posttoday

สูญสลาย “ฮุงกา ตองกา-ฮุงกา ฮาอาปาย” หลังภูเขาไฟใต้น้ำปะทุเดือด

18 มกราคม 2565

ภูเขาไฟใต้ทะเลปะทุเดือด ส่งผลให้เกาะ “ฮุงกา ตองกา-ฮุงกา ฮาอาปาย (Hunga Tonga-Hunga Ha’apai)” ที่เปรียบเสมือนสวรรค์บนดินต้องสูญสลายหายไปแทบหมดสิ้น หรือนี่จะเป็นสิ่งที่ธรรมชาติเริ่มเรียกคืน?

          ถือได้ว่าเป็นข่าวใหญ่ที่ทำให้ระทึกไปทั่วโลกกับการปะทุของ “ภูเขาไฟตองกา” ใต้มหาสมุทรแปซิฟิก ที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเป็นการปะทุที่รุนแรงที่สุดของโลกในรอบ 30 ปี และความรุนแรงของการปะทุครั้งนี้ยังส่งผลให้เกิดกลุ่มควันเถ้าถ่านขนาดใหญ่ แก๊ส และไอน้ำลอยพวยพุ่งขึ้นสูงถึง 20 กิโลเมตร บวกกับแรงสั่นสะเทือนใต้น้ำที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ชายฝั่งของประเทศตามแนววงแหวนแห่งไฟ (Ring of fire) ต้องรีบอพยพหนีสึนามิกันอย่างจ้าละหวั่น 

 

          ภายใต้ภัยธรรมชาติใหญ่ในครั้งนี้ส่งผลให้เกาะ “ฮุงกา ตองกา-ฮุงกา ฮาอาปาย (Hunga Tonga-Hunga Ha’apai)” ที่เปรียบเสมือนสวรรค์บนดินต้องสูญสลายหายไปแทบหมดสิ้น หรือนี่จะเป็นสิ่งที่ธรรมชาติเริ่มเรียกคืน?
ความสวยงามของ ฮุงกา ตองกา-ฮุงกา ฮาอาปาย ก่อนเกิดภัยธรรมชาติ

เกิดได้ต้องดับได้ “ฮุงกา ตองกา-ฮุงกา ฮาอาปาย” สถานที่จากภัยธรรมชาติ
          “ฮุงกา ตองกา-ฮุงกา ฮาอาปาย  (Hunga Tonga-Hunga Ha’apai)” เกาะเล็กๆ กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ผุดขึ้นจากภัยธรรมชาติ ซึ่งใช้ระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ในการถือกำเนิดขึ้นมาได้จากการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเล

 

          ก่อนหน้านี้ในบริเวณดังกล่าวมีเกาะอยู่ 2 เกาะด้วยกัน คือเกาะ ฮุงกา ตองกา (Hunga Tonga) และ เกาะ ฮุงกา ฮาอาปาย (Hunga Ha’apai) จนกระทั่งเกิดการปะทุขึ้นของภูเขาไฟใต้ทะเล ในวันที่ 19 ธ.ค. 2014  และยังคงปะทุต่อเนื่องมาจนถึงช่วงต้น ม.ค. 2015 หลังจากนั้นไม่นานนัก การปะทุครั้งใหม่ก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน ราวๆ 1 สัปดาห์ เศษเถ้าถ่านต่างๆที่เคยแผ่พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าและเศษซากฝุ่นดินก็เริ่มร่วงหล่นมายังพื้นดินด้านล่าง จากนั้นน้ำทะเลก็ค่อยๆซัดบรรดาเศษผงต่างๆมากองรวมกัน จนก่อกำเนิดแผ่นดินเกิดใหม่ที่เชื่อมต่อเกาะ 2 เกาะ และกลายเป็นผืนแผ่นดินเดียวกันในที่สุด นักธรณีวิทยาได้ตั้งชื่อให้กับเกาะใหม่แห่งนี้จากการรวมชื่อของเกาะเดิมทั้งสองเป็น “ฮุงกา ตองกา-ฮุงกา ฮาอาปาย  (Hunga Tonga-Hunga Ha’apai)”

ภาพหลังจากสองเกาะถูกหลอมรวม

          ข่าวร้ายคือนักธรณีกลับคาดการณ์ว่าเกาะแห่งนี้อาจอยู่ไม่นาน เพราะหลังจากนี้อาจถูกกระแสน้ำพัดพาออกไปอีกครั้ง แต่หลังจากการลงพื้นที่สำรวจ กลับพบสิ่งที่ชวนอึ้งมากกว่าคือ เถ้าภูเขาไฟที่เกิดจากการปะทุในครั้งนี้เกิดทำปฏิกิริยากับน้ำทะเลอุ่นๆ โดยรอบ และทำให้เถ้าภูเขาไฟพวกนี้กลายเป็นหินที่มีความแข็งแรง และนักภูเขาไฟวิทยาเชื่อว่า เกาะฮุงกา ตองกา-ฮุงกา ฮาอาปาย นี้จะอยู่ไปอีกหลายทศวรรษ แทนที่จะถูกกัดเซาะเหมือนที่เคยคาดการณ์ไว้

 

          ซึ่งจากปรากฏการณ์แสนอัศจรรย์จากธรรมชาติในครั้งนี้จึงเกาะกำเนิดใหม่ “ฮุงกา ตองกา-ฮุงกา ฮาอาปาย” จึงเป็นเกาะที่เกิดจากภูเขาไฟแห่งที่ 3 ในรอบ 150 ปี ที่สามารถอยู่รอดได้มากกว่า 2-3 เดือน หลังจากการถือกำเนิด
 

การปะทุของภูเขาไฟใต้ทะเล

          ซึ่งสถานการณ์ล่าสุดจากประเทศตองกา ยังไม่มีใครหรือสื่อสำนักไหนสามารถเข้าไปเก็บภาพล่าสุดของเกาะ “ฮุงกา ตองกา-ฮุงกา ฮาอาปาย” ได้ มีเพียงแค่ภาพถ่ายที่จับได้จากดาวเทียมเท่านั้น และคาดกันว่าเกาะทั้งสองลูกที่เคยเชื่อมต่อกัน อาจมลายสลายหายไปแล้ว 

 

ทำไมภูเขาไฟใต้ทะเลถึงระเบิดได้?

          ภูเขาไฟใต้ทะเล (Submarine Volcano) แม้ว่าชื่อจะบอกว่าอยู่ใต้พื้นผิวทะเล แต่ก็ยังจัดเป็นภูเขาไฟอีกหนึ่งประเภท ที่ไม่ว่าจะปะทุเมื่อไหร่ก็สร้างความเสียหายใหญ่ได้ทุกครั้ง ซึ่งจากการประเมินพบว่าทั่วโลกมีภูเขาไฟใต้ทะเลมากกว่า 1 ล้านแห่ง และมักมีการกระจุกตัวอยู่ใกล้รอยเปลือกโลก ซึ่งหากเกิดการปะทุขึ้นแต่ละครั้งจะปล่อยควัน เถ้าถ่าน และลาวา ออกมาจำนวนมหาศาล

 

          นอกจากนี้มูลนิธิโลกเพื่อการสำรวจมหาสมุทรยังพบว่า ภูเขาไฟ 3 ใน 4 ของโลก มักเกิดใต้ทะเล และการปะทุแต่ละครั้งของภูเขาไฟใต้ทะเล นอกจากอาจก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ก็ยังสามารถก่อให้เกิดภูเขาใต้ทะเลได้เช่นกัน
พื้นที่รอบวงแหวนแห่งไฟ

 

ทำไมประเทศรอบวงแหวนแห่งไฟ ถึงเสี่ยงต่อสึนามิมากกว่าประเทศอื่น?
          วงแหวนแห่งไฟ (Ring of fire) หรือแนวเทือกเขารอบมหาสมุทรแปซิฟิก (Circum-Pacific Belt) เป็นแนวภูเขาไฟที่ยังคงคุกรุ่นใต้มหาสมุทร ซึ่งวงแหวนแห่งนี้มีความยาวกว่า 40,000 กิโลเมตร รอบมหาสมุทรแปซิฟิก และยังถือเป็นแหล่งที่ปรากฏการณ์แผ่นดินไหวบนโลก เกิดขึ้นบ่อยกว่าร้อยละ 90 

 

          จำนวนภูเขาไฟทั้งหมดรอบบริเวณนี้มีมากถึง 452 ลูก หรือราวๆ 75 เปอร์เซ็นต์ของภูเขาไฟทั้งหมดที่ปรากฏอยู่บนโลก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในมหาสมุทรและประเทศในทวีปต่าง ๆ รวมกันถึง 31 ประเทศ ทั้งโบลิเวีย บราซิล แคนาดา โคลัมเบีย ชิลี ฮอนดูรัส อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ฟิจิ และสหรัฐอเมริกา

 

          ด้วยความที่ภูเขาไฟในบริเวณนี้เป็นภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่น (Active Volcanoes) ซึ่งอาจปะทุได้อยู่ตลอด เพียงแค่คาดเดาไม่ได้ว่าเมื่อไหร่ และภูเขาไฟเหล่านี้ส่วนใหญ่มักอยู่ในโซนของประเทศรัสเซีย ญี่ปุ่น (ภูเขาไฟฟูจิ สาเหตุแผ่นดินไหวหลายครั้งในญี่ปุ่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน) ฟิลิปปินส์ (ภูเขาไฟพินาตูโบ ปะทุแรงที่สุดเป็นอันดับ 2 ในศตวรรษที่ 20 หลังการหลับไหลมายาวนานถึง 600 ปี) และอินโดนีเซีย(ภูเขาไฟแทมโบรา เคยปะทุแรงที่สุดในประวัติศาสตร์จนอุณหภูมิโลกลดลง 3 องศา) ไปจนถึงนิวซีแลนด์ (ภูเขาไฟลูอาเปทู มีการปะทุครั้งใหญ่เกิดขึ้นทุก ๆ 50 ปี) จึงทำให้บริเวณแถบนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดสึนามิมากกว่าประเทศอื่นๆ

 

          แม้ว่าธรรมชาติจะบันดาลสรรค์สร้างสถานที่ใหม่ๆและสวยงามให้เราได้เห็นและชวนอึ้งกันอยู่เสมอ แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อวันเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง สิ่งที่คงอยู่ก็ต้องดับไปเพียงแค่เราไม่อาจรู้ได้ว่าเมื่อไหร่ ธรรมชาติจะเรียกคืนด้วยความรุนแรงระดับไหน และความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจแลกมาด้วยชีวิตได้เช่นกัน

--------------------

อ้างอิง: