วิกฤตน้ำมันรั่วครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์: อุบัติเหตุจากความสะเพร่า สู่ภัยเรื้อรังทางธรรมชาติ
น้ำมันรั่วไม่ใช่ภัยธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องเล็กที่สามารถมองข้ามได้ แต่เป็นเรื่องที่เกิดจากความประมาทโดยฝีมือมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในระยะยาว ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะสร้างความตระหนักในเรื่องเขตอุตสาหกรรมที่รุกล้ำธรรมชาติว่ามีผลเสียขนาดไหน?
จากเหตุการณ์น้ำมันรั่ว 400,000 ลิตรที่มาบตาพุด สิ่งมีชีวิตเริ่มได้รับผลกระทบจากความประมาทของมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านๆมา ก็เคยมีเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลลงทะเลปริมาณมหาศาลเช่นกัน และผลกระทบที่ตามมานั้นยิ่งใหญ่และเรื้อรังเกินกว่าที่เราจะสามารถคาดการณ์ได้
สงครามอ่าวเปอร์เซีย อภิมหาน้ำมันรั่ว
เหตุเกิด ณ ประเทศคูเวต ในยุคของ “สงครามอ่าวเปอร์เซีย” ปี พ.ศ. 2534 ซึ่งชนวนอภิมหาน้ำมันรั่วครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ครั้งนี้มีที่มาจากทหารอิรักเริ่มถอนทัพออกจากประเทศคูเวต และต้องการขัดขวางกองทัพทหารอเมริกันไม่ให้โต้กลับได้เร็วจนเกินไป
ทหารอิรักจึงได้เปิดวาล์วบ่อน้ำมันและท่อส่งน้ำมันจำนวน 600 บ่อ เพื่อเผาน้ำมันให้เป็นเปลวเพลิงสกัดการโต้กลับของกองทัพอเมริกัน ส่งผลให้น้ำมันดิบขนาดมหึมารั่วไหลลงอ่าวเปอร์เซียมากถึง 240-336 ล้านแกลลอน หรือราว 1,000-1,500 ล้านลิตร
ปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลมีจำนวนมหาศาลครอบคลุมมากกว่าเกาะฮาวายทั้งเกาะ และใช้เวลานานกว่า 10 เดือนจึงจะสามารถดับไฟที่เผาไหม้โชดช่วงเหนือบ่อน้ำมันได้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์น้ำมันรั่วที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล
แท่นขุดเจาะน้ำมัน Deepwater Horizon ระเบิด ครั้งใหญ่สุดของโลก
แท่นขุดเจาะน้ำมัน “ดีพวอเทอร์ ฮอไรซอน (Deepwater Horizon)” โดยบริษัทบริติช ปริโตเลียม หรือที่เรียกย่อๆกันว่า “บีพี (BP)” แท่นขุดเจาะน้ำมันนี้ตั้งอยู่กลางอ่าวเม็กซิโก นอกชายฝั่งสหรัฐ ได้เกิดเหตุระเบิดในวันที่ ในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2553 ขณะที่คนงานกำลังขุดเจาะน้ำมันระดับความลึก 1,500 เมตร
โดยปมของการระเบิดในครั้งนี้เกิดขึ้นจากการขุดเจาะน้ำมันที่ดำเนินงานล่าช้ากว่ากำหนดไว้ถึง 5 เดือน ซึ่งแต่ละวินาทีที่เลื่อนออกไปย่อมหมายถึงต้นทุนที่สะสมพอกพูนสูงขึ้นเรื่อยๆ และในขณะเดียวกันราคาน้ำมันโลกในขณะนั้นที่กำลังฟื้นตัว บีพี (BP) จึงเร่งกดดันการดำเนินงานขุดเจาะอย่างเต็มที่ จนมองข้ามความปลอดภัยไปหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น สัญญาณรอยรั่วในหลุม, ปัญหาแรงดันอากาศสูง และ อุปกรณ์ขาดการบำรุงรักษา
จนกระทั่งก๊าซธรรมชาติที่ปะปนอยู่ถูกแรงดันผลักขึ้นมาด้านบนแท่นและทำปฏิกิริยากับอากาศ ส่งผลให้เกิดการระเบิดขึ้นอย่างรุนแรง น้ำมันดิบทะลักออกมาสู่ท้องทะเลกว่า 60,000 บาร์เรลต่อวัน และไหลทะลักอยู่อย่างนั้นเนิ่นนานถึง 87 วัน ท้ายที่สุดน้ำมันทั้งหมดที่รั่วไหลสู่ทะเลมีปริมาณมากถึง 4,900,000 บาร์เรล คร่าชีวิตสัตว์น้ำไปจำนวนกว่าครึ่งแสนชีวิต
เหตุการณ์ระเบิดในครั้งนี้ สร้างความระทึกและเป็นที่โจษจันต่อสายตาชาวโลกเป็นอย่างมาก จนถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จากฝั่งฮอลลีวู้ด นำแสดงโดย มาร์ค วอห์ลเบิร์ก (Mark Wahlberg) ที่จะพาผู้ชมเข้าไปสัมผัสกับเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นบนแท่นขุดเจาะน้ำมันอันแสนโหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์
การระเบิดของบ่อน้ำมันอิท็อค-วัน (Ixtoc-1)
ย้อนกลับไปในปีพ.ศ. 2522 วันที่ 3 มิถุนายน บริเวณอ่าวแคมเปเช (Campeche) ประเทศเม็กซิโก บริษัทน้ำมันของรัฐบาลเม็กซิโก ผู้ซึ่งครอบครองบ่อน้ำมันอิท็อค-วัน (Ixtoc-1 Oil Well) ได้เกิดการระเบิดครั้งใหญ่ขึ้น หลังจากขุดเจาะน้ำมันได้ลึกเพียง 3 กิโลเมตรเท่านั้น
คาดกันว่าภายในบ่อได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการอัดแรงดันของน้ำโคลน เมื่อบริษัทตัดสินใจแก้ไขปัญหาด้วยการดึงท่อน้ำมันออก ก๊าซและควันจำนวนมากจึงเกิดพุ่งทะลักตามขึ้นมาด้วย
รวมถึงปริมาณน้ำมันดิบมหาศาลถึง 520 ล้านลิตร ที่ไหลออกมาอย่างไม่ขาดสายกินระยะเวลา 10 เดือน กว่าจะอุดรูรั่วดังกล่าวได้สำเร็จ เหตุการณ์นี้ส่งผลให้อ่าวเม็กซิโกถูกเคลือบไปด้วยคราบน้ำมัน ความเสียหายเกิดเป็นมูลค่าสูงถึง 283.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ค่าความเสียหายดังกล่าวไม่สามารถเทียบได้กับระบบนิเวศน์และชีวิตสัตว์น้ำที่สูญเสียไป
เรือบรรทุกน้ำมันแอตแลนติก เอ็มเพรส ชนประสานงา
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ถูกจารึกว่าเป็นวิกฤตน้ำมันรั่วลงทะเลครั้งใหญ่ เกิดขึ้นในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2522 นอกชายฝั่งรัฐตรินิแดดและโตเบโก เมื่อเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ “แอตแลนติก เอ็มเพรส (Atlantic Empress)” เกิดชนประสานงาเข้าอย่างจังกับเรือเอเจียน กัปตัน (Aegean Captain)
เหตุเนื่องจากทัศนวิสัยในวันนั้นถูกบดบังไปด้วยฝนฟ้าคะนองจากพายุขนาดใหญ่ เรือทั้งสองที่กำลังแล่นสวนกันจึงไม่สามารถมองเห็นได้ว่าอีกฝ่ายกำลังมุ่งตรงเข้ามา การประสานงาเข้าอย่างจังก่อให้เกิดการระเบิดและเปลวไฟลุกโหมกระหน่ำ
แม้เรือเอเจียนจะสามารถดับไฟได้ในวันต่อมา แต่เปลวไฟบนเรือแอตแลนติก เอ็มเพรสยังโหมกระหน่ำอยู่แบบนั้นกว่า 1 สัปดาห์ ก่อนเกิดการระเบิดใหญ่ขึ้นอีกครั้งและจมดิ่งลงสู่ท้องทะเล ซึ่งจากการประเมินพบว่า ปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลลงสู่ท้องทะเลในเหตุการณ์นี้มีปริมาณมหาศาลกว่า 3 ล้านบาร์เรล มูลค่าความเสียหายกว่า 187 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และลูกเรือของเรือแอตแลนติก เอ็มเพรสสูญหายไปกว่า 26 คน
วิกฤตน้ำมันรั่ว ผลกระทบระยะยาวที่ส่งผลต่อระบบนิเวศน์
ในไทยเราเองก็มีเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลลงทะเลเกิดขึ้นบ่อยครั้งเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่ว่าสาเหตุจะมาจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรืออุบัติเหตุ การที่น้ำมันดิบปริมาณมหาศาลไหลลงสู่ทะเลย่อมส่งผลร้ายต่อธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตเป็นวงกว้าง ปลาต่างๆจะเจริญเติบโตได้น้อยลง ระบบภายในร่างกายไม่ปกติ นกตามชายฝั่งหรือบริเวณใกล้เคียงที่หาอาหารก็จะได้รับสารปนเปื้อนเข้าไปด้วย
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น นาก หรือ พะยูน อาจตายได้จากภาวะอุณหภูมิต่ำกว่าปกติ โลมาและวาฬที่ต้องหายใจติดน้ำมันเข้าไปด้วย อาจส่งผลกระทบต่อปอด ภูมิคุ้มกัน และระบบสืบพันธุ์
นอกจากนี้คราบน้ำมันที่รั่วไหลยังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ชาวประมงไม่สามารถออกเรือได้ ทัศนียภาพบริเวณชายฝั่งไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแถมยังเคล้าไปด้วยกลิ่นเหม็น
ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่เราควรใส่ใจและตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น หน่วยงานใดๆหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้านการจัดการและแก้ไขปัญหาควรออกกฎหมายเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และมีบทลงโทษที่เข้มงวด เพราะหากเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต สุขภาพและระบบนิเวศน์ของไทยคงมีอันต้องสูญสลายก่อนเวลาอันสมควร
--------------------
อ้างอิง: