Did you know? ต้นกำเนิดคลองแสนแสบมาจากไหน? ทำไมมันจึงเน่าเสีย?
คลองแสนแสบกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง จากความพยายามในการบำบัดน้ำเสียและทุ่มงบประมาณมหาศาล แต่เราต่างรู้กันดีว่าแค่การเทเงินลงมานั้นไม่เพียงพอ อะไรคือสาเหตุความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในคลองแสนแสบ?
กลายเป็นประเด็นร้อนกันอีกครั้งเมื่อมีแนวคิดในการนำงบประมาณกว่า 8 .25 หมื่นล้านบาทมาพัฒนาคลองแสนแสบ กินระยะเวลาดำเนินโครงการยาวนานถึง 11 ปี สร้างความฉงนแก่ผู้คนว่าเหตุใดรัฐจึงทุ่มเม็ดเงินมหาศาลลงแก้ปัญหาส่วนนี้ ทั้งที่น่าจะมีปัญหาอื่นเร่งด่วนในการใช้งบประมาณกว่านั้นมาก
จุดกำเนิดคลองแสนแสบ เส้นทางที่ไม่ได้มีความสำคัญแค่ในหนังแต่มีค่าทางยุทธวิธี
การขุดคลองเส้นนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนยี่ขึ้น 4 ค่ำ หรือ 30 ธันวาคม 2380 ในรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดให้ขุดคลองจากตำบลหัวหมาก กรุงเทพมหานคร ถึงบ้านบางขนาก จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยโปรดเกล้าให้ พระยาศรีพิพัฒน์รันราชโกษา หรือ ทัต บุนนาค เป็นแม่กองดำเนินการ เพื่อใช้เป็นเส้นทางส่งยุทธปัจจัยในสงครามกับญวนแทน คลองสำโรง
เห็นได้ชัดว่าคลองเส้นนี้มีความเกี่ยวพันต่อยุคสมัยนั้นอย่างมาก ด้วยในสมัยรัชกาลที่ 3 เกิดสงครามครั้งใหญ่กับญวน หรือที่ทุกวันนี้เรารู้จักกันในชื่อ เวียดนาม โดยสงครามครั้งใหญ่นี้ถูกเรียกว่า อานัมสยามยุทธ จากความขัดแย้งและข้อพิพาทการขยายอำนาจบนแผ่นดินเขมรในขณะนั้น นำไปสู่สงครามใหญ่ที่กินเวลารวม 8 ปี
โดยตัวคลองแสนแสบที่ขุดในตอนนั้นมีความยาวอยู่ที่ 1,337 เส้น 19 วา 2 ศอก ใช้งบประมาณในการสร้างทั้งค่าขุดและค่าวัตถุดิบรวม 1,260 ชั่ง 13 ตำลึง 2 บาท สลึงเฟื้อง หรือประมาณ 95,534 บาท 1 สลึง ใช้ระยะเวลาอยู่ 3 ปีเศษจึงแล้วเสร็จในปี 2383 ที่เริ่มรบพุ่งกันอีกครั้งพอดี
ในส่วนระยะทางรวมของคลองเส้นนี้ยาวประมาณ 72 กิโลเมตร ถือเป็นคลองขุดที่มีความยาวที่สุดสายหนึ่งในประเทศ เชื่อมต่อจากคลองมหานาคแถบโบ๊เบ๊ไปทางทิศตะวันออก ไปจรดคลองบางขนากไหลลงสู่แม่น้ำบางปะกง โดยมีความยาวในพื้นที่กรุงเทพฯราว 45.5 กิโลเมตร และในพื้นที่ฉะเชิงเทราอีก 26.5 กิโลเมตร อีกทั้งยังมีการขุดคลองย่อยเพิ่มเพิ่มอีกนับ 100 สาย
ปัจจุบันคลองแสนแสบในพื้นที่กรุงเทพฯอยู่ในความดูแลของท้องถิ่นอย่าง กรุงเทพมหานคร ส่วนนอกเหนือจากนั้นอยู่ในความดูแลของ กรมชลประทาน กรมเจ้าท่ามีหน้าที่ดูแลเฉพาะในส่วนยานพาหนะที่สัญจรภายในคลองแสนแสบ ภายใต้พระราชบัญญัติเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456
ประโยชน์ของคลองแสนแสบ
ด้วยการพาดผ่านพื้นที่เขตเศรษฐกิจ บ้านเรือน ที่อยู่อาศัยของผู้คนอีกมากมาย ทำให้คลองแสนแสบสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ เช่น
- การระบายน้ำ นับเป็นคลองสายหลักในกรุงเทพฯที่มีไว้รองรับน้ำสำหรับการระบายน้ำ มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยใช้วิธีสูบน้ำจากท่อระบายน้ำลงคลอง เพื่อผลักดันมวลน้ำให้ไหลลงสู่ลำน้ำฝั่งตะวันออก เช่น แม่น้ำบางปะกง
- การคมนาคมขนส่ง เป็นหนึ่งในเส้นทางสัญจรทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อกรุงเทพฯชั้นในกับพื้นที่ทางตะวันตก ปัจจุบันเส้นทางเดินเรือของคลองแสนแสบครอบคลุมตั้งแต่ เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนิน - ท่าวัดศรีบุญเรือง เขตบางกะปิ
- การเป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร แต่ปัจจุบันการใช้งานในส่วนนี้ลดปริมาณลงมาก จากปัญหาความน่าเสียของน้ำในลำคลอง
ภาพจำของคลองแสนแสบในสายตาของคนในกรุงเทพฯ
สำหรับคนที่เติบโตมาภายในเมืองหลวง เราอาจคุ้นเคยสภาพความเน่าเสียของน้ำในคลองแสนแสบอยู่ทุกวัน บางคนอาจเข้าใจว่าชื่อ แสนแสบ นี้มาจากสภาพลำน้ำที่เห็นในปัจจุบัน แต่แท้จริงนี่เป็นชื่อเรียกที่มีมาแต่โบราณ แต่ถูกนำเสนอจาก 2 ข้อสันนิษฐานที่มีแนวคิดแตกต่างกัน
1. ตีความตามหลักฐานที่เคยมีการบันทึก
ส่วนนี้อ้างอิงจากสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่ราบลุ่มอุดมด้วยทุ่งหญ้า จึงน่าจะมีน้ำขังเจิ่งนองตลอดปี เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงชั้นดี รวมถึงมีนักสำรวจชาวอังกฤษเคยบันทึกไว้ว่า พื้นที่แถบนี้ค่อนข้างมียุงชุมสร้างความรำคาญให้แก่คนในพื้นที่เป็นอย่างมาก จึงเป็นไปได้ว่าแสนแสบจะหมายถึง ความเจ็บแสบจากการกัดของยุง
2. ตีความตามหลักภาษาศาสตร์
อ้างอิงจากความคิดเห็นของนักภาษาศาสตร์บางรายเห็นว่า ชื่อคลองแสนแสบอาจมาจากภาษามลายูว่า Su-ngai Senyap อ่านว่า สุไหง เซนแญป หมายถึง คลองเงียบสงบ ตรงกับลักษณะกระแสน้ำในคลองนี้ คาดว่าคนริเริ่มใช้คำนี้คือชาวไทรบุรี ก่อนเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาจากการใช้งานโดยคนในท้องที่
ในส่วนของคนอีกกลุ่มอาจคุ้นเคยกับชื่อคลองแสนแสบจากวรรณกรรมเรื่อง แผลเก่า เรื่องราวตำนานรักของขวัญ - เรียมที่มีฉากหลังเป็นคลองแสนแสบ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2479 ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากถึง 4 ครั้ง อีกทั้งยังถูกนำไปลงจอแก้วอีก 4 หน ได้รับรางวัลคับคั่งทั้งในไทยและต่างประเทศ กลายเป็นมรดกแห่งชาติอันแพร่หลายไปในที่สุด
ต้นตอน้ำเน่าเสียของคลองแสนแสบ ความมักง่ายไม่เอาใจใส่ของผู้คน
ปัญหาของคลองแสนแสบที่ขึ้นชื่อมากคือสภาพน้ำเสียสะสมยาวนาน แม้บางช่วงจะสามารถบรรเทาปัญหาแก้ไขเรื่องเหล่านี้ได้บ้างแต่เป็นแค่ชั่วคราว เกิดจากการระบายน้ำฝนลงสู่ลำน้ำเป็นจำนวนมากขับไล่น้ำเสียที่มีอยู่เดิมออกไป นั่นกลับไม่ใช่ทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เมื่อต้นตอแท้จริงมาจากริมน้ำสองข้างทาง
ด้วยความที่คลองแสนแสบครอบคลุมพื้นที่การใช้ชีวิตของผู้คนเป็นจำนวนมาก หลายบ้านเรือนพากันทิ้งขยะหรือน้ำเน่าเสียลงสู่ระบบโดยไม่มีการบำบัด กลายเป็นสาเหตุสำคัญทำให้น้ำในคลองแสนแสบเน่าเหม็น เต็มไปด้วยมลพิษ และอันตรายสำหรับการนำไปต่อยอดใช้งานเพิ่มเติม
ส่วนนี้เป็นปัญหาทั้งจากจิตสำนึกของผู้คนในท้องถิ่น ที่ไม่เคยสนใจว่าตัวเองก็เป็นส่วนหนึ่งในปัญหายึดคือความสะดวกสบายของตัวเองเป็นหลัก เมื่อมีการทิ้งน้ำเสียไร้การบำบัดลงจากบ้านเรือนหรือชุมชมปริมาณมหาศาลในทุกวัน ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่ทั่วทั้งลำน้ำจะกลายเป็นสีดำทมึนอย่างที่เราคุ้นตากันในปัจจุบัน
นอกจากผู้คนส่วนที่เป็นปัญหาไม่แพ้กันคือคลองย่อยจำนวนมาก หากคิดจะจัดการปัญหาการทิ้งขยะและน้ำเสียจริง ต้องควบคุมเส้นทางน้ำเหล่านี้ทุกสายซึ่งเกิดขึ้นได้ยาก รวมถึงระบบระบายน้ำเสียงลงคลองส่วนมากไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียรวมครอบคลุมจึงซ้ำร้ายปัญหานี้เข้าไปอีก
อีกทั้งคลองแสนแสบเองยังมีการใช้งานในฐานะเส้นทางคมนาคมและพื้นที่รองรับน้ำ มีการเชื่อมต่อระบบระบายน้ำรวมถึงประตูน้ำต่างๆ ซึ่งปิดกั้นเส้นทางน้ำตามธรรมชาติไปมาก เมื่อน้ำไม่ไหลไปตามระบบทำให้เกิดการหมักหมมจนส่งผลกระทบไปทั่วทั้งลำน้ำ ทำให้การแก้ปัญหาน้ำเสียอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องยากมากทีเดียว
แต่ที่ต้องยอมรับคือต้นตอของปัญหาแท้จริงคือชุมชนริมน้ำซึ่งก็คือตัวเรา ที่เริ่มนำเอาขยะ สิ่งสกปรก หรือน้ำเสียทั้งหลายเทลงสู่ผืนน้ำอย่างมักง่าย ไม่คิดแก้ไขจัดการให้เรียบร้อยจนกลายเป็นผลเสียส่งย้อนกลับมาถึงตัวเอง สร้างผลกระทบในระยะยาวทั้งกับผู้ใช้งานและคนในท้องที่ผู้อาศัยอยู่แถวนั้น
แม้จะมีความพยายามแก้ปัญหามายาวนานนับสิบปี ผ่านมือผู้นำ หน่วยงาน จนถึงผู้คนไปหลายยุค ทุ่มงบประมาณลงไปมากมาย หวังเปลี่ยนแปลงแก้ไขสภาพลำน้ำนี้ให้ดีขึ้นก็ดูเป็นตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ในเมื่อต้นตอของปัญหาอย่างชุมชนหรือผู้คนยังไม่ตระหนักถึงปัญหานี้ ไม่มีการคิดให้ความร่วมมือและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังก็คงไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ
เราคงได้แต่หมดหวังต้องทนใช้ชีวิตภายใต้ผืนน้ำสีดำทมึนของคลองแสนแสบเช่นนี้ไปตราบนานเท่านาน
---------------------
ที่มา