ศิลปวัฒนธรรม กับ การอนุรักษ์ เมื่อความยั่งยืนอาจมีองค์ประกอบมากกว่าที่คิด?
เคยสงสัยกันหรือไม่ว่าทำไมศิลปะของไทยที่แสนจะรุ่มรวยแต่บางครั้งรู้สึกห่างไกล เข้าถึงได้ยาก และทำไมศิลปะของบางประเทศถึงพบได้ทั่วไปในเมืองไทยและระดับสากล? แล้วทำไมศิลปะไทยถึงดูเหมือนมีกำแพงขวางกั้นอยู่
Highlights:
- เมื่อพูดถึงศิลปะวัฒนธรรมไทย กรอบความหมายของผู้คนไม่น้อยจะถูกผูกติดอยู่กับรูปแบบหนึ่ง ๆ
- ประเทศไทยมีศิลปะวัฒนธรรมที่หลากหลายและรุ่มรวยมากแต่ไม่ได้รับการสนับสนุน
- ศิลปินหรือนักศิลปะรุ่นใหม่ไม่ได้รับการสนับสนุนหรือส่งเสริมจากวงกว้างเท่าที่ควร
- ประเทศไทยมักยกศิลปะวัฒนธรรมขึ้นหิ้งให้แตะต้องได้ยาก ผู้คนจึงมีส่วนร่วมน้อย และไม่อาจส่งมอบลมหายใจต่อไปให้คนรุ่นใหม่ ๆ ได้เท่าที่ควรจะเป็น
- ศิลปะวัฒนธรรมหนึ่ง ๆ นั้นมีฟันเฟืองที่เกี่ยวข้องอีกมากมายที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างที่ควร เป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการล่มสลายอย่างช้า ๆ
- การสร้างการอนุรักษ์ที่มีประสิทธิภาพ คือ การเปิดให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วม สร้างการเชื่อมต่อระหว่างศิลปะวัฒนธรรมและผู้คน ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะร่วมสมัย การสนับสนุนจากหน่วยงาน ไปจนถึงการเปิดกว้างในการบูรณาการสร้างสรรค์
--------------------
เมื่อขึ้นชื่อว่าศิลปะวัฒนธรรมแล้วย่อมมีรากการพัฒนาและคุณค่าที่สะท้อนถึงแก่นของสังคมนั้น ๆ อย่างแน่นแฟ้น ศิลปะวัฒนธรรมเหล่านั้นแสดงให้เห็นถึงสภาพสังคม ความเป็นมา การกินอยู่ ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งประเทศไทยต้องบอกว่าโชคดีที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลายและมีเอกลักษณ์แตกต่างกันอย่างน่าสนใจ แต่ที่น่าเสียดายมากกว่าว่าทำไมสิ่งเหล่านี้ถึงไม่ถูกส่งต่อมาให้คนรุ่นใหม่กันได้ในวงกว้าง
เคยตั้งคำถามกันหรือไม่ครับว่าทำไมของบางอย่างเราต้องรักษากันไว้ ของอย่างศิลปะวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่บางครั้งก็จับต้องไม่ได้แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องหวงแหนและต้องถูกเก็บงำเอาไว้เป็นอย่างดี? ถ้าให้อธิบายอย่างง่ายศิลปะวัฒนธรรมในเชิงเศรษฐกิจนั้นเรียกได้ว่าเป็นตัวทำเงินที่น่าสนใจและมีความยั่งยืนสูงมากครับ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ Originality ที่พัฒนาและเติบโตโดยมีรากฐานจากพื้นที่เหล่านั้นชัดเจน ถ้าใครจะมาแข่งขันกันในเรื่องเดียวกันนี้ประเด็นนี้ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการแข่งขันที่ยากลำบากเมื่อต้องเจอกับเจ้าของวัฒนธรรมหรือความคิดเหล่านั้นถูกไหมครับ
จากมุมมองส่วนบุคคลและประสบการณ์ที่ได้สัมผัสมา เมื่อหันไปทางไหนในทุกวันนี้ก็เหมือนจะเห็นแต่ศิลปะวัฒนธรรมจากต่างชาติเยอะกว่าศิลปะจากประเทศไทยเอง หรือศิลปะวัฒนธรรมไทย ผลงานคนไทยที่ดี ๆ ก็ต้องไปดังที่ต่างประเทศก่อนถึงจะได้รับการยอมรับในประเทศไทย ไม่ว่าจะดนตรี งานศิลปะติดตั้ง หรือแม้กระทั่งอาหารเครื่องดื่มอย่างคราฟต์เบียร์ เมื่อได้มีโอกาสสัมผัสบางส่วนของศิลปะในประเทศไทยก็รู้สึกได้ถึงกำแพงและเงื่อนไขหลาย ๆ อย่างที่คอยพันธนาการศิลปินต่าง ๆ รงมถึงประชาชนเอาไว้ไม่ว่าค่านิยม การเมือง ผลประโยชน์
ซึ่งในบางครั้งสิ่งที่เห็น คือ การค่อย ๆ ล่มสลายของศิลปะวัฒนธรรมบางอย่างแบบช้า ๆ หรือการเกิดขึ้นของอะไรใหม่ ๆ ที่ยากเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดขึ้นของศิลปะวัฒนธรรมยุคใหม่ที่ต้องการเชื่อมโยงไปยังรากของสิ่งเดิม แต่เป็นการดำเนินการภายใต้บริบทและมุมมองใหม่ ๆ ที่มักจะโดนใครก็ไม่รู้เคลมความเป็นเจ้าของของศิลปะวัฒนธรรมส่วนรวมไปอย่างน่าประหลาดใจ จึงเป็นที่มาของคำถามว่า จริง ๆ แล้วที่เขาอยากอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมน่ะเขาจะอนุรักษ์มันไว้จริง ๆ หรือแค่อยากจะแช่แข็งไว้ให้งดงามเหมือนจินตนาการส่วนตัว?
จริง ๆ แล้วศิลปะวัฒนธรรมถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ใช้ในการแสดงออกทั้งทางการเมืองยุคใหม่และเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นบทเพลง งานเขียน งานวาด แม้กระทั่งพื้นที่แหล่งกำเนิดวัฒนธรรมก็สามารถกลายเป็นที่ท่องเที่ยวเพื่อสร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาลได้ ลองนึกถึงประเทศที่ส่งออกวัฒนธรรมเสิร์ฟร้อน ๆ ถึงบ้านเราดูสิครับว่าคุณใช้อะไรอยู่บ้าง ดูละครหรือสื่อจากประเทศใด ฟังเพลงอะไร หรือถ้าคุณนึกจะไปเที่ยวอยากไปที่ไหนเพราะอะไร?
แต่ถ้านอกเหนือจากมุมมองในด้านเศรษฐกิจแล้ว วัฒนธรรมอาจเป็นเครื่องมือสำหรับการเมืองที่สิ่งสะท้อนถึงแก่นบางอย่างสำหรับชนชาติหนึ่ง ๆ เป็นการส่งต่อทักษะ ความสามารถ ไปจนถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ผ่านผลงานหรือขั้นตอนการเรียนรู้ หลายครั้งที่ความอยู่รอดของศิลปะวัฒนธรรมนั้นขึ้นอยู่กับภาคการเมืองอย่างรัฐบาลเสียด้วยซ้ำ
ลองดูปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนสิครับว่าสิ่งที่เคยรุ่งเรืองงอกงามเป็นพันปีนั้นสิ่งใดหายไปบ้าง โดนทำลาย โดนกวาดล้าง หรือสิ่งไหนที่ถูกรัฐนำมาเชิดชูและชุบเลี้ยง และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นเป็นอย่างไรบ้าง นั่นคือตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจในแง่มุมของศิลปะที่อยู่รอดได้ในหลาย ๆ ประเทศของเอเชีย อยู่ได้ในฐานะที่รัฐให้การสนับสนุนและเชิดชู ซึ่งในประเทศโลกที่ 3 หรือประเทศที่กำลังพัฒนานั้นมักจะมีการกรองและ ‘เลือก’ เชิดชูศิลปะวัฒนธรรมในขอบเขตที่คับแคบเป็นพิเศษ ความเป็นขาวและดำอาจจะชัดเจนจนน่าใจหาย กลายเป็นดาบที่ย้อนมาแทงการอนุรักษ์และส่งต่อวัฒนธรรมเหล่านั้นให้กับโลกยุคใหม่เสียเอง
การกรองที่เข้มข้น หรือการคัดเลือกเพื่อเชิดชูศิลปะจากหน่วยงานที่ขาดความเข้าใจในโลกสมัยใหม่นั้นส่งผลให้การยึดโยงกับผู้คนลดน้อยลงไป กลายเป็นศิลปะวัฒนธรรมเหล่านั้นเหลือแค่หลักฐานจากรึกเพื่อการเรียนการสอน ไม่ได้สร้างความประทับใจ ไม่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้สามารถหยิบยกมาเล่าได้ในแบบฉบับหรือมุมมองของตัวเอง ผู้คนจึงยิ่งห่างไกล ห่างเหิน และการสืบทอดก็ยิ่งน้อยลง ๆ เรื่อย ๆ
ซึ่งในประเด็นนี้ต้องแยกระหว่างการรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมแบบบริสุทธิ์ กับศิลปะร่วมสมัยหรือศิลปะสมัยใหม่ การรักษาวิถีประเพณีดั้งเดิมยังต้องมีอยู่ต่อไปไม่ว่าจะในฐานะใด ๆ ก็ตาม แต่การเปิดกว้างให้ผู็คนเข้าถึงและตีความได้หลากหลายนั้นต้องยอมรับว่าสามารถเพิ่มความเชื่อมต่อยึดโยงกับคนรุ่นใหม่ได้มากกว่าการหยิบยกศิลปะวัฒนธรรมนั้น ๆ ให้อยู่สูงจนฝุ่นเกาะ ต้องระลึกไว้เสมอว่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการสร้างผลงาน การเรียนรู้ หรือการเสพงานของผู้คนทั่วไปยังเป็นการสืบสานลมหายใจของคุณค่าเหล่านี้อีกต่อไป ไม่ใช่แค่ให้ภาครัฐหล่อเลี้ยงไปเรื่อย ๆ แต่ในณะที่ความรู้สึกของคนในพื้นที่นั้น ๆ เริ่มจืดจางหรือเห็นความสำคัญน้อยลงอย่างต่อเนื่อง
แล้วการอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมจะให้คุณค่ากับเราได้จริงหรือ?
การจะตอบคำถามที่ว่าอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมแล้วได้อะไรหรือเป็นผลดีอย่างไร อยากให้จำไว้เสมอว่าศิลปะวัฒนธรรมนั้นมีพลังเสมอ และเรื่องนี้อาจไม่เกี่ยวกับคุณว่าเป็นชาติใด เพียงแค่เมื่อศิลปะวัฒนธรรมหนึ่ง ๆ เชื่อมต่อกับคนหนึ่งคนแล้วจะเกิดความรู้สึกรับรู้ใดที่กระทบใจผู้รับสารบ้างเสียมากกว่า สิ่งสำคัญ คือ ศิลปะวัฒนธรรมนั้นต้องเชื่อมต่อกับผู้คนได้ด้วยคุณค่าบางอย่าง เราลองมาสำรวจกันดูครับว่าไอ้ศิลปะหรือวัฒนธรรมที่ว่านั้นมันจะมีตัวตนจริงไหม และคุณได้สัมผัสกับสิ่งใดมาแล้วบ้าง?
หากพูดถึงศิลปะไทยหลายคนอาจจะนึกถึงโขน รามเกียรติ์ การสักลาย ลายสลักลายไทยตามวัดวาต่าง ๆ ซึ่งยังไม่นับรวมศิลปะล้านนา ดนตรีอิสาน หนังตะลุง มโนราห์ หรือศิลปะพื้นถิ่นอื่น ๆ อีกมากที่ผู้คนอาจยังไม่รู้จัก จะเห็นศิลปะที่รัฐยกย่องเชิดชูนั้นอยู่ในแสงไฟสปอร์ตไลท์อย่างชัดเจน แต่ถ้าถามกลับมาว่าใครได้มานั่งฟังระนาด หรือชมศิลปะพวกนี้กันเป็นประจำบ้าง หรือแม้แตว่าใครจำเรื่องราวรายละเอียดที่เคยรับชมกันไปได้ คำตอบก็คงอาจเป็นว่าไม่ได้ประทับลงไปในใจจนนึกถึงได้เสมอ ๆ
เคยไถ่ถามคนรุ่นใหม่กันไหมครับว่าถ้านึกถึงความเป็นไทย ศิลปะวัฒนธรรม อะไรก็ได้เขาจะนึกถึงอะไรกัน? บางคนอาจจะพูดถึงเก่งธชย ถ้ามีอายุหน่อยอาจจะนึกถึงเพลงวอนของ The Peach Band บางคนนึกถึงช้าง หรือถ้าอายุมากเลยอาจจะนึกถึงหนุมานปะทะไอ้มดแดง ถ้าเป็นอาหารล่ะ? ต้มยำกุ้ง หมูสร่ง หรือม้าฮ่อ ปลาแห้งแตงโม ขนมชั้น หรือขนมหม้อแกงอะไรประมาณนี้
แล้วถ้าเราใช้คำถามเดียวกันกับศิลปะวัฒนธรรมหรือภาพจำที่มีต่อประเทศอื่น ๆ ล่ะ ถ้าพูดถึงญี่ปุ่นจะนึกถึงอะไรกัน? มังงะ กิโมโน ราเมน ซูชิ ซามิเซ็ง หากเป็นเกาหลีเราอาจจะนึกถึงละครดราม่า K-POP กิมจิ หรือโสม ในกรณีของเยอรมนีเราอาจนึกถึงหุ่นยนต์ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 สงครามโลก รถเต่า หรือเบียร์ อังกฤษนึกถึงชา สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 อดีตกองทัพเรือที่ยิ่งใหญ่ที่สุด หรืออเมริกาเราจะนึกถึงเสรีภาพ เบอร์เกอร์ กาแฟ ปืน ลองนึกถึงประเทศหรือแบรนด์อะไรสักอย่างดูก็ได้ครับว่าเรามีความทรงจำที่นึกได้สำหรับแบรนด์เหล่านั้นอย่างไรบ้าง
การที่เราได้ยินหรือได้เห็นอะไรบางอย่างแล้วนึกถึงวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องขึ้นมาได้อย่างทันทีนั้นมีความหมายได้ในหลากหลายมิติ ถ้าในทางเศรษฐกิจมันอาจกลายเป็นจุดขายที่สำคัญเข้าถึงได้ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกในรูปของสินค้า ดึงดูดการท่องเที่ยวในฐานะพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ ในแง่ของสังคมก็สะท้อนความเป็นมาของชาติประวัติศาสตร์ไปจนถึงรากเหง้าที่มาของชนชาติ น่าแปลกใจไหมล่ะครับที่ประเทศไทยเรามีวัฒนธรรม ประเพณี และศิลปะมากมาย แต่ทำไมเราถึงเข้าถึงหรือนึกถึงมันได้ยากกว่าไปนึกถึงเรื่องประเทศชาวบ้านเสียอีก?
ประเทศไทยนิยมแช่แข็ง คว้ารางวัลวัฒนธรรมขึ้นหิ้ง
บางครั้งการที่เราไม่ได้นึกถึงรายละเอียดเล็ก ๆ น้อยที่เจอในชีวิตประจำวันเพราะเราอาจจะรู้สึกธรรมดาหรือชินชาไปแล้วซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดหรือแปลกอะไร แต่ในมุมของการที่เมื่อได้มาพิจารณาความคิดหรือตระหนักให้ดีแล้วเวลาเรานึกว่าเราต้องอนุรักษ์โน่นนั่นนี่นู่นนั้น เราได้รู้สึกว่าอยากรักษามันไว้จริง ๆ ไหม เรารู้สึกได้ถึงความรัก หวงแหน หรือคุณค่าจริง ๆ หรือเปล่า ไม่ใช่แค่ว่าอยากอนุรักษ์เพราะเสียดายเหมือนของที่ต้องมีเผื่อ ๆ ไว้ได้ใช้ไหมไม่รู้ ไม่ได้ภูมิใจอะไรมากแต่ถ้าได้หน้าก็ขอเครดิตนะทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ลงมือสนับสนุนอะไร แบบนั้นใช้ความรักที่อยากอนุรักษ์จริง ๆ อย่างนั้นหรือ?
ถ้าบอกว่าที่ไหน ๆ ก็อยากรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของตัวเองไว้ก็คงจะไม่ผิดนัก แต่ต้องมองให้ลึกลงไปอีกว่ารักษาเอาไว้นั้นรักษาแบบใด รักษาเอาไว้แบบไข่ในหิน หรืออนุรักษ์ไว้แบบป่าไม้ที่ให้งอกเงยขึ้นได้เอง หากการเริ่มต้นอนุรักษ์นั้นมีรากฐานแนวคิดที่ไม่เข้มแข็งและมีความยืดหยุ่นที่เหมาะสมกับความเป็นจริงพอ สิ่งที่ได้อาจจะเป็นหอคอยงาช้างพร้อมหิ้งบูชาอันใหม่ก็เท่านั้นเอง
ขอยกตัวอย่างในกรณีเดิมอย่างญี่ปุ่นที่น่าจะเห็นได้อย่างชัดเจนในเรื่องของการรักษาวัฒนธรรม เช่น การใส่กิโมโนซึ่งเป็นชุดโบราณของประเทศญี่ปุ่นที่ใส่กันตามวันสำคัญ ๆ ปัจจุบันมีลวดลายที่หลากหลายถูกออกแบบให้เข้ากับยุคสมัย มีการดัดแปลงหรือประยุกต์ต่อยอดจากกิโมโนเดิมให้มีลักษณะที่แตกต่างออกไปบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าจริง หรือแม้แต่ในอนิเมะ มังงะ ไปจนถึงเกมส์ แม้แต่เครื่องดนตรีอย่างซามิเซ็งหรือโกโตะเองที่เป็นเครื่องดนตรีของญี่ปุ่นก็ถูกนำมาเล่นในดนตรีสมัยใหม่ หลายคนอาจได้สัมผัสกับศิลปะวัฒนธรรมญี่ปุ่นหลากหลายอย่างที่ส่งผ่านมาโดยไม่รู้ตัวมากกว่าศิลปะวัฒนธรรมไทยในบางแง่มุมเสียอีก
สิ่งที่ญี่ปุ่นเป็นนั้นได้สะท้อนภาพของวัฒนธรรมร่วมสมัยที่มีความชัดเจนเข้มข้น อาจมีคนบอกว่าประเทศไทยก็ร่วมสมัยนะ ก็ต้องบอกว่าจริงในแง่ของภาคประชาชนที่เป็นกลุ่มไม่ได้ใหญ่นัก ศิลปะร่วมสมัยของไทยส่วนหนึ่งก็ไปอยู่ในรูปของดิจิทัลคอนเทนต์ นักวาด นักออกแบบต่าง ๆ ซึ่งคนไทยเก่ง ๆ มีเยอะแต่ก็ไปทำงานให้ต่างประเทศไม่น้อยเช่นเดียวกัน ความเปราะบางของศิลปะวัฒนธรรมไทยนั้นอาจจะอยู่ที่การเชื่อมต่อกับยุคสมัยอย่างอ่อนแรงก็เป็นได้
งานศิลปะร่วมสมัยใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมีมากมาย แต่งานศิลปะที่โดดเด่นน่าสนใจในมุมมองของคนร่วมสมัยมักถูกโจมตีจากกลุ่มหัวอนุรักษ์ที่กำลังจะหมดลมหายใจอยู่เนือง ๆ เช่น ภาพภิกษุสันดานกาที่สร้างความฮือฮาในการตีความและการท้าทายความคิด หรือการที่เก่ง ธชย ได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นอย่างล้นหลามหลังคว้า 14 เหรียญรางวัลในเวทระดับโลกจากการแสดงที่ผสมผสานความเป็นไทย แน่นอนว่าเก่งนั้นมีความสามารถเดิมอยู่แล้วแต่ทำไมความสามารถและแนวคิดเหล่านี้ถึงได้มาถูกยอมรับเอาในวงกว้างหลังชนะรางวัลทั้ง ๆ ที่ควรได้รับการส่งเสริมสำหรับคนที่ทำอะไรแบบนี้มาเนิ่นนานแล้ว ไม่ต่างจากกรณีการโหนลิซ่า BLACKPINK ซึ่งสะท้อนให้เห็นความฉาบฉวยของผู้ที่มีหน้าที่ส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมว่ามีแนวคิดและทัศนคติอย่างไร
‘ทำดีได้แต่อย่าเด่นจะเป็นภัย’ คำนี้เป็นสุภาษิตที่สะท้อนอะไรไทย ๆ ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะความริษยา ความต้องการในการครอบครองสิทธิ์บางอย่างของส่วนรวมในฐานะความสำเร็จส่วนบุคคล หรือความไร้สมรรถภาพที่ไม่สามารถจะสร้างความสำเร็จได้ก็ดี ศิลปะร่วมสมัยใหม่ ๆ จึงเป็นได้แค่เสมือนงานใต้ดิน งานล้อเลียน งานส่อเสียด ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วมันมีคุณค่ามากกว่านั้น มันคือร่องรอยแห่งช่วงเวลาและความคิดของผู้คนอย่างจริงแท้ อย่าได้ลืมว่าการสร้างงานสร้างศิลปะขึ้นมาสักชิ้นนั้นต้องการเวลาเพื่อบ่มเพาะทั้งทักษะและความคิด ในขณะที่บ่มเพาะเงินก็ต้องกินต้องใช้ แล้วศิลปิน นักศิลปะวัฒนธรรมต่าง ๆ จะเอาเงินจากไหนมาจุนเจือ ในเมื่อรัฐก็ส่องไฟไปเฉพาะจุด ในขณะที่มุมมืดนั้นก็คอยมีผู้หวงแหนด้วยปลายปากกับปลายนิ้วแป้นพิมพ์คอยเล็มตัดการเติบโตอยู่
สภาพสังคมตลอดจนการสนับสนุนของรัฐไทย ๆ ที่ส่งเสริมให้ศิลปะ วัฒนธรรม รวมถึงงานวิจัยหลาย ๆ อย่างขึ้นหิ้งฝุ่นจับ ต้องยอมรับก่อนว่างานวิจัยหรืองานศิลปะขึ้นหิ้งมันมีได้แต่ไม่ควรถูกจำกัดให้เกิดแต่งานเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยศิลปะบริสุทธิ์ หรืองานวิจัยวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ งานประยุกต์ต่าง ๆ งานร่วมสมัยต่าง ๆ ก็ควรได้รับโอกาสและแรงสนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าถึง มีส่วนร่วม และให้ศิลปะและวัฒนธรรมเหล่านั้นได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่พวกเขาจะรู้สึกรักและหวงแหนได้อย่างสุดหัวใจด้วยตัวเอง ไม่ใช่การยัดเยียดผ่านรัฐที่ไม่ได้มองที่อื่นนอกจากตัวเองและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเล็ก ๆ ที่ใช้ค่านิยมตัวเองเป็นตัวตั้ง
การอนุรักษ์ที่แท้จริง คือ การทำให้ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน
ภาครัฐในฐานะเจ้าภาพที่ต้องดูแลทั้งเศรษฐกิจวัฒนธรรมเคยได้สำรวจตลาดโลกบ้างไหมว่าศิลปะวัฒนธรรมประเทศอื่น ๆ เขาสร้างมูลค่ากันเท่าไหร่? ข้อมูลเก่าเมื่อปี 2015 ชี้ว่าอุตสาหกรรมศิลปะและวัฒนธรรมนั้นสร้างงานมากกว่า 29.5 ล้านงาน เม็ดเงินกว่า 2,250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉพาะเอเชียแปซิฟิกก็ 743 ล้านดอลาร์สหรัฐเข้าไปแล้ว ซึ่งงานในส่วนของศิลปะวัฒนธรรมสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจได้มหาศาลในความเป็นจริง แล้วประเทศไทยที่รุ่มรวยไปด้วยวัฒนธรรมจะเก็บเกี่ยวหรือมีส่วนแบ่งในเรื่องนี้ได้อย่างไร
ก่อนที่จะก้าวเข้าไปแย่งชิงพื้นที่ในตลาดดังกล่าว ศิลปะและวัฒนธรรมไทยได้รับการสนับสนุนให้เกิดความแข็งแรงมากพอหรือยัง? ค่านิยมและการสนับสนุนของรัฐที่มีลักษณะทางเข้าเปิดกว้างเหมือนประตูแต่ทางออกเท่ารูเข็มไม่ได้ทำให้วงการศิลปะวัฒนธรรมเติบโตได้แต่อย่างใด ซ้ำร้ายค่านิยมดังกล่าวที่ถูกผลิตออกมากลับส่งเสริมให้ผู้คนจำนวนหนึ่งมีความคับแคบไม่ต่างกัน การเสพศิลปะวัฒนธรรมที่รุ่นรวยและมีมากมายในประเทศจึงจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ ในขณะที่งานศิลปะที่รัฐหยิบยกมาอยู่ในสปอตไลท์เห็นได้ทุกคน ซึ่งศิลปะที่หยิบยกมานั้นหากมีใครที่พยายามเดินตามในบางมุมแต่มีความแตกต่างก็อาจถูกทุบตีด้วยคำวิจารณ์หรืออะไรอื่น ๆ ได้อีกเช่นกัน
ศิลปะและวัฒนธรรมไทยจึงต้องมีลักษณะ ‘ดีงาม’ ควรคู่กับการเทิดทูนบูชาบนหิ้งอยู่เสมอตามแนวทางของรัฐ ซึ่งในความเป็นจริงถ้าคุณไปดูรูปก๋งหรือบรรพบุรุษธรรมดา ๆ ของคุณบนหิ้งหรือบนกำแพงวัดคุณจะรู้สึกอะไรแค่ไหนในเมื่อการเชื่อมต่อหรือความสัมพันธ์ระหว่างสองสิ่งมันขาดหายไปแล้ว
เพื่อที่จะให้ศิลปะและวัฒนธรรมไทยที่มีมากมายได้เข้าไปมีส่วนในตลาดโลก ผู้คนที่มีแนวคิดการผูกขาดความเป็นศิลปะต้องเข้าใจให้ได้เสียก่อนว่า ‘ศิลปะที่ยังไม่ตายนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงเสมอ’ หรือต้องเลิกเอาศิลปะขึ้นหิ้งเสียก่อน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อทำลายรากหรือขนบเดิมแต่แท้จริงแล้วจะเป็นการช่วยเสริมความแข็งแรงกับรากเก่าเสียมากกว่า เพราะเมื่อผู้คนอยากรู้จักสิ่งใดจริง ๆ การศึกษารากหรือแก่นย่อมเป็นกระบวนการที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และเมื่อเกิดขึ้นแล้วองค์ความรู้ ทักษะ หรือแนวคิดก็จะถูกส่งต่อ ๆ กันออกไปต่อลมหายใจให้ศิลปะวัฒนธรรมเหล่านั้น ทั้งในแง่ของรากเดิมและการเติบโตที่จะตามมาในอนาคต
ลองมองกลับไปดูศิลปะวัฒนธรรมต่าง ๆ ในวันนี้ว่าสิ่งที่อยากรักษาหรืออนุรักษ์ไว้หนักหนาทำไมถึงอยู่ไม่รอด เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่อาจตอบสนองต่อความคาดหวังของสังคมได้อีกต่อไป และเพราะสิ่งเหล่านั้นขาดผู้สืบทอด คุณเคยรู้ไหมครับว่าการผลิตบาตรพระสักใบมันมีอะไรต้องทำบ้าง ขั้นตอนอะไรบ้าง ชุมชนบ้านบาตรที่ถือว่าเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตบาตรที่ดีที่สุดเขามีคนที่ยังทำตรงนี้เหลือเท่าไหร่ และรายได้จริง ๆ แล้วพอกับการใช้ชีวิตในทุกวันไหม สิ่งที่อยากจะชี้ให้เห็นนอกจากการสนับสนุนและให้การยอมรับสนับสนุนศิลปะที่กว้างมากขึ้นแล้ว ผู้คนที่เป็นฟันเฟืองเหล่านี้จะต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ถ้าไม่ใช่จากการขายตัวชิ้นงานศิลปะแล้วการยกให้เป็นพื้นที่วัฒนธรรมที่สำคัญและการสร้างการรับรู้ในวงกว้างเพื่อให้คนแวะเวียนเข้ามาในพื้นที่ สนับสนุนเศรษฐกิจในมิติต่าง ๆ ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพื่อให้ทั้งตัวศิลปะวัฒนธรรมเองและผู้ที่คอยค้ำจุนสิ่งเหล่านี้ไว้สามารถเดินไปข้างหน้า สืบสานองค์ความรู้ ทักษะ และเรื่องราวต่อไป เพื่อให้สามารถส่งต่อลมหายใจ ความสัมพันธ์ และความเชื่อมต่อของศิลปะวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น จากอ้อมอกสู่ครรภ์ การผูกขาดและยกย่องเชิดชูที่เหมือนสปอร์ตไลท์ซึ่งส่องสว่างเพียงสิ่งเดียวและลดตัวตนสิ่งอื่นนั้นจำเป็นต้องหายไป การสร้างค่านิยมที่ไม่อาจแตะต้องหรือมีส่วนร่วมได้จะทำให้ผู้คนหลีกหนีเพราะไม่ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับสิ่งเหล่านั้น การเปิดโอกาสให้ศิลปะวัฒนธรรมทั้งหลายได้เติบโต ผู้คนที่เป็นฟันเฟืองเหล่านั้นได้มีโอกาสส่งเสียง บอกเล่าเรื่องราวที่หล่อหลอมมาช้านานแก่ผู้คนอย่างทั่วถึง การเชื่อมรอยต่อที่เคยขาดหายไปจะกลับคืนมา ไม่ว่างานฝีมือ ประเพณี ดนตรี อาหาร
ในรูปแบบสังคมสมัยใหม่อย่างยุคดิจิทัล เรื่องราวเหล่านี้กลายเป็นมูลค่าได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างฐานกลุ่มแฟนคลับหรือการระดมทุนต่าง ๆ ศิลปินจำนวนหนึ่งใช้ Patreon, OnlyFans, Etsy, Vimeo ฯลฯ ในการหาเงินได้เสมอ ๆ แม้กระทั่งรายการออนไลน์ยังสามารถขอสนับสนุนค่าใช้จ่ายรายเดือนจากผู้ติดตามได้ ขอแค่เพียงผู้คนเหล่านี้เห็นคุณค่า เกิดความรู้สึกเชื่อมต่อถึงกัน การต่อลมหายใจของศิลปะวัฒนธรรมก็เกิดขึ้นได้ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่ายหากผู้คนยังคงหวงแหนศิลปะวัฒนธรรมเหล่านั้นตามเจตคติของตน และสงวนไว้ให้ความเชื่อตัวเองเท่านั้น
ภายใต้ปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสม เมื่อสังคมมีโอกาสได้รับรู้ เข้าถึง ได้มีโอกาสสัมผัสและใช้เวลากับสิ่งเหล่านี้ ความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าของ ความหวงแหน และการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นมาได้จริง สุดท้ายขอทิ้งท้ายไว้กับวงดนตรีจากไทย The Paradise Bangkok Molam International Band วงดนตรีผสมผสานวัฒนธรรมดนตรีจากอีสานที่โด่งดังไปไกลถึงต่างประเทศไว้ให้ลองฟังลองใคร่ครวญกันดูว่าทำไมวงดนตรีนี้ถึงสามารถไปได้ไกลถึงต่างประเทศกัน
นายทศธิป สูนย์สาทร
ผู้หลงใหลในเสียงดนตรี ความงาม และเทคโนโลยี
--------------------
Ref:
- https://thelanguagedoctors.org/why-it-is-important-to-preserve-culture/
- https://www.daytranslations.com/blog/cultural-preservation/
- https://www.researchgate.net/publication/286623189_THINK_OF_CULTURE_CARE_FOR_ART_PRESERVATION_OF_CONTEMPORARY_HERITAGE_IN_MODERN_SOCIETY
- https://www.tate.org.uk/research/reshaping-the-collectible/research-approach-conservation
- https://asiasociety.org/northern-california/preserving-southeast-asian-identity-through-contemporary-art
- https://www.iesa.edu/paris/news-events/contemporary-art-importance
- https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_11494
- https://www.ntj.jac.go.jp/english/outline/whats_kabuki.html
- https://books.google.co.th/books?hl=en&lr=&id=BGawmU8HeVAC&oi=fnd&pg=PA343&dq=Kabuki:+Changes+and+Prospects:+An+International+Symposium&ots=rU9bJOkEbr&sig=1MzktbOhLN6ny8go1FT0dYMHMIE&redir_esc=y#v=onepage&q=Kabuki%3A%20Changes%20and%20Prospects%3A%20An%20International%20Symposium&f=false
- https://www.bkkmenu.com/eat/stories/thai-foods.html
- https://www.naewna.com/entertain/226152
- https://www.culturepartnership.eu/en/article/why-art-and-culture-contribute-more-to-an-economy-than-growth-and-jobs
- https://en.unesco.org/creativity/sites/creativity/files/cultural_times._the_first_global_map_of_cultural_and_creative_industries.pdf