Did you know – วิธีป้องกันเงินในบัญชีไม่ให้ถูกดูด
นับเป็นประเด็นร้อนในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา หลังมีผู้เสียหายหลายหมื่นคนถูกดูดเงินในบัญชีธนาคาร รวมมูลค่ากว่าร้อยล้านบาท เป็นข้อถกเถียงในวงกว้างทั้งยังไม่มีข้อสรุปหรือแถลงการณ์ใดเพิ่มความกระจ่าง มากไปกว่าการจะคืนเงินให้แก่เหล่าผู้เสียหายเท่านั้น
เมื่อเราไม่สามารถรู้ได้ว่ากลวิธีในการช่วงชิงเงินไปจากบัญชีเราเกิดจากสาเหตุใด ทำได้แค่นำหลักฐานข้อมูลของบรรดาผู้เสียหายมาประกอบกันแล้วคาดเดาไปต่างๆ นาๆ ได้แต่หวาดหวั่นว่าจะถึงคราวของตัวเองเมื่อใด เมื่อเราไม่รู้สาเหตุและแหล่งข้อมูลที่รั่วไป โอกาสในการอุดหรือปิดช่องว่างเหล่านั้นจึงยากจะทำได้
ในวันนี้จึงขอมาพูดถึงวิธีป้องกันเงินในบัญชีไม่ให้ถูกดูดออกไป แม้ไม่สามารถยืนยันได้เต็มร้อยเพราะเราไม่รู้ว่าข้อมูลที่รั่วมาจากไหน แต่อย่างน้อยขั้นตอนเหล่านี้น่าจะช่วยปกป้องเงินของเราให้ปลอดภัยมากขึ้นไม่มากก็น้อย
หนึ่งในช่องทางการรั่วไหลสำคัญคือช่องทางบัตรเดบิต ซึ่งบัตรเอทีเอ็มของบางธนาคารจะมีความสามารถเป็นบัตรเดบิตได้ด้วย นี่จึงเป็นอันตรายสำหรับผู้ไม่ทันสังเกตหรือเอะใจมองว่าเป็นเพียงบัตรมีไว้กดเงินสด เพราะความจริงมันสามารถสั่งจ่ายตัดบัญชีเราได้ทันควัน
ทางที่ดีที่สุดคือหลีกเลี่ยงการใช้บัตรประเภทนี้ เพราะบางธนาคารขนาดเรานำบัตรไปรูดใช้จ่ายตัดเงินจากบัญชี เรายังไม่จำเป็นต้องกดรหัสบัตรเพื่อยืนยันตัวตน แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็พยายามอย่านำไปผูกกับช่องทางซื้อสินค้าหรือแอพพลิเคชั่นใด ป้องกันไม่ให้มีการตัดบัญชีโดยเราไม่รู้ตัวได้ไม่มากก็น้อย
ในกรณีจำเป็นต้องผูกบัตรไว้จริงๆ การใช้บัตรเครดิตอาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า อย่างน้อยเราก็ได้เห็นยอดจากธนาคารและสามารถนำไปโต้แย้งถกเถียงเพราะไม่ได้ตัดบัญชีโดยตรง เปิดโอกาสให้เราตรวจสอบยอดใช้จ่ายนั้นอีกครั้งก่อนชำระเงิน
2. จำกัดวงเงินทั้งบัตรเครเดิตและเดบิตรวมถึงตั้งการแจ้งเตือน
ถือเป็นทางเลือกช่วยแก้ปัญหาได้อย่างดีเพราะบัตรบางใบมีระบบจำกัดวงเงิน เมื่อมีการใช้งานยอดเกินกำหนดจะตัดการใช้จ่ายหรือส่งข้อความมาถามรหัส OTP เพื่อยืนยันขั้นตอนการทำธุรกรรมต่อไป ช่วยให้เราสามารถรู้ตัวเวลามีเงินไหลออกจากบัญชี ยับยั้งความเสียหายลงไปได้มาก
ถ้าจะให้ดีสมัครการแจ้งเตือนเวลามีการตัดยอดจากบัตรเดบิต เครดิต หรือบัญชีธนาคารเราจากทุกช่องทางได้จะดีมาก เพราะนั่นจะทำให้เรารู้ความเคลื่อนไหวของเงินตลอดเวลา ในกรณีมีปัญหาสามารถยับยั้ง แก้ไข และระงับการใช้งานได้ทันท่วงที
3. ระมัดระวังการผูกบัตรและบัญชีของเราไว้กับเว็บหรือแอพ
นี่คือขั้นตอนที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก ในการผูกบัตรหรือบัญชีธนาคารของเราเข้ากับแอปพลิเคชั่นใด เพราะนั่นหมายถึงการที่แอปพลิเคชั่นดังกล่าวสามารถเข้าถึงข้อมูลทางการเงิน รหัสบัตร รวมถึงเลขหลังบัตร ทำให้สามารถสั่งจ่ายออกจากบัญชีนั้นได้ทันที โดยเฉพาะกรณีข้อมูลหลุดจากแอปพลิเคชั่นเหล่านั้นไป
ทางแก้คือก่อนตกลงใช้งานแอปพลิเคชั่นใดต้องอ่านเงื่อนไขการใช้งานและเข้าถึงข้อมูลให้ดี อย่าสักแต่กดไปโดยไม่อ่านอาจทำให้เป็นปัญหาภายหลัง ที่สำคัญหลีกเลี่ยงการนำบัตรของเราไปใช้ผูกกับแอปพลิเคชั่นโดยตรง พยายามใช้ช่องทางอื่นในการจับจ่ายใช้สอย อย่างการจ่ายเงินปลายทางหรือการโอนผ่านบัญชีธนาคารจะดีกว่า
4. เปิดบัญชีเฉพาะสำหรับใช้จ่ายซื้อของออนไลน์
น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับธุรกรรมออนไลน์ นั่นคือการเปิดบัญชีเฉพาะแยกต่างหากขึ้นมาหนึ่งบัญชี ไว้ใช้สำหรับการซื้อของใช้จ่ายผ่านบริการออนไลน์โดยเฉพาะ เมื่อใดที่ต้องการใช้งานเราก็นำเงินโอนเข้าไปในบัญชีและสั่งจ่ายไม่ว่าผ่านบัตรเดบิตหรืออินเตอร์เน็ตแบงค์กิ้ง ตัวเลือกนี้จะช่วยควบคุมความเสียหายในกรณีข้อมูลรั่วไหลลงได้มาก ต่อให้เราถูกดูดเงินก็เป็นในจำนวนจำกัด ไม่เดือดร้อนหรือส่งผลกระทบต่อเรามากนัก
โดยวิธีนี้สามารถทำได้โดยเปิดบัญชีธนาคารแยกต่างหากกับธนาคารที่เราใช้งาน หรือใช้บริการวอทเล็ทรูปแบบต่างๆ เช่น True wallet หรือ เป๋าตัง จะช่วยให้เราควบคุมยอดเงินการใช้จ่าย แม้ทำให้เกิดความยุ่งยาก มีขั้นตอนมากขึ้นแต่ก็ทำให้มีเวลาไตร่ตรองระมัดระวังมากขึ้นเช่นกัน
5. หมั่นตรวจสอบบัญชีธนาคารของตัวเอง
ในกรณีที่ทั้งหมดนี้ยังไม่ได้ผล เพราะมีผู้เสียหายบางคนบอกว่าพวกเขาไม่เคยผูกบัตรชำระธุรกรรมออนไลน์ แต่ยังถูกตัดเงินจากบัญชีเช่นกัน วิธีสุดท้ายเพื่อเฝ้าระวังจึงเป็นการหมั่นตรวจสอบยอดเงินในบัญชีของตัวเอง เมื่อเห็นยอดแปลกๆ หรือมีการเคลื่อนไหวผิดปกติให้รีบตรวจสอบแก้ไขโดยเร็วที่สุด
อย่าทำให้ประชาชนรู้สึกว่าการเก็บเงินสดไว้ในบ้าน ปลอดภัยกว่าการนำไปฝากสถาบันทางการเงินเลย
เกรียงไกร เรืองทรัพย์เดช
--------------------
ที่มา: