Did you know? การกินแมลงกำลังได้รับความนิยมจากทั่วโลก
การประกาศให้ตั๊กแตนเป็นอาหารชนิดใหม่ สามารถนำมารับประทานหรือวางขายในสหภาพยุโรปไม่ใช่ของใหม่ ก่อนหน้านี้เคยมีการประกาศให้หนอนนกสามารถนำมารับประทานได้ก่อนแล้ว แสดงให้เห็นถึงตลาดการบริโภคและผู้คนกำลังยอมรับให้แมลงเป็นอาหารอีกชนิดขึ้นมาทุกขณะ
สำหรับประเทศไทยการนำตั๊กแตนมาทำเป็นอาหารและวัตถุดิบสำหรับการปรุงไม่ใช่ของใหม่ หลายคนเติบโตมากับการบริโภคแมลงมาแต่วัยเยาว์รวมถึงชื่นชอบ ในขณะที่บางคนอาจขยะแขยงไม่คิดเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือลิ้มลอง แม้ผลการวิจัยมากมายออกมายืนยันถึงคุณค่าทางอาหารมากมาย
ล่าสุดตั๊นแตกกลายเป็นอาหารชนิดใหม่ที่ทาง สหภาพยุโรป(EU) ให้การรองรับว่าสามารถนำมารับประทานได้ ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกในการรองรับแมลงเข้ามาเป็นอาหารให้บริโภค ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สหภาพยุโรปก็รองรับหนอนนกให้เป็นอาหารที่สามารถกินได้อย่างปลอดภัย รวมถึงยังมีการพิจารณาแมลงกินได้เพิ่มเติมอีกชนิดอย่าง จิ้งหรีดขาว อีกด้วย
หลายคนอาจรู้สึกสงสัยไม่คุ้นเคยอยู่สักหน่อย แต่แท้จริงการกินแมลงอยู่คู่สังคมมนุษย์มายาวนานในหลายวัฒนธรรม ตั้งแต่กลุ่มเอเชียตะวันออกอย่าง จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ต่างมีเมนูจากแมลงรวมถึงความเชื่อว่ากินแล้วจะทำให้อายุยืนยาว(เป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการยืนยันทางวิทยาศาสตร์) เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศอาเซียนที่คุ้นเคยการกินแมลงเป็นอย่างดี
นอกจากภายในเอเชีย ในทวีปอเมริกาเอง เม็กซิโกเป็นอีกประเทศที่มีการนำตั๊กแตนชาปุลินมารับประทาน รวมถึงเหล้าเตกีล่าดองหนอนที่เป็นอีกสินค้าขึ้นชื่อ, ในทวีปแอฟริกามีการนำหนอนต้นเชีย ด้วงมะพร้าว ไปจนถึงปลวกมาทำเป็นอาหาร กระทั่งในตะวันออกกลางเองยังเคยมีการพูดถึงการบริโภคตั๊กแตนโลกัสต้าในคัมภีร์ไบเบิล พันธสัญญาเดิมอีกด้วย
ความนิยมในการรับประทานแมลงนอกจากกลุ่มคนดั้งเดิมที่บริโภคอาหารชนิดนี้อยู่แล้ว ยังเริ่มขยับขยายมาถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่บางส่วนทยอยให้ความสนใจ ข้อมูลจากสำนักส่งเสริมการค้าในต่างประเทศระบุว่า ในสหรัฐฯตลาดอาหารแมลงได้รับความนิยมและมีแนวโน้มขยายตัวนับแต่ปี 2558 เป็นต้นมา จนอาจขยายไปถึง 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเลยทีเดียว
โดยสาเหตุที่ทำให้อาหารประเภทแมลงได้รับความนิยมมีอยู่ 2 ข้อ
1. คุณค่าทางสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
อาจดูไม่น่ารับประทานนักแต่แมลงมีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก เมื่อเทียบกันเนื้อสัตว์ชนิดอื่นในปริมาณเท่ากัน อุดมไปด้วยสารอาหาร โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน และแคลเซียม แต่มีปริมาณไขมันน้อยกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ทำให้หลายคนมองว่าอาหารจากแมลงเหมาะสำหรับคนรักสุขภาพหรือผู้ควบคุมน้ำหนัก
2. ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมในขั้นตอนการผลิตและบริโภค
เมื่อเทียบกับการทำฟาร์มปศุสัตว์ชนิดอื่น การเพาะพันธุ์แมลงเพื่อการบริโภคถือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่า จากปริมาณของเสียที่ปล่อยออกมาน้อยกว่า การใช้งานพื้นที่และทรัพยากรในการดูแลต่ำกว่าสัตว์ทุกชนิด ลดอัตราการเกิดก๊าซเรือนกระจกลงได้มาก
นอกจากนั้นการบริโภคแมลงยังไม่มีส่วนเหลือทิ้ง เพราะเราสามารถรับประทานเข้าไปได้ทั้งหมด เทียบกับปศุสัตว์ชนิดอื่นอย่างวัวที่สามารถบริโภคได้เพียง 40% จึงถือเป็นการลดปริมาณขยะ และมีความคุ้มค่าในการผลิตมากกว่า นี่จึงเป็นอาหารที่เริ่มได้รับความนิยมในกลุ่มคนรักสิ่งแวดล้อมสนับสนุนความยั่งยืน
หลังได้ฟังคุณประโยชน์ของแมลงมามากมายหลายคนอาจเริ่มอยากทดลอง ว่าอาหารแห่งอนาคตชนิดนี้มีรสชาติแบบไหน แต่บางส่วนอาจยังรู้สึกขัดใจในรูปร่างหน้าตาไม่สวยงาม หรือติดความรู้สึกขยะแขยงสิ่งมีชีวิตชนิดนี้อยู่บ้าง จึงเริ่มมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่นำแมลงมาแปรรูปในรูปแบบต่างๆ เช่น
- แป้งจากแมลง ได้รับความนิยมมากในต่างประเทศ ทั้งสำหรับการนำไปปรุงอาหารหรือผงโปรตีนสำหรับนักกีฬา ไปจนถึงการนำไปทำเส้นพาสต้าเพื่อประกอบอาหาร
- โปรตีนบาร์จากแมลง แพร่หลายทั้งในฐานะอาหารเช้าและอาหารว่าง สำหรับผู้รักษาสุขภาพหรือออกกำลังกาย
- ขนมขบเคี้ยว ทั้งแบบแปรรูปที่เหลือรูปร่างของแมลงที่คุ้นตา และนำไปทำเป็นแครกเกอร์รวมถึงขนมทอดต่างๆ
- เครื่องดื่มจากแมลง ที่มีตั้งแต่รูปแบบของชาร้อนไว้สำหรับชง โดยได้รับอิทธิพลและความนิยมจากชาวจีน
จะเห็นได้ว่าตลาดการบริโภคแมลงในปัจจุบันกำลังขยายตัว ไม่ได้เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ หรืออาหารจากความจำเป็นอีกต่อไป น่าสนใจว่าในอนาคตการบริโภคแมลงจะแพร่หลายและกลายเป็นกระแสหลักได้หรือไม่ เมื่อทั่วโลกทยอยกันให้ความสนใจยอมรับอาหารชนิดนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
เช่นเดียวกับเราเองที่ในอนาคตอาจต้องปรับตัวเข้าหาอาหารที่มีแมลงเป็นส่วนประกอบด้วยเช่นกัน
--------------------
ที่มา