posttoday

Did you know ? – ตราประจำพระมหากษัตริย์มีมานานแค่ไหน?

25 ตุลาคม 2564

ตราประจำพระมหากษัตริย์ หรือเรียกว่า พระราชลัญจกร คือตราประทับสำหรับพระมหากษัตริย์ ใช้ประทับลงบนเอกสารสำคัญอันแสดงถึงพระราชอำนาจปกครองบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งเป็นสัญลักษณ์ที่ทรงเป็นตัวแทนประมุขของประเทศ

แต่เคยสงสัยบ้างไหมว่าต้นแบบของพระราชลัญจกรหรือตราประจำพระมหากษัตริย์ที่ว่านี่มีต้นกำเนิดมาจากไหน?


หลายคนอาจเข้าใจว่าจุดกำเนิดของการใช้ตราประทับคือ ตราหยกของจักรพรรดิจีน ที่เริ่มมีการบันทึกการใช้งานครั้งแรก 544 ปีก่อนคริตกาล โดยตราประทับที่สำคัญที่สุดคือ ตราประทับหยกของจักรพรรดิจีน ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยของจิ๋นซีฮ่องเต้ผู้รวมจีนให้กลายเป็นปึกแผ่น


ตราประทับดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์แทนอำนาจ กฎหมาย ความชอบธรรม และอาณัติสวรรค์ในความเชื่อจีน ตกทอดจารุ่นสู่รุ่นข้ามผ่านมาหลายราชวงศ์ แต่ตราประทับชุดแรกหายสาบสูญไปเป็นจำนวนมากในช่วงต้นราชวงศ์หมิง ก่อนเริ่มฟื้นฟูเพิ่มจำนวนขึ้นมาในราวงศ์ชิง โดยในรัชสมัยเฉียนหลงฮ่องเต้ มีตราประทับที่ใช้งานอยู่ 25 แบบ


แต่แท้จริงดินแดนแห่งแรกที่ริเริ่มการใช้ตราประทับขึ้นมาบนโลกนี้คืออารยธรรมเมโสโปเตเมีย โดยบางแห่งอ้างอิงย้อนไปถึง 3,500 ปีก่อนคริสตกาลนับตั้งแต่ยุคสมัยของอุรุค โดยอาศัยการแกะสลักแท่นหินต่างๆ ให้เป็นรูป และประทับลงไปบนแผ่นดินเหนียวเพื่อใช้ในการค้าขาย หรือเป็นสัญลักษณ์แทนกษัตริย์ในยุคนั้นด้วย


ส่วนการใช้ตราประทับนี้ในไทยเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัย เป็นตราพระครุฑพ่าห์พาหนะแห่งพระนารายณ์ที่ได้รับอิทธิพลต่อยอดมาจากฝั่งขอม ในสมัยอยุธยาพระมหากษัตริย์ในยุคนั้นจึงเปลี่ยนมาใช้พระราชลัญจกรนารายณ์ทรงสุบรรณ เพื่อแสดงถึงความเหนือกว่าเชิงสัญลักษณ์ต่อทั้งขอมและสุโขทัย

พระราชลัญจกรเริ่มถูกปรับเปลี่ยนไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเริ่มกำหนดลวดลายและตราประทับแบบใหม่ ก่อนเปลี่ยนมาเป็นตราครุฑพ่าห์ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 มีการปรับปรุงโดยการใส่พระปรมาภิไธยในรัชกาลที่ 6 นับแต่นั้นก็เป็นตราประทับที่สืบต่อกันมาไว้ใช้ประทับในเอกสารสำคัญ


ส่วนตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ถูกลดบทบาทให้ใช้ในการประทับกำกับพระราชปรมาภิไธยในต้นเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ที่ไม่เกี่ยวกับรัชกาลแผ่นดินแทน เช่น ใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในประกาศนียบัตรเหรียญรัตนาภรณ์ของพระองค์ หรือใช้ในการปักเป็นเครื่องหมายประจำกองเสือป่าอย่างพระราชลัญจกรของรัชกาลที่ 6 เป็นต้น