจังหวัดฟูกูอิ ซึ่งมีการทำพิธีกรรม ‘เสาหลักมนุษย์’
ขณะที่อับราฮัมกำลังจะบูชายัญลูกชาย มีทูตสวรรค์ห้ามไว้และบอกให้บูชายัญเป็นลูกแกะแทน
สิ่งที่จะถ่ายทอดต่อจากนี้นั้น ผู้เขียนเองก็ได้เกิดคำถามต่อการกระทำที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน
การสังเวยมนุษย์เพราะความหวาดกลัวเกิดขึ้นในยุคโบราณ และหมดไปเมื่อโลกเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ แต่ในทางกลับกัน การสังเวยมนุษย์เพราะความหวังในอำนาจกลับมีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานจวบจนกระทั่งทุกวันนี้!
จุดเริ่มต้นของการสังเวยเพื่ออำนาจนั้นไม่แน่ชัด ในยุคโบราณจุดประสงค์ของการสังเวยชีวิตมนุษย์มักจะปนเปกันไประหว่าง ความกลัวต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และการรักษาอำนาจ ... หากตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดก็สามารถย้อนไปได้ถึงในยุคจักรวรรดิโรมัน ‘แกลดิเอเตอร์’ หรือนักสู้ที่มีหน้าที่สร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมได้ถือกำเนิดขึ้น พวกเขาคือทาส ชนชั้นต่ำต้อย หรือนักโทษเชลยศึก ที่ถูกฝึกให้ต่อสู้แม้กระทั่งกับสัตว์ป่าที่ดุร้าย และอาจตายในขณะที่ต่อสู้ได้ แกลดิเอเตอร์คือระบบที่สะท้อนถึงควบคุมคนในชนชั้นต่าง ๆ ไม่ให้แตกแถวอย่างเข้มงวด ใครที่เป็นแกลดิเอเตอร์ถือเป็นทรัพย์สินไม่ใช่บุคคล และพวกเขาอาจต้องตายเพียงแค่ความไม่พอใจของคนที่มีสถานะสูงกว่า เมื่ออยู่ในลานประลอง!
แต่นั่นก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคกาลก่อน แกลดิเอเตอร์เสื่อมความนิยมลงเรื่อย ๆ และสิ้นสุดเด็ดขาดพร้อมกับการเติบโตของศาสนาคริสต์ในจักรวรรดิโรมัน ในช่วงคริสตศักราช 380
แกลดิเอเตอร์ มักจะเสียชีวิตในการต่อสู้ครั้งแรก และน้อยคนที่จะอยู่รอดได้
อย่างที่เกริ่นไปว่าเมื่อโลกเข้าสู่ยุคใหม่ การสังเวยชีวิตมนุษย์แทบจะหมดไป ด้วยข้อกฏหมายและศีลธรรมประเพณีใด ๆ ก็ตามแต่ที่มนุษย์ควรจะรู้ได้ว่า การฆ่าผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง หากจะเกิดขึ้นบ้างก็เป็นความเชื่อส่วนบุคคลที่เชื่อหรือตีความแบบผิด ๆ เป็นรายบุคคล และถือเป็นการก่ออาชญากรรมร้ายแรง
จนกระทั่งเมื่อโลกเข้าสู่ศตวรรษที่ 21
ที่ประเทศยูกันดา ทวีปแอฟริกา
ตั้งแต่ ค.ศ.2006-2009 ปรากฎรายงานเด็กถูกลักพาตัวเพื่อทำพิธีสังเวยอย่างเป็นทางการกว่า 100 คน อย่างไรก็ตามมีการคาดการณ์ว่าตัวเลขที่แท้จริงคือ 900 คน!
เกิดอะไรขึ้นที่นี่
ยูกันดาได้เกิดธุรกิจหนึ่งที่ทำเงินมหาศาลนั่นคือ ‘ธุรกิจบูชายัญ’
สิ่งที่สะเทือนใจที่สุดคือ พวกเขาไม่ได้บูชายัญเพราะความกลัวในสิ่งที่ไม่รู้
แต่พวกเขาบูชายัญเด็กเพราะ ‘อยากรวย’ เพราะ ‘อำนาจ’ ของเงิน
พ่อแม่ถือรูปของลูกสาวที่ถูกลักพาตัวไปทำพิธีบูชายัญ
หมอไสยเวท มนต์ดำนั้นพบเห็นได้ทั่วไปในยูกันดา
ครั้งหนึ่งสำนักข่าวอังกฤษอย่างบีบีซี ได้แฝงตัวไปพบกับคนกลางที่ถูกชี้ว่าเป็นคนลักพาตัวเด็ก โดยแฝงตัวเป็นคนที่จะไปซื้อบริการบูชายัญ คนกลางระบุว่าค่าใช้จ่ายนั้นประมาณ 20,000 บาทต่อคน และได้พูดถึงเด็กโดยใช้สรรพนามว่า ‘มัน’ ซึ่งดูเหมือนว่าเขาจะลดทอนคุณค่าความเป็นคนของเด็กเหล่านั้นเพื่อให้สิ่งที่ทำถูกต้องในความรู้สึกของเขา
‘การตายของมันจะทำให้คุณโชคดี’
เขายังบอกกับสำนักข่าวอีกว่าหากเป็นเด็กผู้ชายจะมีการตัดศีรษะและอวัยวะเพศออก จากนั้นก็ขุดหลุมในพื้นที่ที่มีการทำธุรกิจและนำชิ้นส่วนต่าง ๆ ใส่ในหลุมและฝังกลบพร้อมกัน หลังจากการแฝงตัวบีบีซีได้นำหลักฐานไปมอบให้แก่ตำรวจ แต่ผู้ชายคนนั้นก็ไม่ถูกจับตัวและยังคงเป็นอิสระ!
เด็กชายชาวยูกันดารอดชีวิตจากการบูชายัญมาได้แต่ก็ต้องมีบาดแผลทั้งทางร่างกายและจิตใจไปตลอดชีวิต
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 เศรษฐกิจของยูกันดาเติบโตสูงสุดและมีคนที่ประสบความสำเร็จและร่ำรวยในช่วงนี้เกิดขึ้นมากมาย ปรากฏการณ์นี้กลายเป็นแคมเปญประชาสัมพันธ์ชั้นดีให้กับหมอไสยเวท พวกเขาระบุว่าคนที่ร่ำรวยขึ้นมาบางคนนั้นก็เพราะได้ทำพิธีบูชายัญ! และจากจุดนั้นเองการบูชายัญเด็กก็ได้กลายเป็นธุรกิจโดยไม่สนใจถึงศีลธรรมอีกต่อไป มีรายงานด้วยว่าในช่วงของการเลือกตั้ง อัตราการลักพาตัวเด็กเพื่อไปบูชายัญนั้นสูงขึ้นเสมอ ... อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะช่องว่างทางกฏหมายของยูกันดา ที่ทำให้หมอไสยเวทซึ่งประกอบพิธีบูชายัญเด็กไม่ได้รับโทษถึงประหารชีวิต และไม่สามารถเอาผิดกับคนที่จ่ายเงินเพื่อซื้อบริการเหล่านี้ซึ่งเป็นต้นน้ำของเรื่องราวทั้งหมด
….
ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังจากมีหน่วยงานทั้งในและนอกประเทศช่วยกันเดินหน้าเรียกร้องและตีแผ่ ‘ธุรกิจค้ามนุษย์’ ที่เกิดขึ้นอย่างโจ๋งครึ่มตลอดสิบปี กฏหมายที่ออกมาป้องกันและปิดรูโหว่ทางกฏหมายทั้งหมดในยูกันดาจึงถูกประกาศใช้เพื่อปกป้องและเอาผิดกับการทำพิธีบูชายัญเด็กในที่สุด
เมื่อหันกลับไปมองประวัติศาสตรของการบูชายัญ จะพบว่าโลกนั้นไม่ได้ดำเนินไปได้ด้วยด้านที่สวยงามเพียงด้านเดียว .. ความกลัวและปัญหาต่าง ๆ ที่ไม่อาจเข้าใจ ได้ขับเคลื่อนโลกใบนี้อยู่เสมอ อยู่ที่ว่าเราจะตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไรในฐานะมนุษย์
และเมื่อมองสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศยูกันดา ผู้เขียนก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า
ในขณะที่พวกเขาบางส่วนยอมแลกชีวิตของเด็ก เพียงเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง
‘เราได้เคยบูชายัญ ศีลธรรม ความดี และความถูกต้อง เพื่อแลกกับบางสิ่ง อย่างที่เกิดกับคนในยูกันดาหรือไม่?’
:)
พีร์ญาดา ประสูตร์แสงจันทร์
--------------------
ที่มา:
- https://www.bbc.com/news/world-africa-15255357
- https://www.childrenontheedge.org/latest-stories/children-on-the-edge-celebrates-as-ground-breaking-new-law-is-passed-in-uganda-criminalising-the-practice-of-child-sacrifice
- https://www.calebwilde.com/2018/08/10-things-you-need-to-know-about-child-sacrifice-in-uganda/
- https://en.wikipedia.org/wiki/Child_sacrifice_in_Uganda
- https://en.wikipedia.org/wiki/Maruoka_Castle
- https://en.wikipedia.org/wiki/Hitobashira
- https://en.wikipedia.org/wiki/Human_sacrifice
- https://www.chinahighlights.com/xian/terracotta-army/who-and-why-built.htm
- https://www.livescience.com/59514-cultures-that-practiced-human-sacrifice/3.html
- https://www.ssoar.info/ssoar/bitstream/handle/document/58231/ssoar-ilshs-2014-41-bukuluki-Child_sacrifice_myth_or_reality.pdf;jsessionid=57AE2D62F9BDEB0A125CBB02FEC80666?sequence=1
- https://www.nbcnews.com/id/wbna36167424