ชางชิ กับวันที่วัฒนธรรมเอเชียกลายเป็นกระแสนิยมบนแผ่นฟิล์ม(1)
ภาพยนตร์ Shang-chi and the legend of ten rings จุดกระแสให้วัฒนธรรมเอเชียดังไกลไปทั่วโลกจากความสำเร็จทั้งในด้านรายได้และคำวิจารณ์ ที่มาพร้อมการตีแผ่ประเด็นทางสังคมทั้งด้านดีและร้ายในวัฒนธรรมจีน ที่แม้จะเรียบง่ายแต่ตีความออกมาได้งดงาม
*มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์ Shang-chi and the legend of ten rings
Highlights
- ภาพยนตร์ Shang-chi and the legend of ten rings กลายเป็นกระแสโด่งดัง จากการนำเนื้อหาของตัวละครชางชิ ซุปเปอร์ฮีโร่เชื้อสายเอเชียมาถ่ายทอดมุมมองความเป็นเอเชีย คล้ายกับที่เคยทำใน Black panther
- แนวคิดสมัยเก่าของจีนมีพื้นฐานมาจากลัทธิขงจื้อ เห็นได้ชัดจากการกระทำและปฏิบัติตัวต่อลูกๆ ของเหวินหวู่ ตัวร้ายของเรื่องรวมถึงพ่อของตัวเอกและน้องสาว
- ลัทธิขงจื้อเป็นต้นทางของแนวคิดความไม่เท่าเทียมทางชายหญิงในจีน ก่อเกิดเป็นความรักลูกไม่เท่ากันที่เราเห็นได้ชัดจากทั้งสิ่งที่ชางชิและเซี่ยหลินได้รับล้วนแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
- ส่วนเคที่เพื่อนสนิทของชางชิในสหรัฐฯ เป็นภาพแทนของครอบครัวจีนอพยพหรือชาวจีนพลัดถิ่น วิถีชีวิตที่คนในประเทศไทยจำนวนมากคุ้นเคยกันดี
- แต่ขณะเดียวกันภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ถ่ายทอดอีกด้านของวัฒนธรรมกราไหว้บรรพบุรุษ ที่นอกจากความเชื่องมงายยังขยายความคำว่าครอบครัวให้กว้างขวางและอบอุ่นไม่แพ้กัน
--------------------
กระแสภาพยนตร์ในประเทศไทยในตอนนี้คาดว่าคงไม่มีเรื่องใดร้อนแรงไปกว่า Shang-chi and the legend of ten rings ภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่เชื้อสายเอเชียที่เป็นกระแสร้อนแรงในขณะนี้ จากการถ่ายทอดเรื่องราวของชายหนุ่มเชื้อสายเอเชียที่ไปเติบโตในสหรัฐฯ และต้องกลับมาบ้านเกิดจากการตามตัวของพ่อเพื่อทำภารกิจบางอย่าง
นับเป็นการต่อยอดความสำเร็จต่อจาก Black panther(2018) คงไม่ผิด เมื่อความสำเร็จจากภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวกวาดทั้งรายได้และคำวิจารณ์ จากการนำประเพณีวัฒนธรรมของคนแอฟริกามาถ่ายทอดบนแผ่นฟิล์มผ่านมุมมองอาณาจักรวาคานด้า กวาดรายได้กว่า 1,300 ล้านเหรียญ นับว่าประสบความสำเร็จสร้างรายได้สูงสุดในบรรดาหนังเดี่ยวซูเปอร์ฮีโร่
กระแสความนิยมวัฒนธรรมเอเชียเป็นที่พูดถึงนับแต่การออกฉายของ Crazy Rich Asian(2018) ภาพยนตร์โรแมนติกคอมเมดี้ ถ่ายทอดเรื่องราวของผู้หญิงเอเชีย-อเมริกันที่ต้องมาแต่งงานกับทายาทมหาเศรษฐีในสิงค์โปร์ แม้เนื้อเรื่องจะเรียบง่ายแต่กวาดรายได้ไปกว่า 238 ล้านเหรียญจากทุนสร้างเพียง 30 ล้าน พร้อมคะแนนเชิงบวก 90% บนเว็บไซต์ Rotten Tomato เป็นข้อพิสูจน์ถึงวัฒนธรรมเอเชียในตลาดยุโรป เป็นแรงผลักดันสำคัญทำให้ชางชิได้รับอนุมัติการสร้างให้เราได้รับชม
ทางทีมงานสร้างภาพยนตร์ชางชิเองก็เข้าใจขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมเอเชียเป็นอย่างดี นอกจากหยิบดาราเชื้อสายเอเชียมาเล่นเกือบทั้งเรื่องแล้ว ยังนำเอาซุปเปอร์สตาร์แห่งฮ่องกงอย่าง โทนี่ เหลียง หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ เหลียงเฉาเว่ย มารับบทเป็นพ่อพระเอกและตัวร้ายของเรื่อง รวมถึง มิเชล โหยว ดาราฮ่องกงที่เราคุ้นหน้าดีในฮอลลีวู้ด รวมทั้งทีมงานชาวเอเชียมากมายบนแผ่นฟิล์ม
ดังนั้นจะบอกว่านี่เป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของชาวเอเชียในหน้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดคงไม่ผิด
แนวคิดเกี่ยวกับครอบครัวและหลักปรัชญาขงจื้อภายในเรื่อง
สิ่งหนึ่งที่ภาพยนตร์ถ่ายทอดออกมาชัดเจนคือการถ่ายทอดเรื่องราวภายในครอบครัว พูดให้ถูกคือหนังนี่เป็นหนังครอบครัวมากกว่าซูเปอร์ฮีโร่เสียอีก เพราะการต่อสู้กู้โลกทั้งหลายล้วนเป็นเรื่องรอง ประเด็นสำคัญของภาพยนตร์อยู่ที่ความไม่เข้าใจและขัดแย้งภายในครอบครัว บานปลายกลายเป็นการต่อสู้ใหญ่โตที่บังเอิญมีโลกเป็นเดิมพันด้วยเท่านั้นเอง
ตัวร้ายของเรื่องนำแสดงโดยเหลียงเฉาเว่ยพ่อของตัวเอก บอกเล่าเรื่องราวของตัวเองว่าแท้จริงชื่อเขาคือ เหวินหวู่ อดีตจอมทัพผู้เกรียงไกรผู้ครอบครอง เท็นริงส์ แหวน(กำไล)ทรงอานุภาพที่ทำให้เขาทรงพลังและมีชีวิตอมตะ แต่ในการเลี้ยงดูลูกเขากลับเป็นพ่อยอดแย่ที่ยึดติดขนบความคิดของขงจื้อโดยสมบูรณ์
ลัทธิขงจื้อคือสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมจีนมาหลายพันปี ตกทอดมรดกทางความคิดรวมถึงการใช้ชีวิต หลักคิดของขงจื้อเป็นนักปรัชญาที่ตีความจารีต ประเพณี วัฒนธรรมดั้งเดิมออกมาเป็นคำสอน ตกทอดหลักการจริยธรรมและคุณธรรมของจีนให้แก่ชนรุ่นหลัง เป็นกรอบแนวทางปฏิบัติที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมาจนปัจจุบัน
อีกส่วนที่โดดเด่นนอกจากด้านความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ และมนุษยธรรม อีกส่วนที่อยู่คู่ชาวจีนมายาวนานคือธรรมเนียมปฏิบัติภายในครอบครัว จากแนวคิดในฉบับคนยุคเก่าทำให้คุณค่าของผู้หญิงไม่ถูกให้ความสำคัญนัก มักนำไปผูกติดกับหน้าที่ความเป็นลูกสาว ภรรยา หรือแม่ เชิดชูด้านอ่อนโยนต้องพึ่งพิงผู้ชาย จึงไม่ชี้นำให้พวกเธอมีบทบาทอื่นในสังคม
การรักลูกไม่เท่ากันที่ถือกำเนิดมาจากธรรมเนียมปฏิบัติเก่าแก่
อาจเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ด้วยเหวินหวู่มีชีวิตยาวนานนับพันปี ทำให้แนวคิดของเขาตรงกับขนบขงจื้อดั้งเดิมที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญแก่ผู้หญิงนัก ยิ่งหลังการจากไปของภรรยาทำให้ไม่มีคนคอยบอกเขาว่าต้องเลี้ยงดูลูกน้อยเช่นไร ต้องให้ความรักและเอาใจใส่แบบไหน ทั้งยังสลัดภาพการตายของภรรยาไม่พ้น เป็นเหตุให้เขาหยิบเอาธรรมเนียมปฏิบัติเก่าแก่มาใช้แทน
จะบอกว่านี่เป็นหนังภาพสะท้อนแนวคิดชาวจีนยุคเก่าจากการแสดงออกของเหวินหวู่คงไม่ผิด ตามหลักคิดของขงจื้อผู้สืบทอดชื่อเสียงของตระกูลต้องเป็นลูกชาย เป็นเหตุให้เขาฝึกฝน เคี่ยวเข็ญ สอนสั่งสิ่งต่างๆ มามากมายแก่ชางชิ ทั้งในส่วนวิชาต่อสู้หรือความรู้ความเข้าใจที่มีต่อโลก ทั้งหมดเพื่อผลักดันให้ชางชิเป็นสุดยอดนักฆ่าพร้อมสืบทอดเท็นริงส์ต่อไป
ตรงข้ามกับลูกสาวอย่าง เซี่ยหลิง น้องสาวของชางชิ หลังแม่จากไปเธอแทบไม่ได้รับการดูแลหรือสนใจ ถูกปล่อยให้มีชีวิตแต่ไม่ได้รับการเลี้ยงดู มีเพียงพี่ชายคอยแวะมาพูดคุยให้กำลังใจแต่ไม่ได้รับการสั่งสอนวิชาความรู้ใดๆ จนสุดท้ายเธอต้องเป็นฝ่ายลุกขึ้นมาขัดเกลาเรียนรู้วิชาต่อสู้ด้วยตัวเอง ด้วยความอยากพิสูจน์ความสามารถให้พ่อและพี่ชายได้เห็นบ้าง
ผลลัพธ์การเคี่ยวเข็ญเหล่านั้นทำให้สองเด็กน้อยเมื่อออกสู่โลกกว้าง ชางชิที่ใช้นามแฝงว่า ชอน กลายเป็นพนักงานต้อนรับทั่วไปในสหรัฐฯ ไม่มีความทะเยอทะยานหรืออยากไขว่คว้าอะไรในชีวิต ตรงข้ามกับเซี่ยหลินที่กลายเป็นราชินีสังเวียนใต้ดิน ควบคุมโลกเบื้องหลังและเม็ดเงินมหาศาลไว้ในกำมือ เพื่อแสดงให้พ่อเห็นว่าเธอมีศักยภาพมากกว่าพี่ชายเพียงไร
น่าเสียดายที่ความสำเร็จเหล่านั้นไม่ทำให้ผู้เป็นพ่อหันมาสนใจเธอด้วยซ้ำ เมื่อช่วงเวลาที่พบหน้าหรือพูดคุยกันบนโต๊ะอาหาร ลูกรักในสายตาพ่อยังคงเป็นชางชิที่เลือกผละจากบ้านหลังภารกิจแรก แต่ไม่มีผลงานเป็นชิ้นอันเท่าเธอที่สร้างสังเวียนใต้ดินใจกลางมาเก๊าได้อยู่ดี ฟังดูน่าเศร้าแต่กลับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในหลายครอบครัวที่สืบทอดวัฒนธรรมมาจากจีน
โชคดีที่สุดท้ายกิจการหรือองค์กรเท็นริงส์ เซี่ยหลินเป็นผู้ได้รับการสืบทอดดูแลต่อจากพ่อ ในทางหนึ่งอาจถือเป็นการประกาศชัยชนะของเธอต่อทั้งพ่อและพี่ชาย ว่าองค์กรอันยิ่งใหญ่ของตระกูลสุดท้ายก็ตกมาอยู่ในกำมือของลูกสาวอย่างเธอในที่สุด
แม้ตรงนี้จะเกิดจากความไม่สนใจสืบทอดกิจการของตระกูลของชางชิ แต่รักจะไปร้องคาราโอเกะมากกว่าก็ตาม
ครอบครัวของเคที่ เพื่อนสนิทผู้เป็นตัวแทนของชาวจีนโพ้นทะเล
นอกจากครอบครัวชางชิที่ถือเป็นแกนกลางของเรื่องแล้ว ผู้ที่มีบทบาทและสีสันในเรื่องไม่แพ้กันคือเคที่ เพื่อนสนิทผู้คบหากับชางชิหรือชอนมานับสิบปี สนิทกันเสียจนทำให้ตัวเอกไปมาหาสู่จนเกือบเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน นั่นทำให้เราได้เห็นมุมมองของคนในบ้านหลังนี้ด้วย
ครอบครัวของเคที่ชัดเจนว่าเป็นครอบครัวชาวจีนอพยพจากต่างแดนหรือชาวจีนโพ้นทะเล เช่นเดียวกับคนในครอบครัวที่มีธรรมเนียมปฏิบัติแบบจีนดั้งเดิมไม่เสื่อมคลาย เป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนของชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลที่พบเห็นได้ทั่วไปแม้แต่ในประเทศไทย
ครอบครัวเคที่สืบทอดธรรมเนียมปฏิบัติจีนมาอย่างเข้มข้น ตั้งแต่การตั้งโต๊ะของอากงไว้ทั้งที่เสียชีวิตไปแล้ว รวมถึงอาม่าที่ไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ การถามถึงและแสดงความไม่เห็นด้วยกับหน้าที่การงานของเคที่ในปัจจุบัน เพราะไม่เห็นคุณค่าหรือให้เกรียติอาชีพพนักงานต้อนรับในโรงแรมที่เธอทำอยู่มากนัก
ประเด็นสำคัญอีกอย่างคือการที่เคที่ถูกถามเรื่องการแต่งงาน อาจถือเป็นเรื่องแปลกในยุคสมัยนี้ที่ผู้คนเริ่มครองตัวเป็นโสดมากขึ้นหลังแนวคิดเสรีและปัจเจกนิยมเบ่งบาน แต่ในสายตาคนรุ่นเก่าการแต่งงานเพื่อสืบตระกูลคือเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะนั่นหมายถึงการทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ในชีวิต จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เคที่หรือลูกหลานชาวจีนจะถูกเน้นย้ำเรื่องนี้อยู่ประจำ
อีกส่วนที่พบเห็นได้เช่นกันคือแนวคิดการสืบทอดตระกูลของลูกชาย เพราะเธอก็มีน้องชายที่ถูกวางตัวให้เป็นผู้สืบทอดกิจการร้านค้าของตระกูลอีกคน แต่จากปากคำคาดว่าเขาคงไม่ได้ชื่นชอบหรือชำนาญงานสายนี้แต่กลับได้รับสืบทอดร้าน ในขณะที่ลูกสาวอย่างเคที่แม้จบปริญญาเกรียตินิยมแต่กลับไม่ถูกบังคับให้เข้ามายุ่งเกี่ยว ในทางหนึ่งก็คล้ายคลึงกรณีของชางชิและเซี่ยหลินเช่นกัน โชคดีที่ครอบครัวของเธอยังรักใคร่กลมเกลียว แถมเคที่เองก็มีความสุขกับชีวิตแบบนี้มากกว่าด้วย
บ้านเกิดแม่ ดินแดนแห่งบรรพบุรุษ และความหมายคำว่าครอบครัว
ในช่วงกลางเรื่องหลังได้รับทราบแผนการของผู้เป็นพ่อ ชางชิและเซี่ยหลินต่างไม่เห็นด้วยจนถูกจับขัง ก่อนพวกเขาจะตัดสินใจหลบหนีเพื่อไปเตือนบ้านเกิดแม่อย่าง เถาโหลว ถึงเหตุร้ายที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่สิ่งที่พวกเขาไม่คาดฝันคือท่าทีของคนที่นั่น กับตัวละครที่รับบทโดย มิเชล โหย่ว ผู้รับบทเป็นป้าของสองพี่น้องผู้ต้อนรับทั้งคู่อย่างอบอุ่น
“ยินดีต้อนรับหลานๆ ของป้ากลับบ้าน” คำเรียบง่ายแต่เป็นสิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตของสองพี่น้องร่วม 17 ปี การต้อนรับอย่างอบอุ่นจากครอบครัว ไม่แปลกเลยที่ทั้งคู่จะรู้สึกยินดีและตื้นตัน ทั้งที่พวกเขาไม่เคยมีโอกาสพบหน้าญาติผู้ใหญ่คนนี้เลย แต่พวกเขายังถูกนับเป็นครอบครัวจนได้มีโอกาสได้กราบไหว้สุสานของแม่กันที่นี่
หลังจากทักทายจบลง สองพี่น้องจึงมีโอกาสเรียนรู้ทำความเข้าใจบ้านเกิดแม่ ได้รู้จักธรรมเนียมวัฒนธรรมของดินแดนนี้ ทำให้พวกเขาได้รู้ว่าวัฒนธรรมของบ้านเกิดไม่ได้มีแต่ด้านเลวร้ายจากพ่อ การได้สืบทอด ระลึกถึง และเป็นส่วนหนึ่งของตระกูล ได้ร่วมจัดพิธีรำลึกแก่คนที่จากไป ทำให้พวกเขาได้รู้ว่าพวกตนยังมีบ้านให้กลับมา
สิ่งนี้คือการแสดงอีกด้านของวัฒนธรรมจีนให้ได้เห็นว่าไม่ได้มีแค่ด้านเลวร้าย ที่เหวินหวู่เป็นแบบนั้นเพราะเขาอยู่ตัวคนเดียวมานับพันปี แต่เมื่อมาถึงเถาโหลวได้เรียนรู้ธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิม พวกเขาจึงเข้าใจคุณค่าและความหมายในการระลึกถึงบรรพบุรุษ ถือเป็นการแสดงอีกด้านของความเชื่อจากวัฒนธรรมตะวันออกให้ทั่วโลกได้ประจักษ์
นอกจากการต้อนรับแล้วป้าของพวกเขายังส่งเสริมทั้งคู่โดยไม่แบ่งแยก เริ่มจากมอบอาวุธที่เข้ามือ คอยให้คำแนะนำเซี่ยหลินในทุกด้าน เช่นเดียวกับชางชิที่ได้รับทั้งคำสอน แง่คิด และวิชาต่อสู้ที่แม่เขาเคยใช้ เพื่อหาทางหยุดยั้งพ่อ รวมถึงการสอนให้ยอมรับพ่อรวมถึงตัวตนของตัวเองด้วย
นี่ต่างหากจึงเป็นความหมายของครอบครัวที่ไม่จำกัดแค่ชาวจีนแต่ทั่วโลกปรารถนา คอยสนับสนุน ผลักดัน เป็นที่พักพิงในวันที่อ่อนล้า ให้คำปรึกษาแนะนำ มอบความรักการเอาใจใส่ แม้มาอยู่เพียงสามวันแต่ความรู้สึกดีที่พี่น้องคู่นี้มีให้เถาโหลวแห่งนี้ อาจมากกว่าที่มีให้หรือได้รับจากพ่อมาตลอด 17 ปีเลยกระมัง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทั้งคู่จะหันมาสู้ตายเพื่อปกป้องบ้านเกิดและวิถีชีวิตในที่แห่งนี้ไว้
นอกจากเพื่อปกป้องบ้านที่พวกเขาเพิ่งค้นพบว่ามีอยู่ ยังเพื่อหยุดยั้งไม่ให้พ่อทำเรื่องผิดบาปไปมากกว่านี้ด้วย
--------------------
ที่มา:
- https://sites.google.com/a/elearning.cmu.ac.th/570110464_srisakoon/bth-thi-2-xe-kk-sar-laea-ngan-wicay-thi-keiywkhxng/prachya-laththi-khng-cux
- https://www.sanook.com/movie/116173/
- https://www.rottentomatoes.com/m/shang_chi_and_the_legend_of_the_ten_rings
- https://www.boxofficemojo.com/release/rl3490022913/
- https://www.silpa-mag.com/history/article_39355
- https://www.baanjomyut.com/library/ethics_kong_j/index.html